เหรียญพระศรีอริยเมตตรัย พ.ศ.2500

“เหรียญพระศรีอริยเมตตรัย พ.ศ.2500”
วัดสุปัฏนาราม จ.อุบลราชธานี

 

 

ในบรรดาพระเครื่องที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อฉลองวาระ 25 ศตวรรษแห่งพระพุทธศาสนา มีพระเครื่องอยู่รุ่นหนึ่งที่ตรึงใจผมเป็นพิเศษ เนื่องจากมีความเป็นมาที่น่าสนใจไม่น้อย แต่ความเป็นมาของเหรียญนี้กลับไม่ค่อยจะมีผู้รู้จัก หรือไม่มีเลยก็ได้

เหรียญรุ่นนี้สร้างขึ้นเพื่อฉลอง 2500 ปี หรือที่กึ่งพุทธกาลสำหรับวัดสุปัฏนารามโดยทำเป็นเหรียญรูปไข่ ด้านหน้าเป็นรูปพระสังกัจจายน์มีภาษาจีนแสดงความหมายว่าเป็นยุคพระศรีอริยเม ตตรัยหรืออะไรทำนองนี้แหละครับ ส่วนด้านหลังมีอักษรไทย ความว่า “พระศรีอริยเมตตรัยที่ระลึกในพิธีสมโภช ณ วัดสุปัฏนาราม 2500” อักษรทั้งหมดล้อมรอบยันต์อันจารึกด้วยอักษรขอม 4 ตัว (ดูภาพประกอบ) ทำด้วยทองเหลืองล้วน ๆ สวยงามสมตัว

เหรียญพระสังกัจจายน์ หรือจะอนุโลมเรียกว่า พระศรีอริยเมตตรัยตามความหมายที่ผู้สร้างเหรียญแสดงเจตนาเป็นเหรียญที่ได้ รับความนิยมในเมืองอุบลฯ พอสมควร แม้จะยังไม่ทันแพงเป็นทองคำก็ยังค่อนข้างจะหายากเข้าแล้วนาน ๆ จะได้เห็นที พอเห็นแล้วเดี๋ยวเดียวก็หายวับเข้ากรุนักสะสมไปต่อหน้าต่อตา

ความนิยมที่ทำให้เกิดมีผู้เก็บเหรียญรุ่นนี้มีอย่างไรก็ไม่อาจทราบได้ ถามไถ่ก็ได้ความหลวม ๆ แค่ว่าเหรียญนี้ดี แต่ไม่มีใครบอกได้ว่าดีอย่างไร นอกจากตีขลุมว่าดีเพราะพระอาจารย์สายกัมมัฏฐานมาเข้าพิธีปลุกเสกเพียบเท่า นั้น พระอาจารย์สายกัมมัฏฐานมีใครบ้าง ก็ตอบกันไม่ถนัดปาก คงทราบแต่เพียงว่าพระอาจารย์สายนี้มากันเยอะแยะ ผู้ที่อยู่ทันพิธีก็ยืนยันว่ามากันเยอะจริง ๆ นั้นก็ปลงใจเชื่อได้หรอก เพราะว่าวัดสุปัฏวนารามมีความสำคัญต่อพระสงฆ์ธรรมยุตในภาคอีสานอย่างยิ่ง ถ้านิมนต์องค์ใดแล้วไม่มาเห็นจะยาก

ก่อนจะเล่าให้เข้าเป้าแห่งเรื่องสร้างเหรียญรุ่นนี้เห็นจะต้องชักแม่น้ำเสียแต่แรก ชักกันเรื่อยไปก็เข้าเป้าเอง

ถ้าใครเคยเข้าไปในวัดหลวงซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำมูลอยู่ในตัวเมืองอุบลฯ นั่นแหละครับ ถามใคร ๆ ก็รู้จักทั้งหมด ถ้าเคยเข้าไปแล้วจะได้เห็นพระสังกัจจายน์องค์หนึ่งประดิษฐานอยู่ใต้ต้น ไทรกลางลานวัดเป็นพระปูน ทาสีทองปิดเอาไว้มีลักษณะใจดี ยิ้มเปิดโลกเปิดสวรรณ์อยู่ชั่วนาตาปี พระสังกัจจายน์องค์นี้ใครจะรู้บ้างว่าเป็นพระที่หลวงพ่อลี วัดอโศการามได้สร้างขึ้น โดยสร้างไว้ที่วัดสุปัฏนาราม แต่ทุกวันนี้กลับมาอยู่ที่วัดหลวงซึ่งการย้ายวัดนี้มีที่มาที่ไปที่ทั้ง รันทดและน่าอนุโมทนา

เล่าเรื่องรันทดก่อน

คุณชัยสิทธิ เตชะศิริกุล หรือเฮียคุงของผมเล่าว่าวันหนึ่งเขาไปดูหมอหรือไปทำอะไรก็เลือนๆ ไปแล้ว สิ่งที่เขาไปทำนั่นได้บอกเขาว่าต้องปล่อยสัตว์น้ำจำนวนหนึ่ง ซึ่งค่อนข้างจะมีจำนวนมากมายเป็นพิเศษ แรกๆ เขาคิดปล่อยปลา แต่ว่าจำนวนปลามากมายอย่างนั้นเห็นจะต้องหมดตัวเสียก่อน จึงเปลี่ยนเป็นปล่อยหอยแทน ประหยัดและสะดวกดี แถมเป็นสัตว์น้ำเหมือนปลาอีกด้วย

เฮียคุงได้หอยมาตามต้องการแล้วก็หอบถุงหอยจะไปปล่อยที่ทุ่งศรีเมือง ซึ่งที่นั่นมีคูน้ำล้อมรอบ คงพอจะเป็นที่อาศัยและเจริญเติบโตของหอยได้ ครั้นไปถึงทุ่งศรีเมืองปรากฎว่าทุ่งศรีเมืองกำลังมีงานประจำปี มีการกั้นถนนปิดประตูเก็บเงินค่าผ่านเข้าชมงาน เฮียคุงเห็นว่ายังจะต้องเสียเงินค่าผ่านประตูเพื่อเข้าไปปล่อยหอยอีกรึ ดูจะเป็นการไม่เมคเซ้นท์เอาเสียเลย ก็เลยถอยดีกว่า ไม่เอาดีกว่า

ทีนี้ก็เปลี่ยนเข็มไปปล่อยที่ท่าน้ำวัดสุปัฏวนารามแทน ปล่อยลงแม่น้ำมูลก็ไม่เลว บางทีหอยจะมีชีวิตที่สุขสบายกว่าคูน้ำแคบ ๆ ก็ได้

เมื่อไปถึงท่าน้ำ ซึ่งก็คือริมตลิ่งด้านต้นไทรใหญ่ที่บางคนเรียกว่าไทรงาม ก็สังเกตเห็นอะไรบางอย่างจมโผล่อยู่กลางน้ำ (ตอนนั้นเป็นหน้าน้ำลด) เกิดสงสัยข้องใจอย่างยิ่ง จึงจ้างชาวเรือประมงแถวนั้นให้งมสิ่งนั้นขึ้นมา

ปรากฎว่าเป็นพระสังกัจจายน์ผุพังองค์หนึ่ง สร้างด้วยปูนซีเมนต์ ส่วนที่พังจนน่าเกลียดคือ ท้องของท่านทะลุเป็นโพรงใหญ่ แต่เมื่อพิจารณาเห็นความงามขององค์พระแล้วก็สนใจศรัทธา อยากจะรู้ว่าพระองค์นี้เป็นของใคร มาจากไหน ทำไมจึงต้องมาจมน้ำอยู่อย่างนี้ เฮียคุงจึงเดินขึ้นวัดสอบถามกับพระรุ่นเก่าองค์หนึ่ง (บอกชื่อและสมณศักดิ์พร้อมเสร็จแต่ผมลืม) พระรุ่นเก่าองค์นั้นก็เลยร้องอ๋อ และเล่าเรื่องพระสังกัจจายน์ให้ฟัง

เดิมพระสังกัจจายน์องค์นี้ประดิษฐานอยู่ในวัดสุปัฏวนารามอย่างดี เป็นพระที่หลวงพ่อลี วัดอโศการามปากน้ำ ได้เดินทางมาที่นี่และสร้างไว้ตั้งแต่ปี 2500 เพื่อฉลองพระพุทธศาสนาที่เรียกว่ากึ่งพุทธกาล สร้างแล้วก็ปลุกเสกไว้ด้วย พระสังกัจจายน์องค์นี้อยู่มั่นคงในวัดสุปัฏวนารามเรื่อยมา

วัดหนึ่งซึ่งตกราว ๆ สัก 10 ปีมาแล้ว มีคนติดยาคนหนึ่งมาด้อม ๆ มอง ๆ พระสังกัจจายน์องค์นี้ คิดว่าข้างในองค์พระคงจะมีสมบัติ จึงลักพระนั้นไปไว้ที่บ้าน จัดการทะลวงท้องพระออกดูก็ไม่พบว่ามีสมบัติอะไร จึงทิ้งพระคาบ้านไว้อย่างนั้น ฝ่ายมารดาของขี้ยารายนี้เห็นแล้วไม่สบายใจ ไปแจ้งตำรวจว่าลูกชายสติไม่ดีไปลักอุ้มพระมาจากไหนไม่ทราบ เอามาทุบแล้วทิ้งไว้ที่บ้าน ขอให้ตำรวจไปตรวจดูที ตำรวจก็ไปและรับพระกลับมาส่งคืนวัดสุปัฏนารามเหมือนเก่า

เมื่อพระสังกัจจายน์กลับวัดสุปัฏนารามแล้วก็มีเรื่องไม่เหมือนเก่าเกิดขึ้น คือ พระภิกษุในวัดเห็นพระชำรุดก็ไม่สบายใจ ตกลงสร้างองค์ใหม่ขึ้นมาแทน องค์ที่หลวงพ่อลีสร้างก็ยกไปตั้งไว้ที่ริมตลิ่งแม่น้ำมูล

เอาไปทิ้งนั่นแหละ

ต่อมาน้ำเซาะตลิ่งพังพระกลิ้งตกลงไปจมน้ำจนกระทั่งเฮียคุงมาพบในวันปล่อยหอย

พระสังกัจจายน์องค์นี้ใหญ่และหนักพอประมาณเป็นพระประธานได้สบาย ๆ เฮียคุงเห็นข้อนี้และมีใจศรัทธา อยากจะซ่อมแซมให้ดีเหมือนเดิมเพื่อถวายให้วัดสุปัฏวนารามแต่ทางวัดไม่เอา บอกว่าได้องค์ใหม่แล้ว องค์เก่าไม่เอา เฮียคุงก็เลยขอไว้จะเอาไปถวายวัดอื่นต่อไป ทางวัดสุปัฏนารามก็ดีใจหาย ได้บอกว่าช่างที่ปั้นพระองค์นี้ปัจจุบันยังมีชีวิตอยู่นะ บอกชื่อและตำแหน่งที่อยู่อาศัยให้เสร็จเฮียคุงก็เลยไปตามช่างคนเก่ามาซ่อม และก็ซ่อมสำเร็จในไม่ช้า

เมื่อซ่อมเสร็จเกิดปัญหาว่าจะเอาไปไว้ที่วัดไหนดี ปรึกษาเพื่อนพ้องเห็นคล้อยตามกันว่าเอาไปถวายวัดหนองป่าพงดีกว่า เพื่อนเฮียคุงก็เอารถมาใส่พระจะบรรทุกไปถวายวัดที่ตกลงใจ แต่พอยกพระขึ้นรถแล้ว ใครคนหนึ่งเกิดสงสัยว่าถ้าหากวัดหนองป่าพงไม่รับล่ะจะทำไง ขนพระไปขนพระกลับไม่สนุกนะ ทุกคนเลยหันหน้ามาปรึกษากันใหม่ เอาเป็นว่าหาวัดที่รับพระแน่ ๆ ถวายดีกว่า เฮียคุงเสนอว่าเอาวัดหลวงก็แล้วกัน เพราะว่าเขาเคยอยู่หน้าวัดหลวงมานาน อยากจะทำอะไรเป็นที่ระลึกกับวัดหลวงบ้าง และวัดหลวงก็อยู่ไม่ไกลจากวัดสุปัฏนาราม ถ้าหากวัดหลวงไม่รับก็ไม่ยากลำบากที่จะขนพระกลับแต่อย่างใด

ปรากฎว่าวัดหลวงรับและให้ตั้งพระไว้ที่ใต้ร่มไทรกลางลานวัด ทุกคนที่ขนพระมาต่างลงขันสร้างแท่นประดิษฐานพระจนเรียบร้อย จ้างช่างทาสีมาทาทั้งพระทั้งแท่นจนสวยงามแล้วเป็นอันหมดธุระ

เมื่อพระสังกัจจายน์มาอยู่ที่วัดหลวงแล้วพักหนึ่งก็ไปเข้าฝันกับท่านเจ้า อาวาสองค์ปัจจุบันนี้ (ผมลืมชื่อท่านอีกเหมือนกัน) ว่าไม่อยากอยู่ที่นี่ อยากกลับไปอยู่ที่เก่าคือวัดสุปัฏนาราม หลวงพ่อเจ้าอาวาสก็ตกใจ ขอนิมนต์ให้อยู่ที่นี่ต่อไปเถิด จะดูแลท่านอย่างดี ท่านก็ไม่ว่าอะไร

หลวงพ่อได้ลงมือก่อกำแพงล้อม เทปูนรอบ พอให้มีที่กราบ เอากระถางธูปเทียนมาตั้งไว้ และเอาร่มมากางกั้นแดดฝนถวาย
พระสังกัจจายน์ก็หันไปเข้าฝันชาวบ้านแถวนั้นแทนไปให้หวยเขาทั่วไปหมด ถูกกันวุ่นวายเลยมีลูกศิษย์มากมากราบมาขอหวยทุกงวดใกล้วันหวยออกเป็นอันว่า แน่นขนัด

จะแม่นไม่แม่นอย่างไร ใครมีโอกาสให้ไปทดลองเอง ผมไม่ทราบ

ทั้งเรื่องรันทดและน่าอนุโมทนาก็ผ่านไป น่าอนุโมทนาในศรัทธาของผู้ซ่อมแซมทุกคน

ส่วนเหรียญพระสังกัจจายน์รุ่นนี้ถูกสร้างขึ้นด้วยนิมิตหมายในการสร้างพระ สังกัจจายน์องค์นี้นั่นเอง พอสร้างพระสังกัจจายน์ปูนปั้นเสร็จก็สร้างพระเครื่องฉลองไปด้วย

พระเครื่องรุ่นนี้จะมีครูบาอาจารย์องค์ใดมาปลุกเสกไม่อาจทราบได้ แต่ที่แน่ชัดคือ มีหลวงพ่อลีองค์หนึ่ง จะอลุ่มอล่วยให้เป็นพระเครื่องของหลวงพ่อลีอีกพิมพ์หนึ่งก็ได้

จำนวนสร้างเหรียญรุ่นนี้ไม่มาก ทุกวันนี้ไม่ค่อยเห็น พอเห็นแล้วก็หายวับอย่างที่ว่า ถ้าใครเห็นอีกครั้งหาทางเก็บเอาไว้ เป็นพระเครื่องศักดิ์สิทธิ์ อีกองค์หนึ่งที่แขวนคอได้สบายใจ

เท่าที่ทราบในขณะนี้ยังไม่มีของปลอม แต่ถึงไม่มีก็พอจะชี้นำวิธีสังเกตคร่าว ๆ ได้ก่อน คือ ด้านหลังของเหรียญรุ่นนี้มีพื้นผิวเป็นเสี้ยนตลอดแนว ดูภาพจะเห็นชัด ตำหนิต่างๆ ยังไม่ต้องชี้ เอาไว้มีของปลอมออกมาเสียก่อนค่อยว่ากัน

———————————————————————————
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารศักดิ์สิทธิ์ฉบับที่  219
วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2535
——————————————————————————–
แชร์ :

ความคิดเห็น

** โปรดแสดงความคิดเห็นอย่างมีวิจารณญาน