วัดหนองป่าพง

ผมคงจะตีตนไปก่อนไข้ก็ไม่ทราบ

วัดหนองป่าพงทุกวันนี้ มีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวกันมาก วันหนึ่งๆหลายคณะ มาแล้วก็จะเที่ยวดูโน่นดูนี่ทั่วไปหมด
ความจริงเวลานี้ก็ไม่ทันจะมีอะไรเสียหายหรอก แต่อาจเป็นสัญญาณเริ่มต้นของสิ่งที่เราสามารถคาดคะเนได้ตรงกัน

เมื่อวัดที่เคยเป็นแดนเคารพที่ปฏิบัติธรรมจริงจัง เป็นที่เคยเงียบสงบอย่างมาก
มากลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวก็ดูเป็นเรื่องที่บอกไม่ถูก

เฉพาะเรื่องนี้เห็นจะปลงอนิจจังกันได้

คือไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอนสักอย่าง ดังพระพุทธกล่าวไว้ว่า
สรรพสิ่งทั้งหลายเมื่อเกิดก็มีดำรงอยู่ มีเสื่อมโทรม และมีดับไป

ไม่มีใครเป็นผู้ผิดหรอกครับ

คงพูดได้เพียงว่า ผู้มีสติ มีความรู้ผิดรู้ชอบเท่านั้นที่จะพอช่วยกันสร้างสภาพดำรงอยู่นั้น ให้เนิ่นนานออกไปอีกบ้าง

หลวงพ่อชาเจ้าอาวาสวัดหนองป่าพงกำลังอาพาธอยู่ขณะนี้ ถ้าท่านพูดได้ ท่านจะพูดได้ดีที่สุด

ในสมัยที่ยังไม่ป่วย หลวงพ่อชาเคยเทศน์สอนพระลูกศิษย์ไว้ ฟังดูแล้วก็เหมือนว่าท่านจะคะเนสถานการณ์ของพระและวัดไว้ล่วงหน้า

เราคนในปัจจุบันมาฟังเพื่อดูสติตัวเองบ้างก็ดีนะครับ

“ปีนี้ผมร่างกายไม่ค่อยสบาย ไม่ค่อยดี บางสิ่งบางอย่างผมก็มอบให้พระภิกษุสามเณรทุก ๆองค์ช่วยกันทำต่อไป
บางทีผมก็พักผ่อน โดยมากก็ชอบเป็นอย่างนี้ตั้งแต่ไหนแต่ไรมา

ทาง โลกก็เหมือนกัน ถ้าพ่อแม่ยังอยู่ลูกเต้าก็สบายสมบูรณ์ ถ้าพ่อแม่ตายไปแล้ว ลูกเต้าก็แยกกันแตกกัน, เป็นคนรวยก็กลับเป็นคนจน, อันนี้มันเป็นธรรมชาติอยู่ในโลกนี้ มันมีอยู่แล้ว และเราก็เห็นอยู่

เมื่อครูบาอาจารย์ยังอยู่ก็สบายสมบูรณ์บริบูรณ์ ยกตัวอย่างเช่น พระพุทธเจ้าของเราเป็นต้น
เมื่อ ท่านยังทรงพระชนม์อยู่นั้นก็เรียกว่า กิจการต่าง ๆนั้นก็เรียบร้อย มันดีทุกอย่าง เมื่อปรินิพพานไปแล้วนั้นนะ ความเสื่อมมันก็เข้ามาเลย

เพราะอะไร?

ก็เพราะเราน่ะ…..เมื่อครูบาอาจารย์ยังอยู่ก็เกิดเผลอไป ประมาทไป ไม่ขะมักเขม้นในการศึกษาและประพฤติปฏิบัติ
ทาง โลกก็เหมือนกัน พ่อแม่ยังอยู่แล้วก็ปล่อยให้พ่อแม่, อาศัยพ่อแม่เราว่ายังอยู่, ตัวเราก็ไม่เป็นการเป็นงาน เมื่อพ่อแม่ตายไปแล้วก็ต้องเป็นคนจน

ฝ่ายพระเจ้าพระสงฆ์เราก็เหมือนกัน
ถ้าหากครูบาอาจารย์หนีหรือมรณภาพไปแล้วก็ชอบคลุกคลีกัน ชอบแตกสามัคคี ชอบเสื่อมเกือบทุกแห่งเลย

อัน นี้เป็นเพราะอะไร? เพราะว่าเราทั้งหลายพากันเผลอตัวอยู่ เราก็อาศัยบุญบารมีของครูบาอาจารย์อยู่, เราก็ไม่เป็นอะไร, สบาย ถ้าหากว่าครูอาจารย์เสียไปแล้ว ลูกศิษย์ชอบแตกกัน, ชอบแยกกัน, ความเห็นมันต่างกัน
องค์ที่คิดผิดก็ไปอยู่ที่แห่งหนึ่ง องค์ที่คิดถูกก็ไปอยู่แห่งหนึ่ง
ผู้ที่ไม่สบายใจหนีออกจากเพื่อนแล้วไปตั้งใหม่อีก ก่อกำเนิดขึ้นมาใหม่อีก มีบริษัทบริวารประพฤติดี ประพฤติชอบขึ้นมาอีกในกลุ่มนั้น
ชอบเป็นอย่างนี้ ปัจจุบันนี้ยังเป็นอย่างนั้น
อันนี้เพราะพวกเราทำให้บกพร่อง
บกพร่อง เมื่อครูอาจารย์ยังอยู่ เรายังอาศัยความประมาทกันอยู่ ไม่หยิบเอาข้อวัตรปฎิบัติอันที่ท่านประพฤติปฏิบัติมานั้นยกเข้ามาใส่ใจของ เรา จะประพฤติปฏิบัติตามอย่างนั้นไม่ค่อยมี

แม้แต่ครั้งพุทธกาลก็เหมือนกันเห็นไหม?
พระภิกษุผู้เฒ่านั่นไงล่ะ…..สุภัททะภิกขุนั่น พระมหากัสสปะมาจากปาวาร มาถามปริพาชกว่า

“พระพทุธเจ้า ของเรายังสบายดีอยู่หรือเปล่า ?”
“พระ พุทธเจ้า ปรินิพพานไป ๗ วันเสียแล้ว”

พระทั้งหลายที่ยังมีกิเลสหนา ปัญญาหยาบ ยังไม่บรรลุมรรคผลนิพพานก็น้อยใจ ร้องไห้ครวญคราง หลาย ๆ อย่าง

ผู้ถึงธรรมะก็เห็นว่า “พระพุทธเจ้าของเราปรินิพพานไปแล้ว ไปดีแล้วหนอ”

ผู้ที่มีกิเลสมาก อย่างเช่นสุภัททะพูดว่า
“ท่าน จะร้องไห้ทำไม ? พระพุทธองค์ปรินิพพานไปแล้วก็ดีนะ เราจะได้อยู่อย่างสบายกัน เมื่อท่านยังอยู่เราจะทำอะไรก็ไม่ได้, จะพูดอะไรก็ไม่ได้, ขัดข้องทั้งนั้นแหละ, เราอยู่ลำบากใจเรา, อันนี้มันดีแล้วท่านนิพพานไปแล้วสบายเลย อยากทำอะไรก็ทำ อยากพูดอะไรก็พูด จะมามัวร้องไห้ไปทำไม?”

มันเป็นมาแต่โน้น มันเป็นอยู่อย่างนี้

ฉะนั้น อย่างไรก็ตาม ถึงครั้งพระพุทธเจ้าเราก็เอานี่ไว้ไม่ได้
แต่ ว่า..อย่างเรามีแก้วน้ำใบหนึ่ง เราพยายามรักษาให้มันดี ใช้แล้วก็เช็ดมัน เก็บมันไว้ในที่อันสมควร ระมัดระวังแก้วใบนั้น มันจะได้ใช้ไปนาน ๆ เราใช้เสร็จแล้ว คนอื่นก็จะได้ใช้ต่อไปนาน ๆ ให้มันนานเท่าที่มันจะนานได้ ถ้าหากเราใช้แก้วแตกวันละใบ….วันละใบ, กับการใช้แก้วใบหนึ่ง ๑๐ ปี มันก็ต่างกัน ดีกว่ากันไหม? มันก็เป็นอย่างนั้น

อย่างการประพฤติ ปฏิบัติมานี้ก็เหมือนกัน อย่างพวกเราอยู่ด้วยกันหลาย ๆ องค์นี้นะ ปฏบัติให้สม่ำเสมอ จะให้ดีมากสัก ๑๐ องค์เถอะ, ๑๐ องค์วัดป่าพงนี้เจริญ เหมือนคนในบ้าน ๆ หนึ่งนั่นแหละ ขนาด ๑๐๐ หลังคา มีคนดีสัก ๕๐ คน บ้านนั้นก็เจริญอันนี้จะหาสัก ๑๐ คนก็ยังยากอย่างวัดหนึ่ง อย่างนี้นะ จะหาครูบาอาจารย์ประพฤติ ปฏิบัตมานั้น มีผู้ศรัทธาจริงจัง ๕-๖ องค์มันก็ยาก มันเป็นเช่นนั้น

อย่างไรก็ตาม พวกเราทั้งหลายก็ไม่มีหน้าที่อื่นอีกแล้ว นอกจากการประพฤติดีปฏิบัติชอบเท่านั้น
เพราะ เรานี้ไม่มีอะไรแล้ว, ดูซิใครจะเอาอะไรอีกไหม? ทรัพย์สมบัติก็ไม่เอาแล้ว, ครอบครัวเราก็ไม่มีแล้ว, อะไรทุกอย่างแม้แต่การฉันก็ยังฉันมื้อเดียวเราละมาหลาย ๆ อย่างแล้ว
ไอ้สิ่งที่ว่าดีกว่านี้เราละมาเยอะ คล้ายกับที่ว่าเป็นพระนี้เราละหมดไม่มีอะไร
ไอ้สิ่งที่เขาชอบ ๆ กันนั้นนะทิ้งหมด

ก็ ตกลงว่า เราบวชมาในพุทธศาสนานี้ก็เพื่อหวังการประพฤติปฏิบัติ เพราะเราละมาแล้ว, ไม่เอาอะไรแล้ว, เราจะมาคิดอะไรอีก, จะมาเอาโลภ, จะมาเอาโกรธอีก, จะมาเอาหลงอีก, จะมาเอาอะไรต่าง ๆ ไว้ในใจของเราอีก อันนี้มันก็ไม่สมควรแล้ว

ให้เราคิดว่า เราบวชมาทำไม? เราปฏิบัติมาทำไม?
บวช มาปฏิบัติถ้าหากเราไม่ปฏิบัติก็อยู่เฉย ๆ เท่านั้นแหละ ถ้าไม่ปฏิบัติมาก็เหมือนฆราวาส ไม่เกิดประโยชน์อะไร ไม่ทำธุระหน้าที่การงานของเรามันก็เสียเพศสมณะ ผิดความมุ่งหวังมา แล้วถ้าเป็นเช่นนั้น ก็เรียกว่า เราประมาทแล้ว เราประมาทก็เรียกว่าเราตายแล้ว

อันนี้ให้เข้าใจนาน ๆ ก็พิจารณาไปเถอะ อย่าไปลืมความตาย…..ดูซิ…..ถามว่าเมื่อเราตายมีเวลาไหม?ถามทวงเราเสมอแหละ
“ตาย…..เมื่อไหร่ตาย” ถ้าเราคิดเช่นนี้ จิตใจเราจะระวังทุกวินาทีเลยทีเดียว
ความประมาทจะไม่เกิดขึ้นมาทันที เมื่อความประมาทไม่มีแล้ว สติความระลึกได้ว่าอะไรเป็นอะไรก็เกิดมาทันที
ปัญญาก็แจ่มแจ้งเห็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งชัดเจนในเวลานั้น

เรามีสติประคองอยู่ รอบรู้อยู่ทางอารมณ์ ทั้งกลางวัน และกลางคืน ทุกสิ่งสารพัด นั่นแหละก็เป็นผู้มีสติอยู่
ถ้าเป็นผู้มีสติอยู่ก็เป็นผู้สำรวม ถ้าเป็นผู้สำรวมอยู่ก็เป็นผู้ไม่ประมาท ถ้าเป็นผู้ไม่ประมาทก็เป็นผู้ปฏิบัติถูกต้องเท่านั้น
นี่เป็นหน้าที่ของเราทั้งหลาย

ฉะนั้น วันนี้ ขอพูดถวายพวกท่านทั้งหลาย ต่อไปนี้ถ้าหากว่าเราจะออกจากที่นี้ไปอยู่สาขาก็ตามจะไปอยู่ไหนก็ตาม อย่าลืมตัว, อย่าลืมตัวของตัว, คือเรายังไม่สำเร็จ, เรายังไม่เสร็จสิ้น, การงานของเรายังมีมาก ภาระของเรายังมีมาก คือข้อประพฤติปฏิบัติของเราในการละการบำเพ็ญของเรายังมีมาก, ให้เป็นห่วงไว้

พวก ท่านทั้งหลายให้ตั้งใจทุก ๆ องค์ จะอยู่ในสาขาก็ดี อยู่ในที่นี้ก็ดี ให้ท่านทรงข้อวัตรปฏิบัติเอาไว้ เพราะว่าในเวลานี้ พวกเราทั้งหลาย รวมกันมากแล้ว หลายสาขาแล้ว ต้องให้ท่านพยายาม

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต่างสาขาต่างมีกำเนิดจากวัดป่าพง จะถือว่าวัดป่าพงเป็นพ่อแม่ เป็นครูอาจารย์ เป็นเยี่ยงอย่างของสาขาเหล่านั้นก็ได้

พระเณร, ครูบาอาจารย์ทุกองค์ซึ่งอยู่ประจำวัดป่าพงนี้พยายามให้เป็นแบบอย่าง เป็นครูอาจารย์ของสาขาทั้งหลายเหล่านั้น ให้เข้มแข็งในการประพฤติปฏิบัติตามหน้าที่ของสมณะ พวกเราทั้งหลายต่อไป”

……………………………………
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารแปลกฉบับที่ 650
วันที่9 สิงหาคม 2531

แชร์ :

ความคิดเห็น

** โปรดแสดงความคิดเห็นอย่างมีวิจารณญาน