3/ นาคาธิบดีสีสัตตนาคบาดาล

การปรากฎตัวของนาคในศาสนาพราหมณ์ หรือก่อนหน้านั้นในยุคพระเวทที่มีคัมภีร์ยชุรเวท และอาถรรพเวท กล่าวถึง จนแม้คัมภีร์เก่าแก่ที่สุดคือ ฤคเวท ล้วนเป็นเครื่องยืนยันว่าความเชื่อในเรื่องพญานาคนั้นมีมาก่อนพระพุทธศาสนา

แม้คัมภีร์เหล่านี้จะยังไม่เอ่ยคำว่า “นาค” หากแต่ใช้คำ “อหิ” ซึ่งแปลว่า งูใหญ่
บรรดาเหล่านักวิชาการยังคงเชื่อว่ามีความหมายเป็นอันเดียวกัน

คำว่า “นาค” เพิ่งจะปรากฏเป็นครั้งแรกในคัมภีร์ศตปถะพราหมณะ และจากนั้นก็ใช้คำว่า “นาค” เรื่อยมาจนบัดนี้

เมื่อจะพูดถึงพญานาคในเชิงความเชื่อ จะต้องลืมพญานาคในเชิงสัญลักษณ์

ไม่เช่นนั้นจะพูดกันไม่รู้เรื่อง

เรียกว่าการพูดเกี่ยวกับความเชื่อกับคนที่มีความเชื่อเดียวกันหรือในแนวทางเดียวกัน จะพูดกันรู้เรื่องง่ายที่สุด

การศึกษาเรื่องของพญานาคในเชิงความเชื่อจะเห็นว่า นอกจากพญานาคจะมีอยู่ก่อนพระพุทธศาสนาอุบัติขึ้นแล้ว ย่อมต้องแสดงว่ามีมาก่อนยุคพระเวทอุบัติขึ้นอีกด้วย

ได้มีการพบหลัก ฐานเก่าแก่ที่สุดก่อนประวัติศาสตร์ ในภาชนะดินเผาของคนบ้านเชียง เป็นรูปเขียนสีที่เป็นภาพงู(นาค)อยู่มากมาย ทำให้เชื่อว่าคนบ้านเชียงในยุคสมัยนั้นรู้จักนับถือพญานาค
ซึ่งคนบ้านเชียงในยุคนั้นก็คงจะยังไม่มีศาสนาให้นับถือ
แต่ก็มีลัทธิบูชาพญานาคกันแล้ว

อะไรเป็นเหตุให้คนบ้านเชียงเชื่อถือและบูชาพญานาค
ย่อมเป็นคำถามเดียวกันที่จะถามว่า
ทำไมชาวอะบอริจินที่เป็นชนเผ่าดั้งเดิมของทวีปออสเตรเลียจึงนับถืองู (พญานาค) เหมือนกับคนลาวทั้งประเทศ
ทั้งๆที่ 2 ชาติพันธ์นี้ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกัน
แต่กลับเชื่อถือและนับถือในสิ่งเดียวกัน

ความเชื่อในเรื่องพญานาคมีปรากฏอยู่มากมาย ทั้งในและนอกศาสนา

เป็นเรื่องน่าคิดว่าทำไมคนเหล่านี้ ที่มีสถานะและสังคมแตกต่างกัน จึงนับถือในสิ่งเดียวกันมานานแสนนานจนแม้ปัจจุบันนี้

ว่ากันโดยมากแล้ว เรื่องราวของพญานาคมักปรากฏอยู่ในลักษณะของ myth
ซึ่งก็คือ วรรณกรรมปรำปรา, เทพนิยาย ,นิทานโบราณ, ตำนาน หรือแม้แต่ศาสนตำนาน หรือศาสนนิทาน ซึ่งเป็นเรื่องที่ปลงใจเชื่อได้ยาก

ถ้าจะวิเคราะห์ myth ของพญานาคแล้ว ก็จะต้องทำใจให้เป็นกลาง ๆ จึงจะเห็นว่าใน myth ของพญานาคหรือของอะไรก็ตาม ย่อมมีทั้งสิ่งที่เชื่อได้และเชื่อไม่ได้ปนกันอยู่
คือมีทั้งเรื่องจริงและไม่จริงอยู่ด้วยกัน

ผมจะยกตัวอย่างการเกิด myth สักเล็กน้อย
อย่างเช่น หลวงปู่รูปหนึ่งเล่าว่า “อาตมามีนิมิตว่าได้ลงไปในเมืองบาดาล ฯลฯ”
ผู้ที่ได้ฟังก็จะไปเล่าต่อว่า “หลวงปู่เล่าว่าได้ถอดจิตลงไปเมืองบาดาล”
ต่อมาก็มีผู้เล่าต่อไปอีก “หลวงปู่ท่านลงไปเมืองบาดาล (ด้วยตนเอง)”
สุดท้ายเรื่องหลวงปู่นิมิต (ฝัน) ก็จะกลายเป็นความมหัศจรรย์ที่แสนพิสดารจนถึงขั้นเชื่อกันไม่ได้

ทั้งหมดนี้เกิดด้วยความเคารพนับถือในตัวหลวงปู่
รวมทั้งเรื่องนิมิตของหลวงปู่ที่คลาดเคลื่อนไปก็ด้วยความเคารพเหมือนกัน

ดังนั้นเรื่องของพญานาคใน myth ต่างๆ หรือในพระไตรปิฎก ก็คงจะเป็นในลักษณะนี้

อย่างเช่นในคราวพระพุทธองค์เสด็จไปดาวดึงส์ แล้วนันโทนาคราชมาขวางทางไว้นั้น
พระไตรปิฎกกล่าวว่า เสด็จเหาะไปพร้อมเหล่าอรหันตสาวก 500 รูป
ซึ่งข้อเท็จจริงพระพุทธองค์คงไม่ได้เหาะ
แต่ผู้จารึกพระไตรปิฎก จารึกด้วยความเคารพในพระพุทธองค์ เรื่องจึงกลายเป็นเหาะไปอย่างนี้

ส่วนการเสด็จไปโดยวิธีใดนั้น ผมก็ไม่อาจทราบได้ และไม่สามารถวิจารณ์ แต่ผมเชื่อว่าไม่ใช่ทรงเหาะไปอย่างแน่นอน

เรื่องเหาะของพระพุทธองค์มีปรากฏมากมายในหลาย myth เช่นใน “ตำนานพระเจ้าเลียบโลก” ซึ่งเป็นตำนานที่เกี่ยวข้องกับพญานาค และเชื่อว่าเป็นหัวใจของตำนานอุรังคนิทาน ทำให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างพระพุทธองค์กับสถานที่ต่างๆกับพญานาคในลุ่มน้ำ โขง เป็นเหตุให้เกิดศาสนสถานสำคัญหลายแห่งตลอดลุ่มน้ำโขง

เรื่องมีอยู่ว่า สมัยนั้นพระพุทธองค์ประทับอยู่เชตวันมหาวิหาร (วัดแห่งแรกในพุทธศาสนา)
ทรงพิจารณาถึงพุทธประเพณีโบราณว่า
เมื่อเสด็จปรินิพพานแล้ว บรรดาสาวกมักจะนำเอาพระบรมสารีริกธาตุไปประดิษฐานยังที่ต่างๆกันตามความ เหมาะสม พระองค์ทรงพิจารณามาทางภูมิภาคของลุ่มน้ำโขงนี้ จึงเสด็จพร้อมด้วยพระอานนท์และคณะพุทธสาวกอีกจำนวนหนึ่ง

พูดแบบชาวบ้านก็คือ มาสำรวจหาสถานที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุนั่นแหละครับ

เมื่อเสด็จถึงภูเขาหลวงริมน้ำบังพวน พญาปัพพารนาคได้มาถวายภัตตาหาร และภายหลังที่นี่ก็กลายเป็นพระธาตุบังพวนประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ (พระธาตุหัวเหน่า)
ต่อมาทรงเสด็จยังแคว้นศรีโคตบูรณ์ (จังหวัดนครพนม)
ทรงรับบาตรที่ภูกำพร้า หรือดอยกัปปนคีรีแล้วทรงมีพุทธทำนายว่า ต่อไปที่นี่จะเป็นที่ประดิษฐานพระอุรังคธาตุของพระองค์
ซึ่งก็คือ พระธาตุพนมเดี๋ยวนี้
หลังจากนั้นเสด็จไปภูกูเวียน หรือภูพานในเขตจังหวัดอุดรธานี เพื่อเทศน์โปรดพญานาคทั้งหลายให้อยู่ในศีลในธรรม ทรงประทับรอยพระบาทไว้ที่ภูกูเวียนใกล้ปากถ้ำสุวรรณนาค ที่หนองบัวบานให้แก่พุทโธปาปนาคอีกแห่ง และที่บนแผ่นหินโพนบกให้แก่นาคทั้งหลาย
ต่อจากนั้นเสด็จไปที่ดอยนันทกัง ฮี ซึ่งพญาสีสัตตนาคทูลขอพระองค์ให้ทรงย่ำรอยพระบาทไว้ และพระองค์ทรงมีพุทธทำนายว่าในภายภาคหน้าที่นี่จะกลายเป็นเมืองชื่อว่าเมือง ศรีสัตตนาค หลังจากนั้นเสด็จกลับไปปรินิพพานที่เมืองกุสินาราย

ตำนานนี้กล่าวว่า เสด็จมาทางอากาศ ซึ่งก็คือเหาะมานั่นเอง
โดยข้อเท็จจริงแล้วคงไม่ได้เหาะ แต่จะเสด็จโดยวิธีใดไม่ทราบเหมือนกัน

เกี่ยวกับการที่ทรงประทับรอยพระพุทธบาทให้แก่พญานาคนั้น ใช่จะมีแต่ในตำนาน
ในพระไตรปิฎกก็มีกล่าวถึงคือ
ครั้งที่พระพุทธองค์เสด็จกลับจากการแสดงธรรมในพิภพของพญานาคที่แม่น้ำนัม มทานที แคว้นทักษิณาบท ประเทศอินเดีย พญานาคได้ทูลขอให้พระองค์ประทับรอยพระบาทไว้ที่ริมฝั่งนัมมทานที
รอยพระบาทนี้เป็นที่เคารพสักการะของเหล่าพญานาคทั้งหลาย ตลอดจนสรรพสัตว์ทั้งหลาย

เหตุการณ์นี้ในพุทธประวัติกล่าวว่าป็นพรรษาเดียวกันกับที่พระพุทธองค์เสด็จโปรดพระมารดาที่ดาวดึงส์ และทรงจำพรรษาอยู่ที่นั่น ครั้นออกพรรษาแล้วจึงเสด็จไปพิภพพญานาค เพื่อแสดงธรรมและประทับรอยพระบาทไว้
ชาวพุทธทั้งหลายต่างรู้และเข้าใจดีว่าวันนั้นคือวันพระเจ้าเปิดโลก ซึ่งเป็นวันที่เหล่าพญานาคแสดงความยินดีด้วยการแสดงฤทธิ์เนรมิตลูกไฟต่างธูป เทียน
จนเกิดความสว่างไสวช่วงโชติชัชวาล
เป็นการบูชาพระพุทธองค์
นี่กระมังที่เป็นต้นเหตุของการเรียกลูกไฟที่เกิดขึ้นในวัน15ค่ำ เดือน11(วันออกพรรษา)ในลำน้ำโขงจังหวัดหนองคายว่า บั้งไฟพญานาค
และหากบั้งไฟพญานาคมีความเกี่ยวข้องกับพุทธประวัติตอนนี้
ก็ยิ่งทำให้เห็นว่าเรื่องราวต่างๆในตำนาน หรือนิทานปรำปราใช่จะไร้ความจริงไปทั้งหมด

นักมานุษยวิทยาคนหนึ่งชื่อว่า Malinowski ได้ให้ทัศนะว่า
“วรรณกรรมปรัมปรา (myth) ไม่ได้เป็นแค่เรื่องเล่าที่ไม่มีแก่นความจริง แต่มาจากสิ่งที่มีอยู่จริง”
ทำให้ต้องคิดว่า พญานาคที่ปรากฏอยู่ในที่ต่างๆทั่วโลก จะมีจริงหรือไม่
แม้เรื่องเล่าที่ได้ฟังนั้นจะไม่ชวนให้เชื่อว่าพญานาคมีจริง
ก็จะต้องยับยั้งชั่งใจไว้ก่อนว่าพญานาคอาจมีจริง

ดังนั้นการอ่านตำนานหรือนิทานปรำปรา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร ขอให้เปิดใจกว้างเหมือน Malinowski ก็จะทำให้การอ่านการฟังสนุกขึ้น และเข้าใจถึงแก่นแท้ของตำนานง่ายขึ้น

ต่อไปนี้เราจะมาดูในเรื่องของวรรณกรรมโบราณในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพญานาคที่มีความสัมพันธ์กับภูมิภาค 2 ฝั่งโขง รวมไปถึงพงศาวดารกำเนิดชนชาติลาวที่เชื่อว่าชนชาติลาว มาจากพญานาค
ขอขอบคุณท่านผู้หนึ่งซึ่งได้มีมานะรวบรวม myth ของพญานาคเอาไว้จนง่ายแก่การค้นคว้า
ท่านผู้นี้เป็นใครผมยังไม่ทราบชื่อ
เอาไว้อ่านงานวิทยานิพนธ์หรือวิจัยของท่านไปเรื่อยๆจนพบว่า ท่านชื่อเสียงเรียงไร จะเอามากล่าวอีกทีหลัง

โหมโรงด้วยบทประพันธ์ร้อยกรองของท่านกวีศรีสยาม เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เสียก่อน

“ล้านช้าง ล้านนา”
สองมหาอาณาจักรศักดิ์สิทธิ์
สองนาคเนรมิตเป็นลำโขง
หนึ่งศรีสตนาคอันจรรโลง
สองหุตนาคโยงแผ่นดินดอน
คือศรีสตนาคคนหุต
เช่นขุดควักแดนแผ่นสิงขร
เป็นสายน้ำตำนานแลนาคร
อันกระฉ่อนเลื่องชื่อลือล้านช้าง
บังเกิดโยนกนาคนคร
สิงหนวัติบวรเวียงกว้าง
ปู่เจ้าลาวจกแต่ก่อนปาง
จวบหิรัญเงินยางสว่างเวียง
แลสุวรรณโคมคำตำนานท่า
เชื่อมล้านนาล้านช้างเป็นอย่างเยี่ยง
มีมหาอาณาจักรแห่งเวียงเชียง
ส่วยเสบียงเลี้ยงฟ้าเลี้ยงแผ่นดิน
สองมหาอาณาจักรศักดิ์สิทธิ์
อารยธรรมสัมฤทธิ์ทั้งศาสตร์ศิลป์
หล่อหลอมยุคทองของธรณิน
เถลิงถิ่นล้านนาล้านช้างนิรันดร์”

เพื่อขยายความเรื่องราวของการกำเนิดบ้านเมือง2ฝั่งโขง คือล้านช้างล้านนา ก็จะได้นำตำนานสุวรรณโคมคำมาเล่าโดยย่อ พอเป็นที่เข้าใจดังนี้
เดิมพญาศรีสัตตนาคราช และพญาสุตตนาค เป็นสหายกัน อาศัยอยู่ในหนองหลวงด้วยกัน วันหนึ่งขัดใจกันด้วยเรื่องการแบ่งปันอาหารจนระงับโทสะไม่อยู่ ลุกขึ้นต่อสู้กันจนในที่สุดก็อยู่ร่วมกันไม่ได้

พญาศรีสัตตนาคคุ้ยควักแผ่นดินลงไปทางใต้ จนเกิดร่องทางคุ้ยควักเป็นแม่น้ำชุลนที ซึ่งคือแม่น้ำโขงเดี๋ยวนี้
พญาศรีสัตตนาคและบริวาร ได้อพยพลงมาทางนี้ จนได้มีโอกาสช่วยเหลือรักษาชีวิตเจ้าสุวรรณทวารกุมาร ที่ถูกแกล้งลอยแพไปตามลำน้ำให้กลับคืนสู่ท่าเสาโคมทอง
แล้วช่วยเจ้าสุวรรณทวารกุมาร ทั้งบ้านเมืองที่นั่น คือ เมืองสุวรรณโคมคำจนสำเร็จ

สมัยต่อมา ธิดาพญานาค3พี่น้องได้ขึ้นมาจากพิภพพญานาคมาเที่ยวเล่นในไร่ของมานพหนุ่มผู้ หนึ่ง พอเที่ยวเล่นจนเป็นที่พอใจก็กลับพิภพพญานาค
แต่บิดาพญานาคได้บัญชาให้ธิดาทั้ง3กลับคืนเมืองมนุษย์
ให้ไปช่วยมานพหนุ่มผู้นั้น โดยการเนรมิตเรือสินค้าไปทำการค้าขายกับเมืองสุวรรณโคมคำ
ทว่าเจ้าเมืองสุวรรณโคมคำกลับไม่ตั้งอยู่ในธรรม กลั่นแกล้งมานพหนุ่ม จนเป็นเหตุให้ธิดาพญานาคกลับไปฟ้องพญานาคผู้เป็นบิดาที่บังเกิดโทสะอย่าง ระงับไม่ได้ สั่งการให้บริวารพญานาคขึ้นมาพิภพมนุษย์จู่โจมทำลายเมืองสุวรรณโคมคำจนสาป สูญไป (จมน้ำ)

ตำนานสุวรรณโคมคำได้ชื่อว่าเป็นการแสดงให้เห็นว่า พญานาคกลุ่มแรกที่อพยพมายังแดนล้านช้างล้านนาคือ พญาสีสัตตนาคราช นั่นเอง

ส่วนตำนานสังหนวัติกุมาร ได้แสดงเหตุการณ์เกี่ยวเนื่องกับตำนานสุวรรณโคมคำ คือ เป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องอย่างเหมาะเจาะ

กำเนิดเมืองสิงหนวัตินคร เกิดด้วยพญานาคชื่อ พันธุนาคราช
เนรมิต ตนเองเป็นพราหมณ์เข้าไปชี้แนะเจ้าสิงหนวัติกุมาร ผู้เป็นราชบุตรของกษัตริย์ฮ่อแห่งตระกูลไทยเมือง ชื่อ เทวกาล ให้ตั้งบ้านเมืองที่ริมฝั่งแม่น้ำชลนที แล้วพญานาคได้แสดงฤทธิ์ขุดคูรอบเมืองกว้าง 3000 วาโดยรอบทุกด้าน แล้วตั้งชื่อเมืองเป็นอนุสรณ์ระหว่างพญานาคกับมนุษย์ว่า “เมืองนาคพันธุสิงหนวตินคร”
ซึ่งต่อมาภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น “โยนกนครไชยบุรีราชธานีศรีช้างแสน”

สองตำนานนี้จะว่าไปแล้วเท่ากับเป็นการแสดงกำเนิดแผ่นดินล้านนา (ภาคเหนือของประเทศไทย)

ทีนี้มาดูอุรังคธาตุนิทาน ซึ่งเป็นเอกสารตำนานแสดงการเกิดอาณาจักรล้านช้าง ซึ่งมีเรื่องราวเป็นอันเดียวกันกับตำนานสุวรรณโคมคำ หากแต่แตกต่างที่เป็นพญานาคคนละตน

อุรังคธาตุนิทานแสดงเรื่องราวของพญานาคอย่างละเอียดและซับซ้อนซ่อนเงื่อนมากกว่าตำนานสุวรรณโคมคำแบบเทียบกันไม่ได้
อุรังคธาตุนิทานถือเป็นเอกสารตำนานเก่าที่ค่อนข้างสมบูรณ์
คือแสดงทั้งเรื่อง Myth และประวัติศาสตร์ของตัวบุคคลที่มีอยู่จริงไปด้วยกัน
ผู้เรียบเรียงอุรังคธาตุ คือ พระยาศรีไชยชมพู และคัดลอกต่อมาโดย อาชญาเจ้าอุปราชใน พ.ศ. 2404 ต้นฉบับแท้ดั้งเดิมปัจจุบันเก็บไว้ที่ สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร คือ เก็บไว้ที่กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก ใครสนใจไปขอดูและค้นคว้าได้

อุรังคธาตุนิทาน กล่าวถึงกำเนิดล้านช้าง ล้านนา ไว้ว่า
“หนอง แส”เป็นสถานที่อยู่ของเหล่าพญานาคจำนวนมาก โดยมีพญานาค2ตน ชื่อว่า พินทโยนกวติ กับ ธนะมูลนาค เป็นสหายกัน ต่อมาทะเลาะกันเรื่องแบ่งปันอาหาร ทำให้ธนะมูลนาคอพยพลงไปทางใต้ โดยขุดคุ้ยควักแผ่นดินจนเกิดแม่น้ำมูลนที (แม่น้ำมูลทุกวันนี้) ส่วนแม่น้ำชี ก็เกิดจากการคุ้ยควักของชีวายนาค ผู้เป็นหลาน
แม่น้ำมูลกับแม่น้ำชี ก็มีความสัมพันธ์กันคือ ชีไหลลงมูลที่จังหวัดอุบลฯ ดูไปก็คล้ายว่า คุ้ยควักแผ่นดินมาด้วยกันแล้วแยกออกจากกันที่อุบลฯ

เมื่อธนะมูลนาค อพยพหนีมาทางใต้แล้ว พินทโยนกวตินาคก็คุ้ยควักแผ่นดินไปทางตรงข้ามคือ ไปทางเหนือ โดยออกไปทางเมืองเชียงใหม่ เกิดทางนั้นว่า แม่น้ำพิง (ปิง) ส่วนวัง ยม และน่าน ตำนานไม่ได้กล่าวถึง

จึงคาดว่าจะเกิดจากลูกหลานบริวารของพินทโยนกวตินาคคุ้ยควักไปก็เป็นได้ เพราะว่ามีความเกี่ยวเนื่องกัน

คู่กรณี2ตนหนีจากหนองแสไปแล้ว ไม่นานหนองแสก็ขุ่นคลั่ก ทำให้เหล่านาคที่เหลือทนอยู่หนองแสไม่ได้
จึงอพยพหนีออกไปอีกเป็นรุ่นที่ 2 ทำให้เกิดสถานที่สำคัญมากมาย
สุวรรณนาคหนีไปอยู่ปู่เวียน (ภูเวียน, ภูพาน) พุทโธปาปนาค ไปอยู่หนองบัวบาน ปัพพารนาค ไปอยู่ภูเขาหลวง สุกขรนาค ไปอยู่เวินหลอด หัตถศรีสัตตนาค อยู่ดอยนันทกังรี และเหล่าพญาเงือก งู ชั้นบริวารไปอยู่แม่น้ำงึม

ทั้งหมดนี้เป็นเหตุการณ์ที่แสดงการกำเนิดบ้านเมืองและสถานที่สำคัญ2ฝั่งโขง ทั้งล้านนาและล้านช้าง โดยมีเหตุกำเนิดมาจากพญานาค

เรื่องของนาคอพยพลงมาทางใต้นั้นก็มาพ้องกับตำนานพระเจ้าเลียบโลกที่ได้กล่าวไปแล้ว ทำให้เป็นที่น่าสังเกตุว่าแต่ละตำนาน (Myth) มีความสัมพันธ์กันอย่างน่าแปลกใจ

เนื้อความในตำนานนี้ยังกล่าวถึงกำเนิดเมืองเวียงจันทน์ เมืองหลวงของลาวทุกวันนี้ไว้ด้วย
ว่าเกิดจากสุวรรณนาคและบริวารช่วยสร้างเมืองเวียงจันทน์ เนรมิตสมบัติ ปราสาท สระน้ำ โรงข้าว และกำแพงรอบพระนคร ทั้งยังแต่งตั้งพญานาคทั้ง 9 รักษาบ้านเมืองไว้
ตำนานนี้ได้ไปพ้องกับนิทานพื้นเมืองของชาวบ้านสีธานใต้และชาวเวียงจันทน์
โดยมีการเล่าสืบต่อกันมาว่า
สมัยก่อนเมืองเวียงจันทน์มีความผูกพันกับพญานาคเป็นอันมาก ถึงกับกล่าวว่า “แผ่นดินเป็นของมนุษย์ แม่น้ำเป็นของนาค” โดยเชื่อว่ามีเมืองบาดาลของนาคซ้อนกันอยู่กับเมืองเวียงจันทน์

เมืองบาดาลนั้นปกครองโดยพญานาค7หัว (พญาสีสัตตนาคราช 7 เศียร) ผู้มีอิทธิฤทธิ์และชีวิตวนเวียนอยู่กับคน ระหว่างเมืองนาคและเมืองมนุษย์

2 เมืองนี้มีเส้นทางไปมาหาสู่กัน (รูพญานาค)
เมื่อมนุษย์มีเหตุร้าย (ชาวเวียงจันทน์) จะตีกลอง “หมากแค้ง” เป็นสัญญาณเรียกพญานาคมาช่วย

เพราะเหตุนี้เมืองเวียงจันทน์จึงไม่เคยแพ้สงครามและอยู่รอดปลอดภัยตลอดมา เพราะอำนาจพญานาค

ต่อมาพวกคนสยาม (มีวิชาอาคมดี) ปลอมตัวเป็นพระนุ่งผ้าขาวมาจำศีลอยู่ป่าหลายแห่งที่นครเวียงจันทน์ ได้แอบลอบถมรูนาคและทำลายกลองหมากแค้งทิ้ง จึงเป็นเหตุให้ชาวเวียงจันทน์เรียกพญานาคมาช่วยไม่ได้ เวียงจันทน์จึงถูกโจมตีทำลายกลายเป็นเมืองขึ้นของสยาม

นิทาน “พื้นเวียงจันทน์” นี้เท่ากับตอกย้ำตำนานว่า มีพญานาครักษาเมืองเวียงจันทน์จริง

อย่าว่าแต่ชาวนครเวียงจันทน์จะเชื่อถือเรื่องพญานาครักษาเมืองเลย
แม้พงศาวดารสกลนครก็มีเรื่องเกี่ยวข้องกับพญานาคเหมือนกัน
คือในสมัยของพระยาสุรอุทก เมืองหนองหารถูกทำลายลงโดยธนะมูลนาคซึ่งเป็นผู้รักษาแม่น้ำมูล ที่เป็นอาณาเขตระหว่างเมืองหนองหารกับเมืองอิน ทปัฐนคร
เมื่อเมืองอินทปฐนครล่มสลายลง สุวรรณนาคได้อภิเษกเจ้าอภิงคาร เป็นเจ้าเมืองใหม่ และได้นามตามพญานาคว่า พระยาสุวรรณภิงคาร

สุวรรณนาคนี้คือ พญานาคผู้รักษารอยพระพุทธบาทที่พระพุทธองค์ทรงประทับไว้ที่บริเวณริมหนองหารนั่นเอง

พงศาวดารล้านช้าง ได้กล่าวถึงฤๅษีพี่น้องแปงเมืองล้านช้างขึ้นมา
โดยประกอบด้วยเมืองเชียงทอง(เอาต้นทองเป็นนิมิต) เมืองเชียงคง(เอาต้นคงเป็นนิมิต)
เมืองล้านช้าง(เอาภูมิช้างเป็นนิมิต) และศรีสัตตนาคนหุต(เอาพญาศรีสัตตนาคราชเป็นนิมิต)
แล้วเรียกว่า “ศรีสัตตนาคนหุตราชธานีศรีเชียงคงเชียงทอง” ซึ่งปรากฏเรื่องราวของนาคพ้องกันกับอุรังคนิทาน

เรื่องราวของพญานาคใน Myth ต่าง ๆ มีปรากฏมากมายหลายยุคสมัย เป็นเหตุให้น่าจะตั้งข้อสังเกตุว่า พญานาคมีความสัมพันธ์กับมนุษย์ในภูมิภาคนี้
จนเกิดเป็นความเชื่อถือและนับถือพญานาคนั้น
น่าจะมีเหตุมาจากพญานาคมีจริง
จึงมีบทบาทเกี่ยวข้องกับผู้คนทั้งในแง่การสร้างบ้านแปงเมือง และช่วยเหลือผู้คนมาแต่โบราณกาล
จะมีเหตุลอยๆด้วยการโฆษณาชวนเชื่อให้ผู้คนทุกชาติภาษามานับถือและเชื่อถือพญานาคคงจะ
ไม่ได้

พฤติกรรมของพญานาคในอดีตที่แสดงออกไปถึงการมีส่วนร่วมกับสังคมมนุษย์ ทั้งในแง่การปกครองและการป้องกันภัยอันตรายให้ผู้คนและบ้านเมืองนั้น
ปัจจุบันพฤติกรรมของพญานาคได้เปลี่ยนไป
กลายมาเป็นผู้พิทักษ์ศาสนา สถานที่สำคัญ และศาสนสถานมากขึ้น
ความเกี่ยวข้องอย่างในอดีตลดน้อยลง

ต่อไปจะได้พูดถึงบทบาทของพญานาคในส่วนที่เกี่ยวข้องกับศาสนสถาน และสถานที่สำคัญ
ซึ่งจะยังคงใช้เวลาอยู่กับพญานาคอีกพอสมควร ด้วยมีข้อมูลมากมายที่ยังหวังจะให้ผู้อ่านทำความเข้าใจและใกล้ชิดพญานาคมากขึ้น
ผมไม่หวังอะไร แค่หวังจะทำอะไรสักอย่างเพื่อระลึกถึงคุณของผู้พิทักษ์พระศาสนาเท่านั้นเอง
(อ่านต่อตอนที่ 4)

แชร์ :

ความคิดเห็น

** โปรดแสดงความคิดเห็นอย่างมีวิจารณญาน