ตะกรุดปาฏิโมกข์

พระปาฏิโมกข์ก็คือพระวินัย ซึ่งพระพุทธองค์ทรงบัญญัติและแสดงโอวาสนี้ในวันมาฆบูชา
มีทั้งหมด 227 ข้อ

 ถือเป็นศีลของพระ

ศีล แปลว่า ปกติ

ถ้าพระถือศีล 227 ข้อได้ครบถ้วนไม่ด่างพร้อย ก็เป็นพระที่ปกติ

อะไรที่มันปกติแล้วก็จะเรียบร้อยสวยงามทั้งนั้น

 ในทางพระพุทธศาสนานั้น ก็มีความปกติให้ญาตโยมถือด้วยคือศีล 5

แปลกที่ศีล 5 ข้อนี้ใครที่ถือได้ก็จะเป็นคนผิดปกติ เพราะว่าโดยปกติแล้ว ใครๆก็ถือไม่ได้ทั้งๆที่มีแค่ 5 ข้อเท่านั้น

เมื่อพระจะต้องถือศีล 227 ข้อ ก็น่าสงสัยว่าจะมีสักกี่รูปที่ถือได้ครบสมบูรณ์

เพื่อนผมเคยบวชพระกับหลวงปู่สิม พุทธาจาโรพอสึกออกมาก็บอกว่า
” เป็นพระนี่ยากชมัด กูอาบัติทั้งวันเลย ”

ดีว่ามันบวชแค่พรรษาเดียว เวลาสำหรับเปลี่ยนบรรบยากาศไปอยู่ในนรกคงสั้นลง

ถ้าบวชตลอดชีวิตคงไม่ได้ผุดได้เกิดอีกนาน

 เว้นแต่มันจะยอมแสดงอาบัติ

คือเรื่องของพระนี่ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของตัวกูผู้เดียว, ทำเอง, รู้เอง เห็นเอง, ไม่ว่าจะทำเรื่องชั่วช้าสารเลวหรือเรื่องดีเลิศประเสริฐหรูแค่ไหน

หิริโอตัปปะ จึงมีบทบาทอย่างยิ่ง คือมีไว้ีเพื่อให้ผู้ทำผิดพระวินัยชนิดที่รู้เองคนเดียวยอมแสดงอาบัติเพื่อให้ปรับอาบัติ

โดยมากผู้ที่ยอมแสดงอาบัติเพื่อให้ปรับอาบัติก็มักจะเป็นผู้รู้ดีในพระวินัย ทั้ง 227 ข้อ จึงรู้ได้ว่าตัวเองผิดข้อไหน เพราะความเผลอเรอหรือเพราะอะไรก็ตาม เมื่อรู้ว่าผิดก็จะไปแสดงความผิดให้เพื่อนพระฟังหรือให้คณะสงฆ์ฟัง

ความผิดในพระวินัยมี 3 ระดับคือ ขนาดเบา, กลาง, และหนัก

ขนาดเบาเรียกว่า อาบัติปาจิตตีย์ แค่แสดงให้พระรูปใดรูปหนึ่งฟังก็พอ

ขนาดกลางเรียกว่า อาบัติสังฆาทิเสส ต้องแสดงอาบัติให้คณะสงฆ์ในอุโบสถฟัง และไปอยู่กรรม 9 วัน

 ขนาดหนักเรียกว่า อาบัติปาราชิก นี่ไม่ต้องแสดงอาบัติหรือปรับอาบัติ แต่ถือว่าขาดจากความเป็นพระทันที จับสึกได้เลย

ความผิดขนาดกลางและหนัก โดยส่วนใหญ่จะเป็นความผิดที่ผู้อื่นจับผิดได้ ดังนั้นผู้ที่จะทำความผิดระดับกลางและหนัก ก็เป็นพวกหน้าด้านหน้ามึนแบบสุดๆทั้งนั้น

หิริโอตัปปะจะไม่มีในระดับนี้ เพราะว่าเป็นคนจำพวกที่เรียกได้ว่าไม่รู้จะเสือกมาบวชทำไม

จะอ้างว่าทำผิดเพราะไม่รู้พระวินัยก็ไม่ได้ เพราะทุกวันพระ ขึ้นหรือแรม 15 ค่ำ พระสงฆ์จะมาทบทวนพระวินัยกันในพระอุโบสถ เรียกว่าทบทวนกันเดือนละ 2 ครั้งคือสวด พระปาฏิโมกข์ นั่นแหละครับ

ในทางโลกเขาก็บอกว่า ผู้ทำผิดกฏหมายจะอ้างว่าไม่รู้กฏหมายไม่ได้

แต่ข้อเท็จจริงแล้ว มีกฏหมายหลายข้อที่เราก็ไม่รู้จริงๆ เพราะว่าไม่มีใครมาทบทวนกฏหมายให้เราฟัง, ถึงมี เราก็คงจะฟังไปหลับไป ไม่รู้เรื่องเหมือนเดิม

 ในทางพระจึงอ้างไม่ได้ เพราะว่ามันเป็นหน้าที่ของพระที่จะต้องปฏิบัติตามนั้น

ทำผิดขนาดปาราชิก ก็ปล้ำถอดผ้าเหลืองได้อย่างสบายใจ ไม่บาป

พระวินัย หรือศีลพระปาฏิโมกข์จึงถือว่าเป็นความบริสุทธิ ไม่มีมลทิน ไม่มีอะไรด่างพร้อย พระรูปใดถือได้ปฏิบัติได้ย่อมน่าเคารพเลื่อมใสเป็นที่สุด

อย่างเช่นหลวงพ่อชา วัดหนองป่าพง ผมไม่เคยห็นความด่างพร้อยในองค์ท่าน พยายามนึกย้อนหลังไปไกลๆ สมัยที่ได้ติดตามใกล้ชิด ก็นึกหาความผิดของท่านไม่พบ

ครูบาอาจารย์ระดับนี้แม่นในพระวินัยทั้งนั้น เคร่งครัดจนหาที่ตำหนิไม่พบ

ความแม่นในพระวินัยก็เห็นได้ในองค์หลวงปู่คำพันธ์ วัดธาตุมหาชัย นครพนม ท่านสามารถแสดงพระวินัยเป็นข้อๆได้โดยละเอียดถี่ถ้วน จะเป็นข้อไหนก็ได้ ก่อนหรือหลังก็ไ็ด้ ไม่จำเป็นต้องเรียงตามลำดับ

 ถ้าท่านปรากฏตัวในหมู่พระลูกศิษย์ เหล่าพระเณรทั้งหลายจะเกิดความยำเกรงในตัวท่าน เพราะว่าท่านคือผู้รู้และผู้บริสุทธิ์ ซึ่งพระอื่นๆที่ยังทำผิดเล็กๆน้อยๆต้องกลัว

บางทีจะเรียกว่าเป็นอำนาจของความบริสุทธิ์แห่งพระปาฏิโมกข์

ครูบาอาจารย์โบราณส่วนใหญ่ รู้จักใช้พระปาฏิโมกข์ให้เกิดอำนาจ เกิดประโยชน์

อุปเท่ห์ของพระคาถาที่ถอดมาจากพระปาฏิโมกข์นั้นทรงคุณวิเศษ

หัวใจพระปาฏิโมกข์มักใช้สวดในที่กันดารอัตคัดขัดข้องในเรื่องการกินการอยู่

 ตับพระปาฏิโมกข์ มักใช้สวดเมื่อไปอยู่ในสถานที่อันตราย เช่น ในป่าในดงเพื่อป้องกันอันตราย

หลวงปู่คำพันธ์เคยกล่าวว่า หัวใจพระปาฏิโมกข์ เมื่อใช้สำหรับปลุกเสกวัตถุมงคล จะให้ผลในทางเมตตา ส่วนตับพระปาฏิโมกข์ จะให้ผลในทางป้องกันอันตราย

เมื่อนำพระคาถาที่ถอดออกจากพระปากฏิโมกข์มาลงตะกรุดแล้ว ส่วนที่เป็นหัวใจถือเป็นของสูงต้องแขวนคอ หรือพกใส่กระเป๋าเสื้อ แต่ตับพระปาฏิโมกข์ จะเอามาผูกเอวก็ได้ไม่เป็นไร

พูดถึงพระคาถานี้แล้ว รู้สึกตัวเองชักจะขลังๆยังไงชอบกล

ชักจะเป็นผู้แตกฉานในคาถาที่ตนเองไม่รู้เรื่องขึ้นมาเสียแล้ว

ผมก็ว่าไปตามตำราเท่านั้นอย่าถือสาเลย

 

แชร์ :

ความคิดเห็น

** โปรดแสดงความคิดเห็นอย่างมีวิจารณญาน