จีบกันด้วยเพลง

ใครต่อใครพอเริ่มจะมีความรักความใคร่ มักจะมีเพลงเข้ามาเกี่ยวข้อง
จีบกันด้วยเพลง หรือเอาเพลงมาปรุงแต่งอารมณ์รัก
สำเร็จหรือไม่สำเร็จก็จีบดูก่อน

เพลงเป็นศิลปวัฒนธรรมประการหนึ่ง แสดงให้เห็นรสนิยม, ความคิดเห็น, อารมณ์, จินตนาการ, บรรยายกาศ ตลอดจนเชื้อชาติของเจ้าของเพลงได้เป็นอย่างดี

อย่างเช่นคนตาบอดแต่งเพลง “เห็นลมละเมอเพ้อหวาดผวา” ก็เป็นจินตนาการและความคิดเห็นของคนแต่งไป

เพลงฝรั่ง, แขก, จีน, ญี่ปุ่น, ไทย, เขมร, ญวณ, หรือ ฯลฯ ก็ล้วนแต่มีลักษณะเฉพาะตัว สามารถจะสัมผัสได้ไม่ยาก

เพลงของชาวอีสานก็แสดงลักษณะที่คุณสัมผัสได้ว่าเป็นเพลงจากแผ่นดินอีสาน

ต่อไปนี้จะเล่าเรื่องดนตรีและเพลงประกอบการละเล่นของชาวอีสานเท่าที่จะนึกได้

เริ่มต้นที่หมอลำก่อน

ลำ – เป็นการขับร้อง เนื้อร้อง เรียกว่า กลอนลำ มีข้อความคล้องจองสัมผัสกัน ทำนองของเพลงร้องมักเรียกได้หลายอย่างตามประเภทของลำเช่น ลำกลอน, ลำเพลิน, ลำทางสั้น, ลำทางยาว, ลำล่อง, ลำเต้ย

เต้ยสาวจันทร์กั้งโกบ ของพรศักดิ์ ส่องแสง ก็คือ ลำเต้ย

หมอลำ – ก็คือนักร้องว่างั้นเถอะ ในภาคอีสานใครเก่งอะไรที่เด่นชัดสักอย่างหนึ่งก็จะเรียกว่าหมอ เช่นเก่งทางยารักษาโรคก็เรียกหมอยา, เก่งทางลำก็เรียกว่า หมอลำ

เรื่องลำ – หมอลำ เคยเขียนไปอย่างค่อนข้างละเอียดไปแล้ว ก็จะขอผ่านไป

มาดู “กลองยาว” ของชาวอีสานกันบ้าง

กลองยาว เป็นเครื่องให้จังหวะที่มีความสำคัญของเพลงอีสานมากเรียกว่า “กลองก้นโล่ง” แต่ละคณะกลองยาวจะมีกลองก้นโล่ง ประมาณ ๓-๕ ลูก มีรำมะนาขนาดใหญ่อีก ๑ ลูก ส่วนฆ้อง ฉาบ ฉิ่ง ก็มีเหมือนกลองยาวภาคอื่น ๆ

ลีลากลองยาวของภาคอีสานถ้าใครเคยดูโทรทัศน์ก็จะเคยเห็นอยู่บ้าง และคงไม่ต้องอธิบายมาก แต่ถ้าใครไม่เคยเห็นก็ขอให้นึกภาพกลองยาวภาคกลางแล้วแปลงภาพเป็นคณะกลองยาว แต่งตัวแบบอีสานมีสาว ๆ มาเต้นเซิ้ง ตามจังหวะ แล้วก็มีผู้ชายซึ่งเป็นฝ่ายตีกลองมาแสดงกายกรรมเปียงยางให้ดู

กลองยาวในภาคอีสานโดยมากตีจังหวะเดียวกันหมด มีจังหวะแปลก ๆ ตามสมัยนิยมบ้างตามชอบ

เดี๋ยวนี้มีคณะกลองยาวเหลืออยู่ราว ๆ ๔ จังหวัดเท่านั้น คือ ร้อยเอ็ด, มหาสารคาม, กาฬสินธ์ และขอนแก่น ส่วนที่อื่น ๆ คงจะมีบ้างแต่ไม่เด่นชัดเท่าไหร่

ลงมาทางสุรินทร์ ก็จะมีเพลงกันตรึม ซึ่งเป็นเพลงพื้นบ้านสไตล์เขมรสูง

ลักษณะเพลงกันตรึมเป็นเพลงร้องโต้ตอบกันที่เรียกว่าเพลงปฏิพากษ์ คล้ายเพลงฉ่อยหรือลำตัด แต่มีเนื้อร้องและทำนองเป็นเขมร เน้นความไพเราะที่น้ำเสียงของผู้ร้องและเสียงดนตรีมากกว่าท่าร่ายรำ

เหตุที่เรียกว่า “กันตรึม” ก็เพราะ “สโกล” หรือกลองที่เวลาตีแล้วดัง “โจ๊ะกันตรึม” ก็เลยเรียกว่ากลองกันตรึม และเพลงกันตรึม

เรือมอันเร ก็เป็นการแสดงท่าร่ายรำประกอบเพลงอีกอย่างหนึ่งที่ส่วนใหญ่รู้จักกันดี มีการถ่ายทอดออกโทรทัศน์อยู่บ่อย ๆ เหมือนกัน

เรือม แปลว่า รำ, อันเร แปลว่าสากตำข้าว พูดง่ายก็คือ รำเต้นสาก แบบเขมรนั่นแหละ คือเป็นของชาวเขมรสูงเช่นเดียวกัน

จังหวะการเต้นสากมีอยู่ ๕ จังหวะคือ ไหว้ครู, กัจปะกา ซาปะดาน, เจิงมุย, มะลบโดง และเจิงปีร์

ใครไปเที่ยวงานแสดงช้างที่สุรินทร์จะได้เห็นเรือมอันเร แน่นอน

ความจริงเต้นสากนี้ มีเด่น ๆ ที่แถบ จังหวัดนครพนม สกลนครเหมือนกัน ไม่ใช่แบบเขมรสูงสุรินทร์ แต่เป็นแบบอย่างของชาวแสก ซึ่งเป็นชนกลุ่มหนึ่งในภาคอีสาน

แสกเต้นสาก จะใช้ผู้หญิงล้วน ๆ มาแสดงการร่ายรำ โดยแต่งกายสวยงามน่าดูมาก ผู้หญิงนุ่งผ้าซิ่นไหม ใส่เสื้อแขนกระบอก ห่มสไบ เกล้าผมมวยแล้วรัดเกล้า สวมกำไลแขน ทัดดอกไม้บางทีก็ใส่เล็บยาว ๆ ด้วย

ลีลาการเต้นสากก็คล้าย ๆ กับเรือมอันเร ต่างกันที่ลีลาและท่วงทำนองเพลงเท่านั้น

แถว ๆ นครพนม, สกลนคร และจังหวัดใกล้เคียงมีชาวภูไทอาศัยอยู่มากและมีฟ้อนภูไทที่น่าดูอยู่ด้วย

ชาวภูไทหรือบางทีก็มีผู้เรียกว่าผู้ไทย แต่เดิมอาศัยอยู่ทางฝั่งประเทศลาว มีหลายเผ่าเช่น ภูไทดำ, ภูไทขาว, ภูไทแดง และภูไทลาย

ชาวภูไทเหล่านี้มีผิวพรรณขาวหน้าตาสวยงามเป็นพิเศษ อพยพเข้ามาอยู่ฝั่งขวาแม่น้ำโขงคือประเทศไทยประมาณต้นรัตนโกสินทร์

ภูไทที่มีชื่อเสียงมากคงจะได้แก่ภูไทเรณูนคร และก็มีการฟ้อนภูไทจากที่นี่ออกไปให้คนทั่ว ๆ ไปรู้จัก

การฟ้อนภูไทจะมีทั้งหญิงและชายเป็นหมู่ใหญ่ฟ้อนแสดงท่าทาง และฟ้อนเกี้ยวพาราสีกัน โดยไม่ถูกเนื้อต้องตัว

วงดนตรีก็ประกอบไปด้วย แคน, กลอง, ฉิ่ง, ฉาบ และกั๊บแก๊บ ซึ่งก็คือไม้สองอันกระทบกันเป็นจังหวะ บางทีก็มีการร้องเพลงประกอบด้วย เพื่อความครึกครื้นสนุกสนานยิ่งขึ้นไปอีก

ทีนี้ก็มาถึงบ้านของ พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ, คือเพลงโคราช

เพลงโคราช เป็นเพลงพื้นบ้านเก่าแก่มีเฉพาะในเมืองโคราชหรือเขตจังหวัดนครราชสีมาเท่านั้น

ไม่ทราบว่าเริ่มมีมาตั่งแต่เมื่อไหร่

แต่ปรากฎว่าเฟื่องฟูมากในสมัยท้าวสุรนารี

เดี๋ยวนี้ถ้าวันดีคืนดีผ่านไปแถวอนุสาวรีย์ย่าโมก็จะมีโอกาสได้เห็นเพลงโคราชที่ถูกนำมาแก้บนย่าโมอยู่บ้าง

เพลงโคราชมีลักษณะเช่นเดียวกับ ลำตัด หรือ กันตรึม คือมีหมอเพลงมาร้องโต้ตอบกัน มีแคนเป่าประกอบคลอไป หมอเพลงจำเป็นต้องมีไหวพริบปฏิภาณดี

ไม่งั้นต่อปากต่อคำกันไม่ได้ก็จะหมดสนุก หมดความไพเราะ

เนื้อหาของเพลงโคราชมักเกี่ยวข้องกับการเกี้ยวพาราสีกันระหว่างหญิงชาย และก็เป็นการเล่านิทานชาดกและตำนานต่าง ๆ เวลาร้องจะขึ้นต้นว่า “โอ่โอ้….”

ปัจจุบันเพลงโคราชยังเหลืออยู่เพียงไม่กี่คณะ เพราะว่าพ่อเพลงแม่เพลงที่มีฝีไม้ลายมือหายไปเยอะแล้ว

ทั้งยังมี ๑๘ กะรัต หรือเพลงรุ่นใหม่เข้าไปก็เสียกระจุย

เห็นมีอยู่อย่างเดียวที่ใครตีไม่ลงคือ หมอลำ ที่ยืนยงอยู่มาทุกยุคทุกสมัยจริง ๆ

 

———————————————————————–
งานเขียนของคุณอาอำพล เจน  … จากหนังสือแปลก ฉบับที่ 659
วันที่ 11 ตุลาคม 2531
————————————————————————
แชร์ :

ความคิดเห็น

** โปรดแสดงความคิดเห็นอย่างมีวิจารณญาน