แด่คนรักป่าด้วยความหวัง

แด่คนรักป่าด้วยความหวัง

ผมทิ้งท้ายอย่างไร้ความหวังไว้ใน “แด่คนรักป่าด้วยดวงใจเศร้า” ฉบับ ๕๗๗ ว่า
“อยากถามสวรรค์ จะมีผู้ใดไหมลงมาพิทักษ์ป่าเอาไว้”

ไม่มีคำตอบจากสวรรค์

ผมเขียนเรื่องนี้เมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ (เขียนล่วงหน้าด้วยเหตุผลของการส่งต้นฉบับ) ก่อนข่าวระงับสัมปทานป่าไม้ในท้องที่อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอนจะตูมตามขึ้นมา

สงสัยว่า พล.อ. หาญ ลีนานนท์ คือคนที่สวรรค์ส่งมาหรือเปล่า

ถ้าใช่ ! ขออธิษฐานต่อไปสวรรค์อย่าส่งลงมาชั่วคราวเลย

ป่าไม้ของไทยกำลังอยากได้ความรักจากคนกล้า เพราะว่าความรักจากปากพล่อย ๆ ที่มือซ่อนเลื่อยซ่อนขวานนั้นยังน่ากลัวไม่หาย

มันเป็นฝันร้าย ที่ฝันได้ทั้งหลับและตื่น อันคอยผลักไสให้สะดุ้งไหวทุกครั้งที่มีเสียงไม้ล้ม

ขอสรรเสริญ, ส่งกำลังใจ และสนับสนุน พล.อ. หาญ ผู้กำลังสร้างฝันดีในขณะนี้อย่างหมดใจ

ความจริงแห่งคุณสมบัติของป่าไม้ แทบไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงคุณค่าอันมหาศาลของมันอีก เราเรียนรู้คุณประโยชน์ของต้นไม้ตั้งแต่ยังอยู่ชั้นประถม และรู้ละเอียดถี่ถ้วนยิ่งขึ้นในมหาวิทยาลัย

แต่แปลกไหมบางคนกลับลืมมันไปได้อย่างเลือดเย็น ถ้าไม่มีวันที่มนุษย์จะฟื้นความจำที่แสนดีนี้ขึ้นมาได้ ความบรรลัยวายวอดก็ไม่มีวันสิ้นสุด

หลายคนมีอุดมคติในขณะเรียนรู้การพิทักษ์ป่าไม้ในสถาบัน

เมื่อวันนั้นวันที่จบออกมา ก็อาจเป็นวันที่ประกาศนียบัตรถูกฉีกทิ้งและโยนลงถังขยะตรงหน้าสถาบันพร้อมกับอุดมคติ อันงดงามทรงค่า

แต่อีกหลายคนบางทีไม่เป็นเช่นนั้น พวกเขาทำงานตามหน้าที่และด้วยแรงดลบันดาลจากอุดมคติ ที่เหลือติดใจออกมาจากห้องเรียน

พวกเขาพากเพียรพิทักษ์ป่าตามหลักวิชา และด้วยกำลังอันน้อยนิดอย่างเงียบเชียบ ประหนึ่งหิ่งห้อยในราตรี

มันยังเป็นความดีที่ค้นพบได้อย่างแสนเข็ญ

ผมพบบุรุษผู้มีรอยยิ้มแจ่มใสและไมตรีจิต ท่ามกลางความกันดารของป่าไม้บนเขาสูงอย่างยากเย็น ในที่ทำการฯ ซึ่งก็คือกระต๊อบหลังเล็ก ๆ แห่งสวนป่าตามโครงการพระราชดำริปางอุ๋ง แม่ฮ่องสอน

ผู้ยอมสารภาพกับผมอย่างจริงใจว่าแสนเหงา

แต่ผลงานที่เขากำลังทำบอกให้รู้ว่าเหงาแล้วมีประโยชน์อย่างนี้ ก็สมควรเหงาต่อไปเถิด

กล้าไม้สนสามใบที่เขาเพาะและขยายพันธุ์สำหรับปลูกทดแทนในบริเวณป่าที่ถูก โค่นจนเตียน ละแวกนั้น จะสามารถปลูกได้ในพื้นที่งวดแรก ไม่น้อยกว่า ๑ พันไร่ มันเขียวขจีด้วยใบอ่อนในถุง พลาสติดเรียงรายเป็นพืด พื้นพรมในเรือนเพาะชำหน้าที่ทำการ คือความพยายามที่จะสร้างป่าของคนคนหนึ่ง แม้ว่านั่นคือหน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมายมาก็ตาม แต่เขาก็ทำมันอย่างจริงจังและตั้งใจ

 


ปางอุ๋ง เป็นโครงการตามพระราชดำริ ที่เพิ่งริเริ่มไม่เกิน ๓ ปี ขึ้นตรงกับโครงการ พัฒนาพื้นที่สูงตามพระราชดำริปางตอง ซึ่งมีเป้าหมายประการหนึ่งคือ ปลูกป่าทดแทนพื้นที่ป่าหมดสภาพแถบนั้น

สามารถเห็นได้ว่าพื้นที่แถบปางอุ๋งมีสภาพเป็นเขาหัวโกร๋นมากมาย ชาวบ้านป่าซึ่งส่วนมากคือชาวไทยใหญ่ ชาวเขาเผ่าแม้ว และกะเหรี่ยง (ยาง) ที่อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ที่นี่ ต่างบอกว่า ป่าเหล่านี้เตียนอยู่เนิ่นนานก่อนการมาถึงของพวกเขาไม่รู้เมื่อไหร่

ข้อเท็จจริงของป่าเตียนที่นี่มีด้วยเหตุผลเดียวกันกับป่าไม้ทั่วไปตลอดภาค เหนือนั่นคือ การทำไร่เลื่อนลอยซึ่งเป็นภัยอันน่ากลัวสุดขีดของป่าไม้

อาจมีข้อสงสัยว่า ปัญหาป่าไม้ถูกทำลายอย่างน่ากลัวคือ การทำไร่เลื่อนลอยจริงหรือ ? มีคำอธิบายจากบุรุษผู้ยิ้มได้ในความกันดารว่า

การทำไร่เลื่อนลอย คือ ภัยอันน่าพรั่นพรึงของป่าไม้อย่างแน่นอน เพราะว่าไม้ใหญ่น้อยทุกชนิด จะถูกโค่นเตียนในพื้นที่ทำไร่ ที่พวกเขาต้องการ ไม่มีไม้ชนิดใดถูกเลือกหรืองดเว้น และเมื่อดินไร่เสื่อมสภาพลง ป่าถัดไปจะถูกโค่นเตียนออกไปอีกไม่มีที่สิ้นสุด

ตรงกันข้ามกับการสัมปทานป่าไม้ โดยหลักวิชาการแล้วไม่มีปัญหามีการกำหนดแน่ชัดว่าไม้ต้องโตพอจะใช้งานได้ หรือไม้ที่คดงอเป็นโรค ซึ่งตามหลักการแล้วคือการสางป่าเพื่อบำรุงสภาพป่าให้ดีขึ้น

ก่อนการตัดไม้ในพื้นที่สัมปทานเจ้าหน้าที่จะเข้าไปสำรวจตีตราไม้แต่ละต้นที่เห็นสมควรให้ตัดได้ แล้วขึ้นบัญชีไว้

ผู้สัมปทานจึงสามารถเข้าไปตัดและมีสิทธิ์เฉพาะไม้ที่ตีตราอนุญาตตามบัญชีเท่านั้น

ด้วยหลักการนี้ในพื้นที่ป่า ๑ ไร่ อาจมีไม้ที่อนุญาตให้ตัดได้เพียง ๒-๓ ต้น

ในปางพักไม้ของผู้ได้รับสัมปทาน เราเคยพบไม้ต้นโต ๆ กองพะเนินอยู่มากมาย อาจทำความเข้าใจได้ว่ามันถูกตัดมาจากพื้นที่นับแสนไร่กว่าจะได้มามากเพียง นั้น

และโดยหลักวิชาการ ซึ่งบัดนี้ยังเป็นกฎหมายบังคับไว้ว่า ห้ามมิให้ตัดไม้บนแนวสันเขาส่วนสูงที่สุดเพื่อคงเอาไว้เป็นเชื้อป่า และห้ามตัดไม้ริม ๒ ฝั่งลำธารในแนวประมาณไม่ต่ำกว่า ๒๐ เมตร

จึงบอกได้ว่าการสัมปทานป่าไม้ไม่มีปัญหาต่อป่าไม้ ตรงกันข้ามกับการทำไร่เลื่อนลอย ซึ่งไม่สามารถบอกได้ว่า ป่าลับหูลับตาแห่งไหนอีกจะเตียนต่อไป

แต่ปัญหาการทำลายป่าอย่างผิดกฎหมายของผู้ได้รับสัมปทานก็มีขึ้นได้หลาย ๆ วิธี ที่น่าสนใจที่สุดคือ ผู้สัมปทานไปตัดไม้นอกบัญชีมาสวมแทนไม้ซึ่งตีตราอนุญาตไว้แทนที่จะตัดไม้ คดงอเป็นโรค กลับไปตัดไม้เกรดเอแทน

บางทีอาจตัดไม้พื้นที่สัมปทานหรือ อาจบุกรุกเข้าไปตัดในพื้นที่นอกเขตสัมปทาน

บัญชีไม้คดงอเป็นโรคที่อนุญาตให้ตัดมีจำนวน ๑ พันต้น ผู้สัมปทานก็ไปตัดไม้ชั้นหนึ่ง ที่ไม่ได้ตรีตราอนุญาต ๑ พันต้น ตรงตามจำนวนในบัญชีเหมือนกัน

การทำผิดเช่นนี้จะสำเร็จผลได้ก็ด้วยการสมยอมทั้ง ๒ ฝ่าย ระหว่างเจ้าหน้าที่และผู้สัมปทาน

ปัญหานี้ยิ่งน่ากลัว เพราะมันอยู่นอกหลักวิชาการ ที่มีผลประโยขน์มหาศาลเป็นแรงส่ง ให้การทำลายป่าอย่างถูกกฎหมายมีขึ้นเรื่อย ๆ

ทว่าผลร้ายของมัน ก็ปรากฎได้เท่า ๆ กันทั้งสัมปทานและไร่เลื่อนลอย

ป่าจะต้องถูกทำลายจนเตียนลงอย่างไม่ต้องสงสัย
ปางอุ๋งในปัจจุบัน ไม่มีไม้มีค่าพอจะถูกลอบทำลายได้อีกแล้ว
มันเป็นพื้นที่จะต้องเยียวยารักษาอย่างแท้จริง ๆ

ชิน สมเจริญ นักวิชาการป่าไม้ระดับ ๔ กำลังลำเลียงกล้าไม้สนสามใบไปเยียวยาพื้นที่เหล่านั้น ตามลำพังท่ามกลางความทุรกันดาร

ซึ่งรวมถึงการติดต่อกับโลกภายนอกและอาหารยังชีพ ทั้งยังต้องใช้เวลาสำหรับการดูแลรักษากล้าสนสามใบจนกว่ามันจะเอาตัวรอดได้ เองนานถึง ๕ ปี

คนหนึ่งตัด คนหนึ่งปลูก

ดูเป็นความหดหู่ที่บอกไม่ถูกจริง ๆ

ผมไม่ทราบว่าระหว่างเวลาสั้นๆที่คุยกันบนปางอุ๋ง เขาหันด้านดีที่สุดของเขาให้ผมดู โดยซ่อนด้านที่แย่ไว้หรือไม่

ผมหวังในสิ่งที่ได้เห็นอย่างสุขใจ และหวังต่อไปว่าด้านที่ดีที่สุดนี้ จะอยู่กับเขาตลอดไปไม่ว่าจะถูกย้ายไปลงที่ป่าเสื่อมสภาพไหน ๆ

กาลเวลาจะบอกว่า เขาคือหิ่งห้อยในราตรีหรือเปล่า

 

———————————————————————–
งานเขียนของคุณอาอำพล เจน  … จากหนังสือแปลก ฉบับที่ 580
วันที่ 7  เมษายน 2530
————————————————————————


แชร์ :

ความคิดเห็น

** โปรดแสดงความคิดเห็นอย่างมีวิจารณญาน