พระอาจารย์สิงห์ ขัตยาคโม

สายกัมมัฏฐาน ศิษย์พระอาจารย์มั่น  ภูริทัตโต
พระอาจารย์สิงห์  ขันตยาคโม (พระญานวิศิษฎ์สมิทธิวีรจารย์)  
วัดป่าสาลวัน จ.นครราชสีมา  
ผู้ทรงอิทธิพลังจิตเป็นเลิศ

 

 

ในเรื่องของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล ที่ผมได้เล่าไปนานแล้วนั้น มีตอนหนึ่งได้กล่าวถึงพระอาจารย์สิงห์  ขันตยาคโม ว่าท่านเป็นสหายธรรมกับหลวงปู่ดูลย์สมัยที่อยู่วัดสุทัศนาราม เมืองอุบลราชธานี

นั่นเป็นความจริงของเมื่อหลายสิบปีก่อน ทั้งสองท่านได้เขากราบนมัสการและฝากตัวเป็นศิษย์พระอาจารย์มั่น ภูริทตตเถร พร้อมกันเป็นศิษย์รุ่นเดียวกันและเป็นศิษย์รุ่นแรก ๆ อีกด้วย ก่อนที่หลวงปู่ครูบาอาจารย์ทั้งหลายที่พวกเรารู้จักกราบไหว้ทั้งหมด อย่างเช่นปู่ฝั้น ปู่ขาว ปู่แหวน ฯลฯ จะเข้ามาฝากตัวเป็นศิษย์ท่านพระอาจารย์มั่นเกือบทุกองค์ บางองค์ถึงกับเป็นศิษย์พระอาจารย์สิงห์และหลวงปู่ดูลย์มาก่อน ต่อ ๆ มาจึงได้พบพระอาจารย์มั่นในภายหลัง

เมื่อจะกล่าวถึงศิษย์พระอาจารย์มั่นแล้ว หลวงปู่ดูลย์กับพระอาจารย์สิงห์สมควรได้รับการกล่าวถึงก่อนใครแต่ผมกลับไปเล่าเรื่องพระที่มรณภาพด้วยอุบัติเหตุเครื่องบินตกก่อนเป็นปฐม เนื่องจากว่าการกล่าวถึง POINT ที่ทุกคนประมาท หมิ่นแคลนย่อมน่าสนใจที่สุด และผมก็ได้กล่าวไปแล้วพอสมควร

ต่อไปนี้จะได้เล่าเรื่องพระอาจารย์สิงห์ เพื่อปลูกศรัทธาแก่ผู้ไม่เคยรู้จักและบำรุงรักษาศรัทธาให้แก่ผู้รู้จักท่านเป็นอย่างดีอยู่แล้ว

ต้องบอกไว้อีกว่า ผมเป็นผู้ที่ไม่เคยเห็น ไม่เคยได้กราบพระอาจารย์สิงห์มาก่อนเนื่องจากว่าขณะที่ท่านมรณภาพไปนั้นผมเพิ่งมีอายุประมาณ 6 ขวบ  ถ้าขืนทำเป็นรู้เรื่องพระอาจารย์สิงห์ละเอียดถึงขนาดเหมือนว่าได้ติดตามใกล้ชิดท่านก็ออกจะเป็นโกหกคำโต  ด้วยเหตุนี้เห็นจะบอกได้เพียงว่าที่กำลังจะเล่าให้ฟังต่อจากนี้  เป็นการสรุปเหตุการณ์ที่น่าสนใจเท่าที่จะทำได้ โดยอาศัยจากหนังสือประวัติของท่าน  และจากข้อเขียนหลากหลายรูปแบบจากหลายนักเขียนเป็นแนวในการเล่าครั้งนี้  ถูกผิดก็ขอให้เป็นเรื่องของเอกสารทั้งหลายที่ผมได้คัดออกมา  ส่วนจะเป็นที่เชื่อได้หรือไม่ได้  ให้วินิจฉัยของผู้อ่านได้พิจารณาเอาเอง

ชาติภูมิของพระอาจารย์สิงห์  ขันตยาโม

ชาตะ  วันที่  27  มกราคม พ.ศ. 2432  ที่ บ.หนองขอน  ต.หัวทะเล  อ.อำนาจเจริญ  จ.อุบลราชธานี  

นามเดิม  สิงห์  บุญโท  เป็นบุตรของเพียอัครวงศ์ (อ้วน) และนางหล้า  บุญโท  

บรรพชาเป็นสามเณร เมื่อ พ.ศ. 2446  ในสำนักพระอุปัชฌาย์ป้อง  วัดบ้านหนองขอน

อุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ.2452 ณ พัทธสีมาวัดสุทัศนาราม เมืองอุบลฯ  โดยมีสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสโสอ้วน)  เป็นพระอุปัชฌาย์ในขณะยังดำรงสมณศักดิ์เป็นพระศาสนดิลก  เป็นสัทธิวิหาริกของสมเด็จพระมหาวีรวงศ์  อันดับที่ 2

บวชพระได้หลายปี  ได้เพื่อนเป็นหลวงปู่ดูลย์  อตุโล  อยู่ในวัดสุทัศนารามด้วยกันและก็ได้เข้านมัสการกราบพระอาจารย์มั่นด้วยกัน  เป็นศิษย์พระอาจารย์มั่นรุ่นเดียวกัน

ในการประพฤติปฏิบัติท่านได้ทำทุกอย่างทุกประการเท่าที่พระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบจะได้ทำเพื่อมรรคผลนิพพานและคงไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงรายละเอียดทางด้านนี้  แต่บอกได้ว่าผลจากการประพฤติปฏิบัติอันยิ่งนั้น ทำให้ได้รับความไว้วางใจจากพระอาจารย์มั่น  ให้ช่วยในการเผยแพร่และอบรมสั่งสอนพระเณรรุ่นหลังๆ และท่านได้เป็นกำลังสำคัญของพระอาจารย์มั่นจนได้รับสมญานามว่าขุนพลแห่งกองทัพธรรม โดยมีพระอาจารย์มั่นเป็นแม่ทัพ

อาจกล่าวได้ว่าภาระหน้าที่ทั้งหลายของพระอาจารย์มั่นทุเลาเบาบางลงได้ก็เพราะพระอาจารย์สิงห์ดำเนินถวายหลายประการ  ทำให้พระอาจารย์สิงห์มีลูกศิษย์ลูกหามากมายขึ้นมา  อย่างเช่น พระอาจารย์ฝั้น  อาจาโร  ก็เป็นศิษย์ของพระอาจารย์สิงห์มาก่อน  พระอาจารย์สีโห  เขมโก พระอาจารย์มหาปิ่น  ปัญญาพโล (น้องชาย)  และจนกระทั่งศิษย์แท้ ๆ อย่างเช่น หลวงพ่อพุธ  ฐานิโย (พระชินวงศาจารย์)  ก็ล้วนแต่เป็นศิษย์ของท่านทั้งนั้น  นี่ว่าเฉพาะนึกได้  ที่นึกไม่ออกยังมีอีกหลาย

รองลงมาจากพระอาจารย์มั่นแล้วก็เห็นจะเห็นพระอาจารย์สิงห์  ว่าอย่างนั้นเถิด

ภายหลังจากกรากกรำกับงานเผยแพร่พุทธศาสนามาพอสมควร  ท่านก็ควรจะได้อยู่พำนักเป็นหลักแหล่งบ้างอายุมากขึ้น  จะจาริกกันอย่างทรหดเหมือนสมัยหนุ่มแน่นก็ไม่ได้  วัดที่จะได้พำนักอยู่กับที่ก็กลายเป็นสิ่งที่สมควร

ความจริงจะว่าไปแล้ว วัดป่าสาลวันก็ไม่ได้เป็นความคิดริเริ่มของพระอาจารย์สิงห์  หากแต่เป็นความคิดของหลวงชาญนิคม  ได้นิมนต์ท่านอาจารย์สิงห์มาเพื่อสร้างวัดแห่งนี้  และท่านก็รับนิมนต์โดยเต็มใจ

หลวงพ่อพุธ  ฐานิโย  หรือพระชินวงศาจารย์  เจ้าอาวาสวัดป่าสาลวันองค์ปัจจุบัน ได้เล่าเรื่องสร้างวัดแห่งนี้ของพระอาจารย์สิงห์  มีความว่า

เดิมสถานที่ซึ่งเป็นวัดป่าสาลวันเดี๋ยวนี้นั้นเป็นป่ารก (ปัจจุบันกลายเป็นวัดกลางเมืองไปแล้ว)  ซึ่งในป่านี้มีต้นไม้มงคลต้นหนึ่งชื่อว่าต้นสาละ  เมื่อสร้างวัดเสร็จแล้วจึงตั้งชื่อตามไม้นั้นว่าวัดป่าสาลวัน  เมื่อสร้างวัดเสร็จทุกประการ วัดแห่งนี้ได้กลายเป็นศูนย์กลางการโคจรของพระสงฆ์ฝ่ายวิปัสสนากัมมัฎฐานตลอดมา  บางครั้งมีพระมารวมกันอยู่ที่นี่หลายร้อยรูป  บางคราวก็มีพระอาจารย์สำคัญ  หรือพระเถรฝ่ายนี้เดินทางมาพำนักอยู่ชั่วคราวมิได้ขาด  อย่างเช่น พระอาจารย์ตื้อ  อจลธมโม  พระอาจารย์สิม  พุทธาจาโร  พระอาจารย์ฝั้น  อาจาโล  ฯลฯ  แต่มาตรว่าจะเป็นที่ประชุมพระสงฆ์มากมายอบอุ่นอย่างนี้  พระอาจารย์สิงห์ก็ไม่ได้ทอดธุระธุดงค์เสียทีเดียว  ได้โอกาศเหมาะสมก็ออกนำลูกศิษย์ธุดงค์ไปเหมือนเก่า

ปีหนึ่งท่านพาลูกศิษย์ธุดงค์ถึงอำเภอจตุรัส  จังหวัดชัยภูมิ  ท่านปักกลดลงในสถานที่แห่งหนึ่งเพื่อบำเพ็ญเพียรและอบรมสั่งสอนชาวบ้านเป็นปกติ  ท่านเห็นว่าสถานที่แห่งนี้เป็นป่าช้ารกร้าง น่าจะสร้างวัดป่าขึ้นได้  ก็คิดจะลงมือทำ  บรรดาผู้ไม่เห็นด้วยก็ลงมือขัดขวางทันที

ขัดขวางอย่างน่ากลัวเสียด้วย

คนมากมายที่อยู่ฝ่ายขัดขวางได้เดินทางมาพบพระอาจารย์สิงห์พร้อมกับถือมีดพร้าอาวุธปืนติดมือมาทุกคนเจตนาจะมาทำร้ายหรือขู่ให้กลัวก็ยากจะรู้ได้

พระอาจารย์สิงห์มองดูคนเหล่านั้นอย่างสงบ

ทุกคนยืนถมึงทึงขึงขังล้อมรอบท่านไว้  แต่ไม่มีใครลงมือทำอะไร  คงเป็นแต่เพียงว่ายืนมองท่านอย่างตัดสินอะไรไม่ถูก  เพราะว่าท่านวางท่าสงบเฉย  ไม่มีอาการเดือดร้อนอะไร

อึดใจอันทรมานของพระลูกศิษย์ที่เฝ้าสังเกตอย่างระทึกใจก็ผ่านไปอย่างเหลือเชื่อ

จะด้วยอำนาจอะไรก็เหลือหยั่ง

ทุกคนที่เหมือนยักษ์มารวางมีดพร้าอาวุธลงจนหมดแล้ว  ทรุดกายลงกราบท่านอย่างสิ้นพยศ

ท่านไม่ได้พูดอะไรเลยแม้แต่คำเดียว

อะไรเล่าคือคำสั่งให้ทุกคนอ่อนน้อมยอมตัวลงกราบท่านโดยดุษฎี

เมื่อเห็นทุกคนเปลี่ยนกิริยามาดร้ายเป็นดีแล้ว  ท่านก็เทศน์โปรด  และให้ทุกคนเข้าถึงไตรสรณคมน์  หลังจากนั้นทุกคนก็พร้อมใจกันขอขมาลาโทษที่คิดจะทำร้ายท่านและได้ช่วยกันสร้างวัดป่าขึ้นพร้อมเพรียงกัน  เสียดายที่ไม่มีการระบุว่าวัดที่สร้างนั้นชื่ออะไร  คงบันทึกไว้แต่เพียงเหตุการณ์เท่านั้น

เรื่องนี้เข้าใจว่าเกิดขึ้นสมัยหลังสร้างวัดป่าสาลวันเสร็จสิ้นใหม่ ๆ แต่เรื่องทำนองนี้ก็เคยเกิดขึ้นกับพระอาจารย์สิงห์มาก่อนเหมือนกัน

อย่างเช่นสมัยหนึ่งท่านไปจำพรรษาที่จังหวัดปราจีนบุรี  สถานที่จำพรรษาเป็นป่าช้า  หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าป่ามะม่วง  ท่านได้อบรมสั่งสอนธรรมะแก่ผู้สนใจจนมีชื่อเสียงกว้างขวางในแถบนั้น  พอมีชื่อเสียงก็มีมารมาทันที

เย็นวันหนึ่งท่านกำลังเดินจงกรมอยู่ในป่าช้า  ชายผู้หนึ่งเดินย่องเข้ามาทางด้านหลังพร้อมกับเล็งปืนขึ้นหมายจะยิงท่าน

ทันใดนั้นก็เกิดเหตุแปลกประหลาดอย่างปุบปับ  ต้นไม้ทุกต้นในป่าช้าเขย่าตัวเหมือนต้องลมพายุพัดซ้ำแผ่นดินก็สะเทือนเลื่อนลั่นขึ้นมาอย่างไม่น่าเชื่อ  ชวนให้ขวัญหนีดีฝ่อไปในฉับพลัน

ผู้ประสงค์ร้ายตกใจถึงกับก้าวขาไม่ออก  เหนี่ยวไกปืนไม่ได้  ปืนก็หล่นหลุดจากมือตกปุอยู่กับพื้นดิน  แล้วก้าวเข้าไปหมอบกราบตัวสั่นต่อเท้าของท่าน  กล่าวคำสารภาพละล่ำละลักว่า  เขาได้รับค่าจ้าง 1 พันบาท  เพื่อมาฆ่าพระอาจารย์สิงห์

ท่านสอบถามว่าใครจ้างทำไมจึงจ้าง

วันรุ่งขึ้น  ท่านออกบิณฑบาตเป็นปกติ  แต่ว่าวันนี้มีพิเศษกว่าวันอื่น ๆ คือ เมื่อบิณฑบาตไปถึงหน้าบ้านหลังหนึ่งท่านก็หยุดขบวนพระสงฆ์จึงกลายเป็นว่าพระสงฆ์ทั้งหมดมายืนสงบอยู่บ้านหลังหนึ่ง  ใครได้เห็นก็หมดโอกาสจะเข้าใจในเหตุผลของการยืนเรียงแถวอย่างสงบนั้น  เว้นไว้แต่เจ้าของบ้านและท่านอาจารย์สิงห์เท่านั้นที่รู้เรื่องของกันและกัน

เจ้าของบ้านถึงกับตกใจกลัว  คนในบ้านก็วิ่งพล่านไม่รู้ทางจะออกจากบ้านได้  วิ่งชุลมุนอยู่ในบ้านเหมือนหนูในกรง

ท่านก็ยืนนิ่งและเพ่งมองเข้าไปในบ้านอย่างสงบไม่ได้ทำอะไรเกินกว่ากิริยานี้

เจ้าของบ้านค่อย ๆ ตั้งสติได้  ลนลานคว้าขันข้าวและอาหารเดินสั่นออกมานอกบ้านจบขันข้าวใส่หัว  คนอื่น ๆ ก็ตามกันออกมากราบกรานท่านสิ้นทุกคน

ท่านอาจารย์สิงห์ก็คงยืนสงบมองมิได้วางตา  มิได้มองอย่างอาฆาตมาดร้าย  แต่มองอย่างนิ่งสงบจริง ๆ

ดูเหมือนท่านอาจารย์มหาปิ่น  ปัญญาพโล  เท่านั้น ที่รู้เท่าทันว่า  จิตของพระอาจารย์สิงห์กำลังทำอะไรอยู่  จึงกล่าวตักเตือนว่า  ได้เวลาแล้วครับ  ท่านอาจารย์สิงห์จึงถอนจิตออกจากกิริยานั้นเดินออกไปจากหน้าบ้านหลังนั้น

ชาวบ้านที่รอใส่บาตรแลเห็นเหตุการณ์นี้ทั่วกัน  และคิดเหมือนกันว่า ลงขนาดเจ้าพ่อใหญ่ยังกราบพระองค์นี้  พวกเรามีหรือจะไม่โมทนาสาธุกับท่านด้วย  ต่างยกมือขึ้นจบเหนือหัวแสดงอาการโมทนาถ้วนทุกคน

เย็นวันนั้น  เจ้าพ่อผู้สั่งฆ่าพระอาจารย์สิงห์ก็เดินทางมายังป่าช้าที่พำนักของท่านอย่างสิ้นพยศ  มากราบท่านแล้วก็นิ่งสงบไม่พูดอะไร  บางทีจะพูดอะไรไม่ออก  พูดไม่ถูกก็ไม่รู้  พระอาจารย์สิงห์จึงเทศน์โปรด  และผลของเทศนากัณฑ์นั้นก็คือ  เจ้าพ่อน้ำตาไหลพราก  แล้วฝากตัวเป็นศิษย์ของท่านทันที

หลังจากนั้นก็ลงมือสร้างสถานที่แห่งนั้นให้เป็นสำนักสงฆ์อันถาวร  ถวายพระอาจารย์สิงห์  และได้ชื่อว่าวัดป่ามะม่วง  หรือวัดป่าทรงคุณ  จังหวัดปราจีนบุรี

พระอาจารย์สิงห์เมื่ออยู่วัดป่าสาลวันเป็นที่แน่ชัด แล้วท่านได้สร้างพระเครื่องไว้เหมือนกัน  พระเครื่องของท่านปัจจุบันได้รับความนิยมในหมู่นักสะสม  เป็นพระหลักของเมืองโคราชตลอดจนอีสานทั้งภาค

ถ้าท่านเชื่อในคุณธรรมของพระภิกษุระดับนี้  ท่านต้องเชื่อในพุทธคุณอันวิเศษของพระเครื่องที่ท่านอธิษฐานจิตหรือปลุกเสกไว้ด้วย

วัตถุมงคลของพระอาจารย์สิงห์ที่เท่าที่ทราบนั้น มีดังนี้

1.เหรียญรูปเหือนใบเสมา  ด้านหลังยันต์ตะกร้อ  ถือเป็นพระเครื่องรุ่นแรกของท่าน
2.ล็อคเก็ต  ด้านหน้าเป็นรูปขาวดำของท่าน  ด้านหลังเป็นยันต์นกคุ้ม
3.เหรียญพระประธาน  ปี 2500
4.เหรียญฉลองพระพุทธศาสนา 2500 ปี  ทำออกมา 2 แบบ สำหรับผู้ชายและผู้หญิง
5.เหรียญพระญาณวิศิษฎ์ (สิงห์) ใบเสมา มี 2 แบบ  สำหรับชายและหญิง
6.รูปเหมือนปั๊ม  ด้านหลังเป็นยันต์ตระกร้อ  ที่ทันท่านปลุกเสกมีอยู่รุ่นเดียว  ส่วนที่เห็นมีอยู่ 3 แบบ นั้น  เป็นของหลวงพ่อพุธปลุกเสกเสีย 2 รุ่น

ที่ทันท่านปลุกเสกนั้นได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก  ปัจจุบันราคาแพง  ประมาณ 5 หรือ 6 พันบาท

ใครมีพระเครื่องของท่านอยู่แล้วก็รักษาไว้ให้ดี  ของท่านเป็นพระเครื่องดีอย่างแท้จริงไม่มีอะไรต้องสงสัย

______________________________________________________

ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารศักดิ์สิทธิ์ฉบับที่ 218  วันที่  1  กุมภาพันธ์  2535 

แชร์ :

ความคิดเห็น

** โปรดแสดงความคิดเห็นอย่างมีวิจารณญาน