บุญข้าวจี่ นาทีทองหนุ่มสาว

ได้เขียนถึงฮีตสิบสองมาหลายครั้ง เขียนย่อยๆแต่ละฮีตมาก็มาก แต่บุญข้าวจี่ซึ่งเป็นฮีตที่ ๓ ยังไม่เคยเขียนถึงเลย

ออกจะผิดกาลเทศะไปบ้าง เพราะว่ามาพูดถึงฮีตที่ ๓ ในเดือน ๗ แต่ฮีตที่ ๗ คือ บุญซำฮำบำเบิกนี้เคยพูดถึงแล้วอย่างน้อยก็ ๑ ครั้ง ผู้อ่านประจำต้องผ่านตากันมาแล้วแน่ ๆ

เอาเป็นว่ามาสวมวิญญาณ “คนแก่” คุยกันถึงเรื่องเมื่อวานกันเถิดถ้าทำได้อย่างนี้ก็จะสบายใจดี

คำว่า “จี่” เป็นคำไทยอีสานแสดงกิริยาและการกระทำ ตรงกับคำไทยภาคกลางว่า “ปิ้ง” หรือ “เผา”

ข้าวจี่ จึงหมายถึงข้าวปิ้งหรือข้าวเผา และข้าวที่จะเอาไปจี่ต้องเป็นข้าวเหนียวเพียงอย่างเดียว โดยนึ่งให้สุกเสียก่อน แล้วเอามาปั้นเป็นก้อนกลมๆ แบนๆปิ้งไฟ จะโรยเกลือเอารสเค็มบ้างก็ได้ จะชุบไข่บ้างก็ได้หรือจะโรยน้ำตาล ชุบน้ำผึ้งก็ได้ทั้งนั้น

บุญข้าวจี่ จึงหมายถึงการทำบุญด้วยข้าวจี่ และเมื่อมาเป็นฮีตประเพณีก็พอจะบอกได้ว่า นี่คือมหกรรมถวายทานด้วยข้าวจี่ เอาข้าวจี่มารวมกันถวายพระที่วัดพร้อม ๆ กัน

วันนั้นพระก็ฉันข้าวจี่กันทั้งวัด เพลินไป

เห็นจะเป็นเพราะบุญข้าวจี่ กระทำกันในวันเพ็ญเดือน ๓ คือเดือนกุมภาพันธ์ จึงเรียกกันอีกอย่างว่า บุญเดือน ๓

“เดือนสามคล้อยเจ้าหัว คอยปั้นข้าวจี่ เดือนสี่คล้อย จัวน้อยเทศน์มะที”
คำกล่าวนี้ คอยย้ำเตือนคนขี้ลืมทุกปี

มูลเหตุ ของการทำบุญข้าวจี่มีอยู่ในพระธรรมบท อันเป็นความเชื่อถือทางพุทธศาสนาโดยตรงและเล่ากันมาอย่างนี้

นางปุณณทาสีของเศรษฐีคนหนึ่งในกรุงราชคฤห์ ได้นำรำอ่อน ๆ มาคลุกกับน้ำมันเป็นก้อนแล้วปิ้งไฟไว้หมายจะกินประทังความหิว เวลาเช้าขณะที่กำลังไปตักน้ำได้พบพระพุทธเจ้าและพระอานนท์เถระเสด็จตาม นางบังเกิดศรัทธาแรงกล้าถวายทานด้วยรำข้าวปิ้งไฟนั้น ภายหลังนางปุณณทาสีบรรลุมรรคผลสูงสุดในการถวายทาน เมื่อตายได้ไปเกิดเป็นเทพธิดาในชั้นดาวดึงส์ มีนางฟ้าเป็นบริวารมากมาย

ด้วยเหตุดังนี้ชาวอีสาน จึงถือเอาการทำบุญด้วยข้าวจี่ โดยมุ่งหวังมรรคผลนิพพาน ด้วยการถวายทานเช่นนางปุณณทาสีได้เคยทำเอาไว้

ในภาคอีสานส่วนมากนิยมทำบุญข้าวจี่กันในวันมาฆบูชา คนทั้งหมู่บ้าน ไม่ว่าหนุ่มสาว เฒ่าแก่ จะไปเวียนเทียนที่วัดประจำหมู่บ้านด้วยกัน

ช่วงนี้จะ เป็นเวลา ของหนุ่มสาวเท่านั้น

คือจะเกี้ยวพาราสีฝากรักอย่างไรก็ฉวยโอกาสนี้ได้

ดังนั้นจึงมักจะเห็นได้เสมอว่า พอเสร็จกิจศาสนาคือเวียนเทียนแล้ว ไอ้หนุ่มจะตามอีสาวไปที่บ้าน แล้วช่วยอีสาวจี่ข้าวจนรุ่งแจ้งเพื่อใส่บาตร หรือถวายทานที่วัด พ่อแม่ฝ่ายสาวไม่ว่า เพราะเป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันมาช้านาน จะคุยกันจนรุ่งแจ้งแสงทองยังไงก็ได้ไม่ขัดไม่ข้อง

แต่ห้ามไฟดับ

ไฟดับเมื่อไหร่ ได้ปรับไหมกันเมื่อนั้น

ในบางคุ้ม บางหมู่บ้าน จะนัดกันมารวมกันที่ไหนสักแห่ง อาจเป็นลานบ้านหรือลานวัด แล้วจี่ข้าวพร้อม ๆ กันไป เหมือนลงข่วงเข็นฝ้าย

ใครถนัดแคน เป็นหมอแคน ใครถนัดพิณ เอาพิณมา ถนัดลำเป็นหมอลำ เล่นร้องลำเป็นหมอลำ เล่นร้องลำกล่อมกันไปเป็นที่สนุกสนานทั่วกัน

ผญา ก็มีอันได้ว่า ได้เว้ากันเวลานี้

“นางเอ้ย อุปมาตัวอ้ายก็เหมือนไซหลังหล่า บ่หมานปลานำเผิ่น ยามฝนก็ถืกแต่น้ำ ยามแล้งก็ถืกแต่ลม”
“ย่านแต่เป็นจั่งหว้า สีชมพูจั่งหว่า ย่านคือตอกมัดกล้าดำนาแล้วเหยียบทิ่งใส่ตม”

หนุ่มสาวหลายคู่ ก็สร้างวงศ์วานว่านเครือของตนเป็นครอบครัวแสนสุขในภายหลังด้วยงานจี่ข้าวก็เยอะแยะ

วันหน้าเหมาะๆ จะฟุ้งให้ฟัง

ฟุ้งเรื่องธรรมเนียมหนุ่มเกี้ยวสาวประการเดียว

เรียกว่าฟุ้งแบบเฉพาะกิจ

ที่คุยกันมานิดหน่อยมั่งยังงี้ นึกว่าลองยาตัวอย่างก็แล้วกัน

เสร็จขั้นตอนจี่ข้าวตอนกลางคืนแล้ว ถ้าใครอยู่ร่วมงานด้วยจะปลื้มใจและเป็นสุขอย่างบอกไม่ถูก

เช้ามืด หนุ่มสาวทั้งหลายแต่งองค์ทรงเครื่องสวยงามรวมทั้งคนเฒ่าคนแก่ ถือถาดข้าวจี่เตรียมใส่บาตรกันทั้งหมู่บ้าน

สีสันหลากหลายไสวไปทั่ว

ยิ่งมีแดดอ่อนเหมือนผ้าต่วนชั้นดีคลี่คลุมลงมา ยิ่งงามอย่างเหลือจะกล่าวได้ไหว

พอพระสงฆ์ตั้งแถวเดินมา
“สุโข บุญญสุส อจุจโย”
การสั่งสมบุญ ย่อมนำสุขมาให้

เสร็จสิ้นจากวันนี้ไป หลายคนอาจนึกถึงอย่างเป็นสุข และอีกหลายคนกำลังเร่งวัน เร่งคืน ให้วันนั้นกลับมาใหม่

นั่นเป็นเรื่องของหนุ่มเหน้าสาวสวยที่จบอย่างเป็นสุข และก็จบแบบไม่สุข

สรุปแล้วใครจะพบเนื้อคู่ หรือพลัดเนื้อคู่อย่างไรก็แล้วแต่วาสนา

ทว่าคนแก่เฒ่า แห่งหมู่บ้านยังคงทำหน้าที่อนุรักษ์ บุญข้าวจี่ต่อไป และคนมีวาสนาหรือไม่มีวาสนา จะเป็นรุ่นใหม่ผู้สืบทอดต่อมา

ช่วยกันรักษาฮีตประเพณีนี้ไว้เถิดอย่าให้กลายเป็นเพียงอดีต ในวันหนึ่งซึ่งพอว่างๆก็มาทบทวนถึงเลย

ที่พูดเช่นนี้เพราะว่าหลายๆ ฮีตประเพณีได้มีอันเสื่อมลงบ้างแล้ว

บางแห่งเคยปฏิบัติมาก่อน แต่ปัจจุบันไม่มี ที่ยังเหลือปฏิบัติอยู่มั่งก็แต่คนแก่ ๆ

หนุ่ม ๆ สาว ๆ เซย์กู๊ดบายแล้ว

นี่ก็เซย์ยู่ เซย์มี ทั่วกันเอาไว้ ไหนๆจะสวมวิญญาณคนแก่แล้ว ต้อง “บ่น” ให้สมบทหน่อย

——————————————————————————–
บุญข้าวจี่ นาทีทองหนุ่มสาว
เขียนโดย ยสธสาร
นามปากกาของอำพล เจนใช้สำหรับเขียนคอลัมน์ “อีสานสนุก”
ระหว่างปี 2525 – 2533
งานเขียนของคุณอาอำพล เจน  … จากหนังสือแปลก ฉบับที่ 537
วันที่ 10 มิถุนายน  2529
——————————————————————————–
แชร์ :

ความคิดเห็น

** โปรดแสดงความคิดเห็นอย่างมีวิจารณญาน