การเดินทางของผงโสฬสมหาพรหม ของท่านพระครูสีทัตต์ สุวรรณมาโจ

บ่ายวันหนึ่งที่ท่าพระจันทร์

ในราว 4 ปีมาแล้ว

เป็นวันบ่ายที่น่าสนใจ เพราะว่าผมได้ยินเรื่องที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน

เรื่องที่ผมได้ยินนี้ ผมไม่รับรองข้อเท็จจริงทั้งหมด ขอยกเครดิตให้กับคุณอาคม ทรงสถาพรเจริญ ซึ่งเป็นผู้เล่าให้ผมฟัง

ตอนนั้นผมเพิ่งรู้จักคุณอาคมใหม่ ๆ โดยการแนะนำของคุณเง็ก บางลำภู โต๊ะที่เรานั่งคุยกันคือโต๊ะรับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่มีอยู่โต๊ะเดียว และอยู่ด้านหลังแผงพระเครื่องของคุณเง็ก โต๊ะแห่งนี้เป็นที่พบปะชุมนุมย่อย ๆ ของเพื่อนพ้องน้องพี่กลุ่มหนึ่ง บางโอกาสอาจารย์อนันต์ สวัสดิสวนีย์ ก็มาเยือน และมีอาจารย์อ๊อด ผู้มีศักดิ์เป็นหลานของพณฯ จอมพล สฤษดิ์ ธนรัชต์ มาที่นี่ในฐานะแขกประจำ (ในสมัยนั้น)

คุณอาคมได้เล่าเรื่องพระเครื่ององค์หนึ่งโดยเรียกว่า “ท่าดอกแก้ว” ของหลวงปู่สนธ์ จังหวัดนครพนม ซึ่งผมไม่เคยรู้จักทั้ง “ท่าดอกแก้ว” และ “หลวงปู่สนธ์” แต่รับว่าชื่อท่าดอกแก้วนั้นจับใจผมมาก ผมชอบชื่อนี้ขึ้นมาอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย

พระอะไรทำไมชื่อไพเราะจัง

เรื่องที่คุณอาคมเล่าในครั้งแรกมีว่า ชายคนหนึ่งได้รับท่าดอกแก้วจากหลวงปู่สนธ์แล้วก็เก็บพระไว้ในกระเป๋าเสื้อ วันหนึ่งนั่งเรือในลำน้ำโขงก้มลงดูปลาที่ข้างเรือ พระหล่นจากกระเป๋าเสื้อตกน้ำไปต่อหน้าต่อตา

ใจหายวาบเสียดายพระ

แต่พริบตานั้น เขาเห็นพระที่จมดิ่งลงในน้ำลอยตัวขึ้นแล้วแหวกน้ำแล่นเข้าสู่ฝั่งหายลับไป

ต่อมาได้มีโอกาสกลับไปกราบหลวงปู่สนธ์อีกครั้งหนึ่ง ก็กราบเรียนเรื่องพระตกน้ำให้ท่านฟัง ท่านเดินกลับเข้าไปในห้องแล้วออกมาพร้อมกับท่าดอกแก้วองค์หนึ่งในมือ

“องค์นี้ใช่ไหม” ท่านถามและส่งพระคืนให้

ชายคนนั้นแทบไม่เชื่อในปรากฏการณ์นี้ พระตกน้ำกลับมาอยู่วัดได้อย่างไร

ท่าดอกแก้ว จึงจับใจผมขึ้นมาอีกประการหนึ่ง นอกเหนือไปจากชื่อ

คุณอาคมเล่าค้าง ๆ ไว้แล้วรับรองสรรพคุณว่าท่าดอกแก้วนี้สุดยอดจริง ๆ แม้ว่าจะไม่มีใครรู้จักก็ตาม และออกปากว่าเขายังมีอยู่บ้าง และจะมอบให้อาจารย์อนันต์หนึ่งองค์ พบกันคราวหน้าจะให้ ส่วนผมคงเพียงนึกอยากได้อยู่ในใจ แต่จะทำอย่างไรในเมื่อเพิ่งจะรู้จักคุณอาคม ไม่ทันมีความคุ้นเคยถึงกับออกปากกันได้

ภายหลังพบกันอีก ผมก็เลียบๆเคียง ๆ ถามรายละเอียดเกี่ยวกับท่าดอกแก้วจากคุณอาคม และเขาก็เล่าให้ฟังเป็นรูปร่างยิ่งขึ้นว่า ท่าดอกแก้วเป็นพระที่พ่อของเขาสร้างถวายหลวงปู่สนธ์ประมาณปี พ.ศ. 2493 ถึง 2494 โดยสร้างจากผงโสฬสมหาพรหมของหลวงปู่สีทัตต์ เพราะเหตุที่พ่อของเขาเป็นผู้สร้าง ดังนั้นท่าดอกแก้วจึงยังมีเหลืออยู่กับเขา

ผมยิ่งเกิดมีหวังจะได้ แต่ไม่รู้จะได้ดังหวังอย่างไร

คุณอาคมได้เล่าเรื่องนี้ต่อไปว่า เดิมทีท่านพระครูสีทัตต์ หรือหลวงปู่สีทัตต์นั้นเป็นศิษย์สำเร็จลุน ท่านได้ทำผงโสฬสมหาพรหมนี้ขึ้นมาแล้วมอบให้หลวงปู่สนธ์แห่งวัดท่าดอกแก้ว ผงทั้งหมดเก็บไว้ในบาตร และหลวงปู่สนธ์ก็เก็บรักษาผงนี้ไว้โดยตลอดไม่ได้ทำอะไร จนกระทั่งพ่อของคุณอาคมคือคุณปถม อาจสาครได้พบผงนี้ จึงได้นำผงโสฬสมหาพรหมมาสร้างพระควายหลวงปู่สนธ์ ทำให้เกิดท่าดอกแก้วขึ้นมา

ชื่อท่าดอกแก้ว ก็มาจากชื่อวัดนั่นแหละครับ
ต่อมาผมได้มอบพระเครื่ององค์หนึ่งให้คุณอาคมเป็นที่ระลึก เพราะว่าผมเป็นผู้สร้างเองกับมือ เป็นพระองค์เล็ก ๆ ที่ผมฝากเข้าหีบพระเครื่องของอาจารย์อนันต์เพื่อนำเข้าในอุโบสถวัดธาตุมหาชัย 1 พรรษา (พ.ศ. 2532) โดยหลวงปู่คำพัน โฆษปัญโญ เมตตาอธิษฐานจิตให้ คุณอาคมเมื่อรับพระแล้วก็คิดตอบแทนผมบ้าง จึงถามว่าเคยได้ท่าดอกแก้วหรือยัง ผมว่ายัง เขาเลยรับว่าจะมอบให้ผมองค์หนึ่งโดยจะฝากพระไว้กับอาจารย์อนันต์ ผมถึงกับดีใจจนเนื้อหัวใจเต้นตึกตึก

ยังกะรู้ว่าผมอยากได้

เมื่อผมได้พระมาแล้วก็พบกับอาจารย์อ๊อดในบ่ายวันหนึ่ง อาจารย์อ๊อดเป็นชาวนครพนม (ความจริงมุกดาหาร) เลยเอาพระให้ท่านดู ท่านเห็นเข้าก็เอะอะ

“นี่ท่าดอกแล้ว ไปเอามาจากไหน”

“คุณอาคมให้” ผมบอก

“ของหลวงปู่สนธ์” อาจารย์อ๊อดแสดงอาการว่ารู้จักดี “หลวงปู่สนธ์น่ะท่านเดินข้ามโขงได้ ท่านไม่ใช่พระธรรมดา เก็บไว้ให้ดี หายากมาก ผมไม่เห็นมาหลายสิบปีแล้ว แถมไม่เคยมีอีกด้วย”

หลวงปู่สนธ์จึงกลายมาเป็นเป้าสนใจของผมทันที

จริงรึที่ท่านถึงกับเดินข้ามแม่น้ำโขงได้
ผมบุกไปวัดท่าดอกแก้วด้วยตัวเองในเวลาต่อมา ถือพระท่าดอกแก้วติดมือไปด้วย ทุกคนในบ้านท่าดอกแก้วที่ได้เห็นท่าดอกแก้วของผมต่างแสดงอาการตื่นเต้นสนใจ และบอกเหมือนกันหมดว่า พระนี้สร้างนานแล้ว ตั้งแต่ก่อน พ.ศ. 2500 ท่านแจกให้ทหารโดยมาก ทุกวันนี้หาไม่มี ในตำบลนี้ก็ไม่มี พระสาบสูญไปไหนหมดไม่ทราบ และอนุโมทนากับผมที่ยังอุตส่าห์มีได้ บางคนก็มองโลภ ๆ แต่ไม่กล้าแอะกับผม และเมื่อสอบถามเกี่ยวกับหลวงปู่สนธ์ ทุกคนต่างยกมือพนมเป็นฝักถั่ว แซร่ซ้องสาธุการ และยืนยันกับผมว่าท่านเดินข้ามแม่น้ำโขงได้จริงและแนะนำให้ผมไปกราบสนทนากับ ท่านเจ้าอาวาสวัดท่าดอกแก้วองค์ปัจจุบัน (เสียใจที่ผมลืมชื่อของท่านไปแล้ว สมุดที่จดบันทึกไม่รู้หายไปไหน) เพราะท่านเป็นหลานหลวงปู่สนธ์ จะสามารถให้รายละเอียดเกี่ยวกับหลวงปู่สนธ์ได้มากกว่า

ต่อไปนี้จะเป็นประวัติย่อของหลวงปู่สนธ์ วัดท่าดอกแก้ว

พระครูสันธานพนมเขต (สนธ์ สุรชโย)

นามเดิม สนธ์ คงเหลา

เกิด 20 มิถุนายน 2422 ที่บ้านท่าดอกแก้ว ตำบลท่าจำปา อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม

เป็นบุตรของนายแสงและนางทุม คงเหลา มีพี่น้องร่วมอุทร 6 คน ท่านเป็นคนที่ 2

บรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุ 14 ปีที่วัดท่าดอกแก้ว โดยมีพระอาจารย์นนท์ เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2436 บวชเณรแล้วได้ศึกษาอักษรธัม ไทยน้อย ลาว และขอม กับบทสวดมนต์สูตรต่าง ๆ อยู่ในสำนักพระอาจารย์นนท์

อุปสมบทเป็นพระภิกษุเมื่ออายุ 20 ปี ในวันที่ 5 มีนาคม 2442 โดยมีพระอาจารย์ภูมี เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์นนท์เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์สม เป็นพระอนุสาวนาจารย์

เมื่อบวชพระแล้วได้ฝากตัวเป็นศิษย์พระอาจารย์สีทัตต์ ศึกษาด้านวิปัสสนาธุระที่วัดป่าอรัญญคามวาสี (ปัจจุบันคือวัดพระธาตุท่าอุเทน) ศึกษาอยู่ 1 ปีก็กราบลาพระอาจารย์สีทัตต์ไปจำพรรษาที่วัดห้วยออน แขวงเมืองบ่อสะแทน ประเทศลาว โดยอยู่กับท่านอาจารย์โสดา ซึ่งเป็นลุงของพระสนธ์เป็นเวลา 3 ปี จึงย้ายกลับมาอยู่วัดท่าดอกแก้ว และได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสวัดท่าดอกแก้วหลังจากเจ้าอาวาสองค์เดิมมรณภาพไป โดยเริ่มครองวัดท่าดอกแก้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2452 เป็นต้นมาจนกระทั่งมรณภาพในวันที่ 14 ธันวาคม 2510 เวลา 15.30 น. ที่วัดท่าดอกแก้วโดยอาการสงบสิริรวมอายุได้ 88 ปี 74 พรรษา

มีคำสดุดีของลูกศิษย์ลูกหาได้เขียนไว้ถึงท่านว่า

“หลวงพ่อพระครูสันธานพนมเขต (พระอาจารย์สนธ์) เป็นผู้ชำนาญทั้งทางปริยัติและวิปัสสนากัมมัฏฐาน เป็นผู้ทรงคุณอันสูงในทางไสยศาสตร์ ในระหว่างที่ยังมีชีวิตได้บำเพ็ญสมณธรรมช่วยเหลือเกื้อกูลแก่บุคคลโดยไม่ เลือกชั้นวรรณะ ใครมานิมนต์ไปไหนไม่ขัดข้อง เป็นที่เคารพในหมู่ประชาชนทั้งสองฝั่งโขงไทยลาว”

หลวงพ่อมีชื่อเสียงทางขับไล่ภูตผีปีศาจและคุณไสย และทุกๆวันจะมีผู้เดินทางมาขอพระเครื่อง และเครื่องรางของขลังนานาชนิดจากท่านไม่ขาด ในคราวกรณีพิพาทอินโดจีน ผ้ายันต์แคล้วคลาดของท่านมีชื่อเสียงโด่งดังมาก ทหารตำรวจหลั่งไหลไปขอแน่นขนัดวัด ท่านก็แจกคาถาและผ้ายันต์ให้อย่างทั่วถึง

“ในบริเวณวัดท่าดอกแก้วจะมีผู้คนมานั่งเฝ้ารอพบท่านอยู่มากมายไม่ขาดสาย ทุกคนมาที่นี่เพื่อกราบท่าน และขอของดีกันทั่วหน้า”

ท่านเจ้าอาวาสวัดท่าดอกแก้ว หรือวัดโสดาประดิษฐ์ องค์ปัจจุบัน เดินย่องเข้าไปในห้องพักหนึ่งแล้วกลับออกมาพร้อมด้วยรูปถ่ายหลวงปู่สนธ์ ท่านบอกว่าเป็นรูปที่พิมพ์ขึ้นในสมัยท่านยังมีชีวิตอยู่ และท่านได้ปลุกเสกอยู่ในพระอุโบสถตามลำพัง เสกแล้วก็แจก ถือว่าเป็นของดีที่ท่านปลุกเสกไว้เป็นครั้งสุดท้ายในปีสุดท้ายก่อนมรณภาพ นายชวน กิติศรีวรพันธ์ อดีต สส.นครพนม เป็นผู้พิมพ์ถวาย

พอมอบรูปให้ผมแล้วก็บอกว่า “สงสารอุตส่าห์มาตั้งไกล และอย่าไปบอกใครนะว่ารูปยังมีเหลือเก็บที่อาตมา เพราะว่ามีน้อยมาก เดี๋ยวใครต่อใครมารุมขอหมด”

สาธุหลวงพ่อ ผมบอกใคร ๆ เดี๋ยวนี้แล้วซีครับโธ่

ถ้าหากพิจารณาประวัติย่อของหลวงปู่สนธ์แล้ว จะพบความขลังของท่านปรากฏอยู่รำไรไม่ชัดเจนนัก คงจะต้องเล่าเรื่องท่านได้มาปลุกเสกพระที่วัดเทพศิรินทร์ให้ฟัง ก็เล่าตามปากของคุณอาคมนั่นแหละครับ

ดูเหมือนจะเป็นสมัยที่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ) มรณภาพใหม่ ๆ จะเป็นคราวปลุกเสกพระอะไรก็ไม่ทราบแน่ชัด ตอนนั้นอยู่ในราว พ.ศ. สองสี่เก้ากว่า บางทีจะเป็นคราวปลุกเสกพระกริ่งและพระชัยวัฒน์ของหลวงภูมินาถสนิทหรือเปล่า ไม่รู้ แต่ว่าคราวที่หลวงปู่สนธ์ลงมากรุงเทพฯ นั้น ท่านมาอย่างพระบ้านนอก ไม่มีใครรู้จักนัก ครั้นพิธีปลุกเสกพระผ่านพ้นไปแล้ว วันกลับนครพนมได้เกิดปรากฏการณ์พิเศษคือ มีพระสงฆ์ที่มาร่วมพิธีปลุกเสกพระครั้งโน้นติดตามหลวงปู่สนธ์ ไปวัดท่าดอกแก้วหลายสิบองค์ ถึงกับแน่นตู้รถไฟว่างั้นก็ได้

พระบ้านนอกรูปนี้มีอะไรดีหรือ

อีกคราวหนึ่งคุณอาคมเล่าว่า พ่อของเขาได้นำพระเครื่องของหลวงปู่สนธ์ไปให้หลวงปู่เฮี้ยง (เจ้าคุณวรพรตปัญญาจารย์ วัดป่าอรัญญิกาวาส ชลบุรี) ดู ปรากฏว่าท่านดูไม่ออก กว่าจะดูรู้เรื่องว่าหลวงปู่สนธ์ทำพระอย่างไร ปลุกเสกพระวิธีไหน ก็เสียเวลาหลายวัน ต้องกำหนดจิตเข้าในองค์พระอยู่เป็นนานจึงรู้เรื่อง พอรู้แล้วก็ออกปากยกย่องหลวงปู่สนธ์เป็นอย่างยิ่ง เสร็จแล้วก็ฝากพระของท่านเองไปให้หลวงปู่สนธ์ดูบ้าง เมื่อพระไปถึงหลวงปู่สนธ์ ท่านก็บอกทันทีเลยว่าพระองค์นี้ดีอย่างนั้นอย่างนี้ ปลุกเสกด้วยวิธีนั้นวิธีนี้ คาถาบทนั้นบทนี้ หลวงปู่เฮี้ยงถึงกับร้องทำนองว่าเขารู้เราหมด แต่กว่าเราจะรู้เขาได้นั้นผิดกันเยอะ

 

คุณอาคมได้เล่าเรื่องพ่อของเขา คือคุณปถม อาจสาคร ได้ฟังว่า ตอนนั้นราว ๆ ปี 2493 พ่อของเขาได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าสหกรณ์อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม เพิ่งย้ายไปที่นั่นใหม่ ๆ ปกติแล้วพ่อของเขาเป็นผู้ใฝ่ใจทางนี้ ไปอยู่ไหนก็แสวงหาครูบาอาจารย์เก่ง ๆเสมอ เดิมก็เป็นศิษย์ของหลวงปู่เฮี้ยง ได้วิชาความรู้ทางสร้างพระจากหลวงปู่เฮี้ยงเยอะแยะ จึงเป็นนักสร้างพระที่หาตัวจับยากคนหนึ่ง

เมื่อมาอยู่ท่าอุเทน ก็ได้ยินข่าวหลวงปู่สนธ์แล้ว แต่ว่าคงยังไม่ทันกระตือรือร้นจะไปกราบเท่าใดนัก พอดีมีพลทหารคนหนึ่ง ทำงานช่วยคุณปถมที่สหกรณ์นั้นเกิดไปมีเรื่องทะเลาะกัน ถูกยิงกระเด็นตกน้ำ กระสุนที่รัวใส่ 3 ชุด ทำเอาจุกแทบตาย แต่ว่าไม่เข้าหนังเข้าเนื้อ ปรากฏเพียงรอยแดงเป็นจ้ำทั่วทั้งตัว เสื้อผ้าที่สวมก็ขาดกระจุน พลทหารนายนี้มีตะกรุดอยู่กับตัวเพียงดอกเดียวเท่านั้น

ตะกรุดดอกเดียวที่ว่านี้คือตะกรุดเก้าแปเก้าหย้อ ทำด้วยตะกั่ว และเป็นตะกรุดของหลวงปู่สนธ์วัดท่าดอกแก้ว

ก็นี่แหละที่ทำให้คุณปถมได้ไปกราบหลวงปู่สนธ์โดยไม่ต้องลังเลอีกแล้ว

เมื่อได้พบหลวงปู่สนธ์ก็ปรากฏว่าถูกจริตนิสัยกันเป็นอย่างมาก และได้เห็นบาตรเก่าใบหนึ่งมีผ้ายันต์ปิดปากบาตรไว้จึงถามว่านั่นอะไร หลวงปู่สนธ์ตอบว่า ผงโสฬสมหาพรหมของหลวงปู่สีทัตต์ ท่านมอบไว้ให้และเก็บรักษามาอย่างนี้ตั้งนาน ไม่รู้จะทำอะไร

ในที่สุดก็มอบให้คุณปถมเอาไปสร้างพระ

ผงโสฬสมหาพรหมนี้หลวงปู่สีทัตต์ได้สร้างขึ้นสมัยอยู่ภูเขาควาย ประเทศลาว ใช้เวลาสร้างอยู่นานนับปี ท่านจะสร้างของท่านอย่างไรไม่ทราบ แต่ว่ามีตำราแสดงการสร้างผงโสฬสมหาพรหมไว้พอได้ศึกษาเป็นนัยแห่งความรู้ได้ ดังนี้

ต้องลงด้วยอักขระธัม หรือตัวธรรม (คนละแบบกับตัวขอม ตัวธรรมเป็นอักขระที่ใช้จารคัมภีร์และคาถาของคณาจารย์แถบลุ่มน้ำโขง) ต้องผูกอักขรธรรมเป็นกลยันต์ 16 มุม แต่ละมุมแบ่งออกเป็น 16 ชั้น แต่ละชั้นลงอักขระ 16 ตัว ตัวละช่อง ลงครบแล้วถือเป็น 1 ครั้ง เวลาลงก็ลงด้วยดินสอพองแล้วลบเอาผงมาใช้ หลังจากลงครั้งแรกแล้วครั้งต่อไปไม่ต้องลงอีก เพียงเอาผงลูบกระดานก็จะปรากฏเป็นตัวยันต์ขึ้นมาแล้วบลเอาผงอีก คือหมายความว่าลงด้วยมือเขียนครั้งเดียว ต่อไปไม่ต้องเขียน

เข้าทำนองถ่ายซีร็อกว่างั้นก็ได้

ผู้ที่ทำผงนี้ได้สำเร็จจะบันดาลให้เทพเทวะทั้ง 16 ชั้นฟ้า ชั้นดิน 14 บาดาล 21 ชั้นพรหม ภควพรหม จนถึงสุทธาวาสขึ้นมาอำนวยพร ผงนี้จะอุดมด้วยวาสนา บารมี ลาภสักการะ ปรารถนา สิ่งใดก็ได้ดังหวัง

คุณปถม เวลารับมอบผงโสฬสมหาพรหมจากหลวงปู่สนธ์ถึงกับมือไม้สั่น นึกไม่ถึงว่าท่านจะให้ และเมื่อรับผงมาแล้วก็ได้สร้างพระถวายหลวงปู่สนธ์ 2 รุ่น รุ่นแรกนั้นไม่มีภาพตัวอย่างให้ดู เพราะว่าหาพระไม่ได้ และพระรุ่นแรกก็ไม่ทนทานเท่าที่ควร โดยมากเปื่อยยุ่ยพังไปเอง ส่วนรุ่น 2 นั้นทำได้แข็งแรงกว่า เพราะว่าใช้วิธีเผา พระจึงแกร่งและทนทานอยู่ได้จนทุกวันนี้

พระรุ่น 2 นี่แหละครับที่ตกน้ำแล้วลอยขึ้นวิ่งสู่ฝั่งในลำน้ำโขงแล้วไปโผล่ที่วัดท่าดอกแก้ว

หลังจากสร้างพระถวายหลวงปู่สนธ์เสร็จแล้ว คุณปถมนำผงไปคืนหลวงปู่สนธ์ แต่ว่าหลวงปู่ท่านกลับบอกว่าให้เก็บไว้สร้างพระต่อไปในอนาคต ผงที่เหลือทั้งหมดจึงกลับมาอยู่ในครอบครองของคุณปถมอีกครั้ง ระหว่างนี้คุณปถมได้นำผงโสฬสมหาพรหมไปขอบารมีจากครูบาอาจารย์หลายท่าน เช่น เจ้าคุณอริยคุณาสาร (ปุสโส เส็ง) 6 เดือน พระอาจารย์วัง ฐิติสาโร แห่งภูลังกา พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร วัดป่าอุตมสมพร พระอาจารย์สิม พุทธาจาโร (ขณะพำนักที่สกลนคร) พระอาจารย์หัว วัดบ้านคำครึ่ง และหลวงพ่อสมาธิ สุดท้ายก็คือหลวงปู่จันทร์ เขมิโย หรือพระเทพสิทธาจารย์ ว้ดศรีเทพฯ นครพนม

หลวงปู่จันทร์ก็เป็นศิษย์ของหลวงปู่สีทัตต์เหมือนกัน โดยเป็นศิษย์ตั้งแต่สมัยยังเป็นเณร เคยออกธุดงค์กับหลวงปู่สีทัตต์เหมือนกัน โดยเป็นศิษย์ตั้งแต่สมัยยังเป็นเณร เคยออกธุดงค์กับหลวงปู่สีทัตต์และได้เห็นอิทธิฤทธิ์ของหลวงปู่สีทัตต์มากพอสมควร เช่นครั้งหนึ่งนั่งอยู่ในร่มไม้มีฝูงนกเกาะอยู่ข้างบน ร้องเจี๊ยวจ๊าว หลวงปู่สีทัตต์ถามเณรจันทร์ว่ารู้ไหมนกมันคุยอะไรกัน เณรจันทร์ตอบว่าไม่รู้ หลวงปู่สีทัตต์ก็ว่า มันคุยกันจะบินไปหากินทางทิศตะวันออก พอพูดจบฝูงนกก็บินไปทางทิศตะวันออกทั้งหมดจริง ๆ

“ต่อไปถ้าเณรปฏิบัติถึงขั้นแล้ว เณรจะฟังภาษานกออกเอง” หลวงปู่สีทัตต์ว่า

หลวงปู่สีทัตต์กับสามเณรจันทร์ หรือหลวงปู่จันทร์นั้น เข้าใจว่าจะเป็นญาติกัน เพราะว่ามีนามสกุลเหมือนกันคือ “สุวรรณมาโจ” และเป็นคนท่าอุเทนด้วยกัน บางทีหลวงปู่สีทัตต์จะเป็นน้าเป็นลุงหลวงปู่จันทร์ก็ได้

ตอนที่ผงโสฬสมหาพรหมไปถึงมือหลวงปู่จันทร์นั้น คุณอาคมเล่าว่าหลวงปู่จันทร์เห็นแล้วก็จำได้ ถึงกับออกปากว่าไปเอาผงนี้มาจากไหนอย่างไร และหลังจากนั้นก็แบ่งผงนี้ไว้ประมาณ 1 ชั้นปิ่นโต ผงนี้ได้นำมาสร้างพระเครื่องรุ่น 2500 ของหลวงปู่จันทร์ คือพระสมเด็จและพระนางพญา ที่คนทั่วไปรู้จักกันดีแล้วนั่นเอง

ประวัติและเรื่องราวของหลวงปู่สีทัตต์ มีปรากฏอยู่ในหนังสือประวัติพระพุทธบาทบัวบก จังหวัดอุดรธานี ใครไปนมัสการพระพุทธบาทบัวบกก็สามารถซื้อมาอ่านได้ และถ้าเป็นแฟนศักดิ์สิทธิ์อย่างแท้จริงแล้วก็จะต้องเคยอ่านประวัติหลวงปู่สีทัตต์จากที่นี่มาแล้ว ดูเหมือนว่าจะเป็นคุณเวทย์ วิทยาคม เขียน หรือไม่ก็คุณสุวิทย์ เกิดพงษ์บุญโชติ ให้ย้อนกลับไปค้นเล่มเก่า ๆ มาอ่านก็จะได้ความพิสดารแห่งประวัติท่าน ผมจะงดไม่กล่าวถึง)

คุณอาคมได้เล่าไว้อย่างน่าทึ่งและเหลือเชื่อว่า ตอนที่พ่อของเขานำผงนี้ไปถวาย พระอาจารย์ฝั้นเห็นผงแล้วก็ถึงกับก้มกราบ พระอาจารย์วังก็กราบเหมือนกัน

ผงโสฬสมหาพรหมเมื่อมาอยู่ในครอบครองของคุณปถมแล้ว คุณปถมได้นำผงนี้ไปเก็บไว้ที่วัดเทพศิรินทร์ โดยเอาไว้ในพระอุโบสถ (ว่าตามคุณอาคมนะครับ) ผงนี้ก็มีอันอยู่ในพระอุโบสถวัดเทพฯตลอดมา เพราะว่าท่านเจ้าคุณนรฯ ปลุกเสกพระในพระอุโบสถนี้เสมอ

นับได้ว่าผงนี้ยิ่งนานยิ่งขลังเป็นทวี

ถ้าจะว่าไปแล้วผงนี้ใช่จะได้สร้างแต่พระถวายหลวงปู่สนธ์ 2 รุ่น (ระหว่างปี 2493-94) แล้ว ยังได้สร้างถวายพระอาจารย์ฝั้นและพระอาจารย์สิมด้วย ทั้งของพระอาจารย์ฝั้นและพระอาจารย์สิมเป็นพระพิมพ์เดียวกัน ต่างกันที่สีของเนื้อพระ คือของพระอาจารย์ฝั้นสีอิฐเผาออกแดงอมส้ม ส่วนของพระอาจารย์สิมสีดำ และของพระอาจารย์สิมองค์ใหญ่กว่าพระอาจารย์ฝั้นเล็กน้อย ด้านหลังพระจะมีลายผ้าปรากฏ แต่ของพระอาจารย์ฝั้นหลังเรียบไม่มีลายอะไร

ไล่กันจริง ๆ ก็น่าเป็นดังนี้ คือสร้างถวายหลวงปู่สนธ์ก่อน ต่อมาก็หลวงปู่จันทร์ วัดศรีเทพฯ สร้างเป็นพระสมเด็จ 3 พิมพ์ พระนางพญา 3 พิมพ์ใน พ.ศ. 2500 ต่อมาก็เป็นของพระอาจารย์ฝั้นและพระอาจารย์สิมตามลำดับ สุดท้ายก็เป็นของหลวงปู่ทิม อิสริโก หรือพระครูภาวนาภิรัต วัดละหารไร่ จังหวัดระยอง

หลวงปู่สีทัตต์ ดูเหมือนว่าวาระสุดท้ายของท่านยังเป็นความลับดำมืด ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าท่านมรณภาพเมื่อไหร่ที่ไหน คาดว่าคงทิ้งสังขารอยู่บนภูเขาควายอันลึกลับซับซ้อนแห่งประเทศลาวนั่นเอง

ที่เล่ามาทั้งหมดนี้ เป็นไปอย่างพอมองเห็นภาพความขลังของผงโสฬสมหาพรหม หรืออาจเป็นผงอิทธิเจมหาลาภก็ตาม ว่ามีการเดินทางยาวไกล และสร้างชื่อเสียงไว้อย่างลึกลับแค่ไหน เพื่อหวังว่าผงนี้และเจ้าของผงคือหลวงปู่สีทัตต์จะไม่ถูกลืม

ใครมีศรัทธาก็คงต้องดิ้นรนขวนขวายหากันเอาเอง

ท่าดอกแก้ว ของหลวงปู่สนธ์นั้น ถ้าหากว่าใครมีพ่อแม่ปู่ย่าเป็นทหารในแถบจังหวัดนครพนมหรือใกล้เคียงให้รื้อค้นหิ้งพระดู บางทีจะพบท่าดอกแก้วได้ เพราะว่าหลวงปู่สนธ์ท่านแจกท่าดอกแก้วไปในหมู่ทหารเป็นส่วนมาก ไม่ค่อยได้แจกแก่ประชาชนอาชีพอื่น

ดูรูปท่าดอกแก้วแล้วจำให้แม่นก็แล้วกัน

สวัสดี

——————————————————–

ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารศักดิ์สิทธิ์ ราวพ.ศ.2535-2536

ในนามปากกา อัทธคู อิ่นออย

แชร์ :

ความคิดเห็น

** โปรดแสดงความคิดเห็นอย่างมีวิจารณญาน