พระดีเมืองลาวมีบ่

สงกรานต์ที่ผ่านมา ได้ไปเที่ยวเวียงจันทน์  ไปเปิดหูเปิดตา หลังจากลาวเปิดประเทศแล้วหลายปี ไม่ได้หวังอะไรเป็นพิเศษ เพียงปลุกความรู้สึกเตรียมพร้อมจะรับอะไรที่ผ่านเข้ามา..ดูรึว่าลาววันนี้จะเป็นอย่างไร?

กำหนดเส้นทางท่องเที่ยวให้สมกับคนชอบวัด ต้องกำหนดให้มีหลวงปู่หลวงพ่อระหว่างทางด้วย เมื่อออกไปจากบ้านจนจนย้อนกลับมาจะคุ้มค่าเหนื่อย

เริ่มต้นที่เมืองอุบลราชธานีนี่แหละ มุ่งหน้าไปตามเส้นทางอุบลฯ-ยโสธร ออกเดินทางราว 11 โมงเช้า พอใกล้เที่ยงก็จะถึงบ้านแคนใหญ่ แวะกินไก่ย่างเชลล์ชวนชิมเสียหน่อย เมนูอร่อยเข้าท่าของร้านนี้อีกอย่างหนึ่งคือต้มไก่บ้านใส่ใบมะขามอ่อน ตำรับนี้คุณชายถนัดศรีชิมไว้ก่อนแล้ว

b13349823c5e414fb5f42558f29243db 57214209

บ้านแคนใหญ่ ถึงก่อนตัวอำเภอคำเขื่อนแก้ว เลยอำเภอเขื่องในไปโข คะเนว่าจะอยู่ห่างจากอุบลราชธานีราว ๆ 50 กว่ากิโลเมตร ร้านไก่ย่างเชลล์ชวนชิมอยู่ฝั่งขวาถ้ามาจากอุบลฯ กวาดสายตาดูสักรอบก็จะเห็นป้ายเชลล์ชวนชิมชัดเจน เห็นแล้วเดินเข้าสั่งไก่ย่างกับต้มไก่บ้านใส่ใบมะขามอ่อนกินเถอะครับรับรองอร่อย

อิ่มแล้วออกเดินทางต่อไปผ่านยโสธร จนใกล้ถึงอำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ดให้สังเกตป้ายบอกทางเข้าวัดสันติวิเวกของหลวงปู่มา ญาณวโร เลี้ยวเข้าไปกราบท่านสักหน่อย ขอพรเดินทางปลอดภัย ท่านใจดี พูดเสียงดังฟังชัด เก่งเรื่องตะกรุด แต่เดี๋ยวนี้ไม่ทำ นัยว่าตำรวจขอร้องให้เลิก เพราะลูกศิษย์ตะกรุดไปเป็นโจรเยอะ ทุกวันนี้ท่านมาโดดเด่นอยู่กับพระเศรษฐีนวโกฐ คนนิยมกันมาก

showimage-1

กราบลาหลวงปู่มาแล้วออกเดินทางต่อจนถึงร้อยเอ็ด ตัดสินใจเลี้ยวขวาซอกแซกผ่านเมืองออกไปสู่เส้นทางร้อยเอ็ด-กาฬสินธุ์ พอถึงบ้านหลุบก็แวะกราบนมัสการท่านอาจารย์หนูอินทร์ กิตฺติสาโรอีกองค์ ท่านอยู่วัดพุทธคยา (พุทธมงคล) ก่อนเข้าเมืองกาฬสินธุ์ สัก 6 กิโลเมตร มีป้ายบอกทางเข้าวัดชัดเจน เข้าไปบูชารูปเหมือนลอยองค์เนื้อว่านรุ่นเสาร์ 5 ก่อนใคร

135-u0107536-634866180839731265-1

รูปเหมือนรุ่นนี้ถือเป็นรุ่นแรกของท่านที่ทำออกมาเป็นเนื้อว่านลอยองค์ รายละเอียดจะได้ลงตีพิมพ์เพื่อประชาสัมพันธ์กันต่อไป

get_auc1_img

ออกเดินทางต่อ โดยมุ่งหน้าเข้าจังหวัดขอนแก่น แล่นผ่านสี่แยกยางตลาดจนเข้าเมืองขอนแก่น ซึ่งเดี๋ยวนี้เจริญเติบโตจนหลงทาง ออกไปอุดรธานีไม่ถูก ต้องใช้แผนที่ปากคือถามทางไปเรื่อย ๆ ตอนถามทางครั้งสุดท้ายเชยระเบิด เพราะว่าขณะถามนั้นกำลังอยู่บนเส้นทางขอนแก่น-อุดรฯ แล้ว แถมกำลังหันหลังให้อุดรฯ วิ่งห่างอุดรฯ ออกไปทุกที กระทั่งคนตอบคำถามเขาหัวเราะ และบอกให้เลี้ยวกลับ นั่นแหละครับ ไม่งั้นจะไปถึงไหนก็ไม่รู้

ขอนแก่น-อุดรฯ รถติดอย่างไม่น่าเชื่อ เข้าใจว่าเป็นเทศกาลสงกรานต์ รถจึงมาก ไม่สามารถเคลื่อนตัวได้สะดวก ติดเหมือนโคราช-กรุงเทพฯ สมัยก่อนไม่มีผิด กว่าจะถึงหนองคายได้ก็ปาเข้า 3 ชั่วโมงกว่า ค่ำพอดี

มื้อค่ำที่หนองคาย ไม่ได้เรื่องเลยครับ เข้าผิดร้าน ชื่อเหมือนกันกับที่ได้ข้อมูลมา แต่อย่าออกชื่อเลยจะเสียหายกันใหญ่ ผิดหวังจริง ๆ ทั้งไม่อร่อยและทั้งแพง แต่ก็ทำใจอาฆาตเอาไว้ไปแก้แค้นที่เวียงจันทน์แทนก็แล้วกัน

รุ่งขึ้นเข้าเวียงจันทน์แต่เช้า ได้รับความสะดวกสบายในการผ่านด่านข้ามแดนโดยเจ้าหน้าที่ศุลกากรดูแลเป็นอย่างดี ได้รถตู้ของท้าวแสงชาวลาวเป็นพาหนะนำเที่ยว ท้าวแสงแกชอบพูดไทย พูดลาวด้วยก็ไม่ยอม จะพูดแต่ไทยท่าเดียว

“สิไปจังได๋ล่ะท้าวแสง”
ผมถามเป็นภาษาลาว
“เราจะต้องเลี้ยวซ้ายก่อนครับ พอเลี้ยวขัว (ขวา) ก็เถิงเวียงจันทน์” แกตอบเป็นภาษาไทย
ขวา ไม่ใช่ ขัว
ขัว

พูดถึงภาษาลาวกับภาษาไทย ความจริงสามารถสื่อสารกันได้ มีความคล้ายคลึงกันอยู่จะต่างแต่สำเนียงและรูปศัพท์เท่านั้น

ศัพท์แปลกๆที่เรียกชื่อไม่ตรงกับไทยนั้นมีอยู่มาก เช่น องค์การเชื้อเพลิง ลาวจะเรียกว่า องค์การเชื้อไฟ , โรงพยาบาล ลาวเรียกว่า โรงปัวพยาธิ, ห้องผ่าตัด ลาวเรียก ห้องปาด, ห้องไอซียู ลาวเรียก ห้องมรสุม, ห้องคลอด ลาวเรียก ห้องประสูติ, ห้องดับจิต ลาวเรียก ห้องเย็น, ตึกอุบัติเหตุ ลาวเรียก ตึกกระทบ และห้องตรวจโรค ลาวก็เรียกว่าห้องตรวจพยาธิ

เมืองลาวไม่มีรถชนกัน มีแต่รถตำกัน

คนป่วยเวลาอยู่เมืองไทย จะให้น้ำเกลือ แต่ในเมืองลาวเขาจะให้น้ำทะเล

คำแทนตัวของคนลาวจะใช้ “ข้าพเจ้า” ซึ่งนับว่าสุภาพที่สุด คำนำหน้านามผู้ชายบ้านเราใช้ “นาย” แต่ลาวใช้ “ท้าว” ท้าวแสงในเมืองไทยก็จะเป็น นายแสง, ผู้หญิงใช้คำว่า “นาง” นำหน้านามหมด ไม่แยกว่าคนแต่งงานแล้วจึงใช้นาง หรือคนโสดใช้นางสาว จะแต่งงานหรือยังไม่แต่งงานเรียกนางหมด

จะรู้ได้อย่างไรว่าผู้หญิงลาวคนไหนแต่งงานแล้วหรือยังไม่แต่งงาน ท้าวแสงบอกว่าให้ขอดูบัตรประชาชน เพราะว่าในบัตรจะแสดงสถานภาพว่าโสดหรือไม่โสด แต่ถ้าเขาไม่ยอมให้ดูบัตรก็สามารถสังเกตได้อีกวิธีหนึ่งคือ ผู้หญิงลาวที่ยังไม่แต่งงานเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ไว้ผมยาว ถ้าแต่งงานแล้วผมจะสั้น

ถ้าเห็นผู้หญิงไว้ผมแบบที่เรียกว่า ยาวก็ไม่ยาว สั้นก็ไม่สั้น ก็ให้รู้ว่าเป็นแม่ม่าย

หญิงไทยที่ยังไม่แต่งงานและไว้ผมสั้น ระวังเอาไว้ ถ้าไปเดินอยู่เมืองลาวจะกลายเป็นคนแต่งงานแล้วโดยปริยาย

เรื่องนี้ผมว่าท้าวแสงคงจะพูดเล่นเอาสนุกให้ลูกทัวร์ขำเล่นๆ

ถึงเวียงจันทน์แล้วต้องไปดูหอพระแก้ว ซึ่งเคยเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติลาว ตั้งอยู่ข้าง ๆ หอคำหรือทำเนียบรัฐบาลลาว ที่นี่มีพระพุทธรูปศิลปะลาวเก่า ๆ หลายองค์ น่าดูเหมือนกัน

1387100771-img2594-o

ออกจากหอพระแก้ว แวะตรงสำนักงานหน้าประตูทางเข้าเห็นเหรียญหลวงปู่อะไรไม่ทราบ ไม่ได้ขอดูชัด ๆ เป็นเหรียญหลวงปู่ของลาวแท้ ๆ ทำออกจำหน่ายเป็นของที่ระลึก เสียดายที่ไม่ได้บูชาไว้ แต่ถ้าข้ามไปถนนไปฝั่งตรงข้ามก็จะมีอีกวัดหนึ่ง จำชื่อไม่ได้มีพระสังกัจจายน์เนื้อดินดิบสีดำวางจำหน่ายองค์ละ 100 บาท แต่ก็ไม่ได้เช่าไว้เหมือนกัน

ถามท้าวแสงว่าพระเก่ง ๆ ขลัง ๆ เมืองลาวมีไหม
“บ่มีหรอก ไปอยู่เมืองไทยหมด สมัยก่อนมีอยู่ เดี๋ยวนี้บ่มี”

(หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ๆ เจ้าหน้าที่รัฐบาลสังคมนิยมได้ลงมือกำจัดพระภิกษุที่มีผู้เลื่อมใสศรัทธา ตามนโยบายพรรค โดยสังหารพระดีรูปหนึ่งคือ”พระอาจารย์อาจารย์ซาคำแดง”ไปอย่างน่าเสียดาย )

63544601184000000016354460118418500002

เหรียญรุ่นเดียวของพระอาจารย์ซาคำแดง : http://uauction4.uamulet.com/

คนลาวทุกวันนี้ไม่แขวนพระเครื่องกันหรอกครับ มีส่วนน้อยที่ยังแขวนอยู่ ลาวถึงยุคเสื่อมวัดเสื่อมพระมานานแล้ว ตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง เขาบอกว่าเขาไม่ได้ปกครองประเทศด้วยระบบคอมมิวนิสต์ แต่ปกครองด้วยระบบสังคมนิยม ฟังแล้วก็งงๆอยู่

เวียงจันทน์มีที่เที่ยวไม่มาก วนไปวนมาก็กลับมาที่เก่าทุกที เมืองหลวงของเขาจะเล็กกว่าเมืองอุบลฯ หลายเท่า ถ้าเปรียบกับกรุงเทพฯแล้วคงล้าหลังไม่น้อยกว่า 30 ปี

มีอะไรที่ทันสมัยขึ้นมาหน่อยก็ตรงชินวัตร เทเลคอมกำลังลงมือตอกเสาเข็มอยู่กลางเวียงจันทน์ นั่นแสดงว่ามือถือลาวก็มีใช้เหมือนกัน

หิวแล้วซีครับ ต้องไปแก้แค้นให้สะใจเสียด้วยสเต็คเนื้อเก้งเป็นไง สเต็คเนื้อเก้งมีขายอยู่ที่ห้องอาหารของโรงแรมแอ่งแตก โรงแรมนี้ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง ตรงหัวมุมถนน Fangoum ขายสเต็คเนื้อเก้งมานานปี รสชาติอร่อยดี ใครชอบเนื้อเก้งก็ไปลองดู ถ้าใครไม่ชอบอย่าสั่งเดี๋ยวไม่กล้ากินจะเสียดายของแพง ซึ่งก็แพงตั้ง 4,000 กีบ เป็นเงินไทย 110 บาท กิน 6 คน 6 จาน หมดไปสองหมื่นกว่า

สเต็คเนื้อเก้ง ลาวเรียกว่า สเต็คซิ้นฟาน สั่งให้ถูกต้อง เดี๋ยวกลายเป็นอย่างอื่นไม่รู้ด้วยนา

ในเวียงจันทน์ ยังมีอีก 2 แห่ง ที่ใครไปถึงแล้วก็ต้องหาทางไปแวะถ่ายรูปเป็นที่ระลึก คือ พระธาตุหลวงเวียงจันทน์ สร้างโดยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช เดิมที่ยอดเจดีย์เคยประดับด้วยทองคำและมรกต เดี๋ยวนี้ไม่เหลืออยู่เพราะว่าฝรั่งเศสปลดเอาไปจนเกลี้ยง

1311138665

อีกแห่งหนึ่งใกล้ ๆ กันคือ ประตูชัย สร้างสมัยลาวได้รับเอกราชจากฝรั่งเศส คนออกแบบสร้างเป็นชาวลาว แต่จบสถาปนิกที่ฝรั่งเศส ออกแบบประสมกันระหว่างฝรั่งเศสกับลาว จึงได้ประตูชัยอย่างที่เห็น

71607328125838130011

ไปแวะห้างสรรพสินค้าลาวเสียหน่อยที่ตลาดเช้า หาเทปเพลงเย็นสบายชาวนา ร้องโดยนางบัวเงิน ซึ่งไม่ทราบว่าแต่งงานหรือยัง ไม่เห็นรูปถ่ายว่าผมยาวหรือผมสั้น เอาไว้ฟังเวลาขับรถเพลินดี

เห็นแว่นตาเรแบนอีกอันหนึ่ง คนขายบอกว่าในเมืองไทยจะแพงกว่าที่นี่ 15 เปอร์เซ็นต์ ก็เลยลองซื้อมาอันหนึ่ง 2,500 บาท คนขายตื่นเต้นใหญ่ บอกว่าตั้งแต่เปิดห้างมาก็สั่งมาอันเดียว และผมเป็นคนแรกและคนเดียวที่ซื้อ อดภูมิใจอยู่ไม่น้อย แต่พอมาเช็คราคาที่เมืองไทย ปรากฏที่เมืองไทยแค่อันละ 2,150 เท่านั้น ยังงี้เรียกถูกลาวต้มหรือเปล่า

ออกจากห้างสรรพสินค้ามา เห็นสาวไว้ผมยาวแต่งตัวแบบลาวแท้ ๆ ท่าทางเป็นไกด์นำเที่ยว เข้าไปขอถ่ายรูปด้วยเป็นที่ระลึกกับหญิงสาวยังไม่แต่งงานชาวลาวเสียหน่อย ถ่ายเสร็จท้าวแสงมากระซิบว่า สาวเจียมที่ผมถ่ายรูปคู่นั้นบ้านเกิดอยู่หนองคายเด้…อ้าว…!

กลับบ้านเราดีกว่า
พักที่หนองคายอีกคืนหนึ่ง

รุ่งเช้า หลังกินกาแฟกับไข่กระทะแล้วก็แวะนมัสการพระใส พระคู่บ้านคู่เมืองหนองคายเสียหน่อย พระใสเป็น 1 ในพระพุทธรูป 3 องค์ คือ พระใส พระเสริม พระศุกร์ ที่เจ้าอนุวงศ์อัญเชิญลงเรือหลบหนีจากนครเวียงจันทน์ แต่เรือพระศุกร์ล่ม พระศุกร์จึงจมน้ำโขง ตรงที่จมนั้นเรียกชื่อว่าเวินพระศุกร์ เป็นที่ขึ้นของบั้งไฟพญานาคอยู่ทุกวันนี้

showimage

พระเสริม มาอยู่วัดปทุมวนาราม ปทุมวัน ส่วนพระใสอยู่หนองคาย

แต่เช้าวันนี้กลับมีคนมากเขากำลังอัญเชิญพระใสออกจากอุโบสถ จะแห่ในเทศกาลสงกรานต์ จึงไหว้ท่านแต่ไกลแล้วออกดินทางต่อ มุ่งหน้าเข้าอำเภอบึงกาฬ จะไปกราบหลวงพ่อทองพูล สิริกาโม วัดสามัคคีอุปถัมภก

เกี่ยวกับหลวงพ่อทองพูล สิริกาโมนี้ เดิมท่านเป็นศิษย์หลวงปู่ฝั้น ได้รับคำชมเชยว่ามีจิตรวดเร็วดี เคยออกเหรียญอยู่หลายรุ่น เฉพาะรุ่นแรกผมเคยเขียนถึงนานมาแล้วว่าเป็นเหรียญที่มีอภินิหารมาก เดี๋ยวนี้หายากเห็นเข้ารายการประกวดพระบ่อย ๆ เข้าใจว่าจะเป็นที่นิยมไม่น้อยในหมู่ศิษย์ ซึ่งเมื่อไปถึงวัดท่านแล้วเห็นท่านเป็นผู้มีศิษย์มากมาย เพราะว่าพอดีมีงานสงกรานต์ คนจึงมากันมาก ไม่มีโอกาสสนทนากับท่านสะดวก จึงกราบท่านแล้วก็ออกมาทำบุญสร้างกำแพงวัด 200 บาท ได้รับดอกไม้มหาเศรษฐีทำด้วยแบงค์ 20 บาท 2 ใบ พับเป็นรูปดอกกุหลาบ ซึ่งหลวงพ่อทองพูลได้ปลุกเสกแล้วมาหนึ่งดอก

วัดสามัคคีฯ ของหลวงพ่อทองพูล อยู่ริมถนนสายหนองคายบึงกาฬ ตรงข้ามแขวงการทางบึงกาฬ ถึงก่อนตัวอำเภอสัก 5 กิโลเมตรมั้ง ใครผ่านไปแถวนั้นแวะกราบท่านเถิด นั่นน่ะพระดีอีกรูปหนึ่ง

416-8255

จากวัดสามัคคีฯ วิ่งตรงมาทางอำเภอพังโคน แวะภูทอกนมัสการอัฐิธาตุพระอาจารย์จวน กุลเชษโฐ และชมภูทอกอันแสนมหัศจรรย์จนหายเหนื่อยแล้วเดินทางเข้าพังโคน เลี้ยวซ้ายไปพรรณนานิคม นมัสการอัฐิธาตุพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร แล้วต่อเข้าเมืองสกลนคร นมัสการอัฐิธาตุพระอาจารย์มั่น ภูรมิทัตโต ที่วัดป่าสุทธาวาส จนคุ้มค่าศรัทธา

ลืมบอกไปว่าคณะของผมเดินทางด้วยรถยนต์สองคัน พอออกจากสกลนคร จะเข้านาแก รถคันหนึ่งก็คว่ำ ผมอยู่อีกคันไม่ทราบเรื่อง ก็แล่นเลยไปกินอาหารที่แก่งกระเบา จังหวัดมุกดาหาร ซึ่งเดี๋ยวนี้เขาทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวเอิกเกริก มีร้านอาหารหลายร้าน แต่ต้องแวะร้านน้องปู กินหมูหันที่มีประกาศนียบัตรชนะเลิศในงานประกวดหมูหันปี 2538 เป็นประกัน เจ้าของร้านคือคุณคำแสง แสงศรีจันทร์ มีอัธยาศัยใจคอดี

ระหว่างอยู่แก่งกระเบา ก็ไม่ทราบว่าอีกคันประสบเหตุรถคว่ำ แม้ว่าฝ่ายนั้นจะพยายามติดต่อโทรศัพท์ถึงผม ก็ไม่อาจทำได้ เพราะว่าแก่งกระเบาไม่มีสัญญาณ อยู่นอกเขต เราก็กินหมูหันเพลินไป

ถึงอำนาจเจริญ จึงติดต่อกันได้ และทราบว่ารถอีกคันคว่ำที่บ้านดงน้อย อำเภอนาแก ทุกคนปลอดภัย ขณะนี้กำลังอยู่ในโรงแรมสกลนคร ไม่ได้อยู่โรงพยาบาลหรอก รอรุ่งเช้าจึงจะหารถตู้กลับกรุงเทพฯ ส่วนรถที่คว่ำพังยับ ต้องให้ประกันฯ มาลากเข้าอู่ที่กรุงเทพฯ

คันที่คว่ำนั้นเป็นรถของหลานชาย ซึ่งคนที่ร่วมนั่งคันเดียวกันก็เป็นบรรดาญาติพี่น้องของผมทั้งสิ้น ดีใจที่ทุกคนไม่เป็นอะไรเลย จึงต้องยกมือไหว้ขึ้นฟ้าระลึกถึงหลวงพ่อชา วัดหนองป่าพง ที่ทุกคนแขวนอยู่กับตัว คงมีแต่หลานสะใภ้คนเดียวที่แขวนหลวงปู่คำพันธ์ วัดธาตุมหาชัย ซึ่งก็เป็นพระที่ผมสร้างแต่สมัยรู้จักหลวงปู่คำพันธ์ใหม่ๆ นอกนั้นหลวงพ่อชาหมดก็มีทุกรุ่นแหละครับ แขวนกันต่างๆกันไป

dsc02735 dsc02736

ที่บอกว่าปลอดภัย คือ ปลอดภัยจริง ๆ ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บเลย

สืบหาพระเครื่องดีเที่ยวนี้เห็นจะมาลงที่หลวงพ่อชาและหลวงปู่คำพันธ์ในที่สุด

ไม่มีพระดีที่เมืองลาวเลย

พระดีหนีมาอยู่เมืองไทยทั้งหมด

ใครที่ดิ้นรนไปหาพระดีเมืองอื่น ผมว่าจะคว้าน้ำเหลวกระมัง


(ปัจจุบันพุทธศาสนากลับมาเข้มแข็งอยู่ในเมืองลาวเหมือนสมัยก่อนเก่าแล้ว ศรัทธาทางศาสนาไม่มีวันเสื่อมสูญจากแผ่นดินลาว : 5/1/2560)

ข้อเขียนเก่าราวๆปี 2539

ตีพิมพ์ในคอลัมน์สืบหาพระเครื่องดี

นิตยสารศักดิ์สิทธิ

—————–

แชร์ :

ความคิดเห็น

** โปรดแสดงความคิดเห็นอย่างมีวิจารณญาน