เรื่องเล่าหลวงปู่พรหมา เขมจาโร: วันขึ้นวัดครั้งแรกของอำพล เจน

ทีนี้จะเล่าถึงวันขึ้นวัดครั้งแรก

จริงๆแล้วตอนนั้นไม่ได้เป็นวัด ไม่ได้เป็นอะไรทั้งสิ้น ยังเป็นอะไรที่เถื่อนๆอยู่
พอกล้อมแกล้มเรียกได้อย่างเดียวว่าที่พักสงฆ์
แต่ติดปากว่าวัดก็เรียกวัดไป

ถ้าจำไม่ผิดในการเดินทางไปหาหลวงปู่ครั้งแรกนั้นไปกัน2คน
แค่ผมกับเฮียบัติ(ปัญญา โกวิทธวงศ์)เท่านั้น

สมัยโน้นเฮียบัติ40กว่า ส่วนผม30กว่า(2533-2534) แรงเยอะ ไปไหนไปกัน
โดยเฉพาะไปวัดแบบไปเองแล้วชอบมาก
ไม่ชอบแบบเขาหามไป
วัดไหนๆใกล้ไกลอย่างไรไม่เคยหวั่นไม่เคยกลัว
ไปได้หมด
หนทางจะปูพรมหรือปูระเบิดไม่สน
สมภารเจ้าวัดจะเป็นพระอรหันต์หรืออลัชชีไม่เกี่ยง
ทำนองว่ามันเป็นเรื่องของคนที่กำลังแสวงหาอะไรสักอย่างที่ตนเองก็ไม่รู้เหมือนกัน
ถามกันเองว่านี่เราไปหาหอกอะไรก็บ่อยๆ
แล้วก็ตอบไม่ได้
เพราะมันไม่รู้ตั้งแต่แรก

ผมเคยภาวนาระลึกชาติได้ในตอนเช้าของวันที่ไม่มีอะไรกิน ณ สถานที่กันดารแห่งหนึ่ง กลางป่าที่ไม่มีกระทั่งน้ำจะอาบ
ระลึกได้ว่าชาติที่แล้วเฮียแกกะตัวผมเคยเกิดเป็นปาท่องโก๋
“กูก็ว่างั้น”เฮียบัติรับรอง
“นี่แค่เข้าฌานระดับประถมต้นเท่านั้นก็เห็นชัดแจ๋ว” ผมคุย
“มึงเสือกมาระลึกได้เอาอีตอนกำลังหิวพอดี, กลางป่ายังงี้จะหากาแฟปาท่องโก๋แดกได้ที่ไหน”
หิวจริงๆแหละครับ

นี่แหละที่ท่านว่าทุกสิ่งทุกอย่างย่อมมีเหตุและปัจจัย

มือใหม่หัดภาวนามักระลึกชาติกันเป็นว่าเล่น

คนที่จนขนาดแย่งหมาแดก ชอบระลึกชาติได้ว่าเคยเป็นมหาเศรษฐี
คนที่เห็นแค่หนูตัวเล็ก ๆวิ่งมาก็หวีดจนแทบเป็นลมสลบชอบระลึกชาติได้ว่าตนเป็นทหารเอก
พระนเรศวร

เป็นเรื่องของจนอยากรวยกับคนตาขาวระลึกหาความกล้าหาญ

ยังไม่นับพวกที่ระลึกชาติได้ว่าตนเป็นกษัตรากษัตรีแล้วชาตินี้มาหากินด้วยการรับจ้าง
เข้าทรง

ท่านถึงสอนให้อยู่กับปัจจุบัน
อย่างหลวงปู่แหวนว่าไว้แหละครับ
อดีตธรรมเมา อนาคตธรรมเมา
แต่กับคนบาปหยาบกิเลสแบบผมก็มีปัจจุบันเป็นธรรมเมาอีกด้วย
เมากันทุกวัน
จนโรงเบียร์ให้บัตรลูกค้าวีไอพีผู้ซื่อสัตย์ไว้พกติดกระเป๋า

เห็นหรือยังครับ
เห็นไหมล่ะว่าการเดินทางไปวัดหลวงปู่สมัยนั้นมันยากลำบากแค่ไหน
ยังไม่ออกเดินทางก็จะหมดเวลาเล่าเสียแล้ว

ไปไม่นานหรอก..เดี๋ยวมา


การเดินทางไปวัดหลวงปู่สมัยปี2533-2537ยังไม่ีมีทางรถยนต์เข้าถึง
รถยนต์เริ่มวิ่งได้ก็ราวๆปี2538
ทางเดียวที่จะไปจะมาคือทางเรือ อีกทางก็เดินตัดป่ากันทั้งวัน

ไม่มีรถส่วนตัวก็อาศัยรถโดยสารจากตัวเมืองอุบลฯไปจนถึงบ้านสำโรงระยะทางร้อยกว่าโล
ใช้เวลามากสักหน่อย ด้วยเป็นรถหวานเย็น จอดกันบ่อยๆ จอดตามสถานีหลักแห่งละไม่น้อยกว่าครึ่งชั่วโมง
น่าเบื่อมาก
ถ้ามีรถส่วนตัวสะดวกขึ้น ถึงบ้านสำโรงก็หาที่ฝากรถกับชาวบ้านได้

ไปครั้งแรกก็เลี้ยวเข้าจอดใต้ถุนเรือนของป้าแก่ๆคนหนึ่ง ให้เงินแกไปร้อยบาทฝากดูรถไว้ไม่ให้คนลักสักคืน พรุ่งนี้จะกลับมาเอา
พอทิ้งรถเดินออกมายังไม่ถึงท่าเรือ ป้าแกวิ่งตามมาหน้าตาตื่นร้องเอะอะตกใจ
“รถเจ้าเป็นอะไรไม่รู้”
“เอ๊า..เป็นอะไรล่ะ”
“หัวรถเจ้ามันร้อน”

คือป้าแกไม่เคยมีรถยนต์ อย่าว่าแต่รถยนต์เลยมอเตอร์ไซค์็ก็ไม่เคยมี
แกตื่นเต้นที่รถกระบะใหม่ล่าสุดเข้ามาจอดถึงใต้ถุนก็ไปลูบๆคลำๆดู เลยตกใจ

“ไม่เป็นไรเดี๋ยวมันก็เย็น”
“กลัวเจ้าว่าข้อยไปทำให้มันร้อน”
“ไม่ว่า”
“แน่นะ”
“อ๋อแน่ซิ”

สมัยแรกๆนั้นไม่มีคนเดินทางไปมามากมายเหมือนช่วงหลัง มีแค่ชาวบ้านอาศัยเดินทางกันเอง
เรือจึงวิ่งแค่วันละเที่ยว ถ้าไปไม่ทันก็ตกเรือ ทีนี้จะเสียเงินเหมาแพงมาก

เรือเที่ยวสุดท้ายจะออกจากบ้านสำโรงหลังเที่ยง แล้วก็ล่องตามน้ำโขงไปจนถึงบ้านดงนา ระยะทางไม่ทราบ แต่ว่าใช้เวลาอยู่ในเรือชั่วโมงกว่า
ช่วงแรกถ้าคนไม่เคยน้ำมีอันกลัวขี้หดตดหาย แค่ออกจากท่าบ้านสำโรงก็แล่นเข้าแก่งหมาบ้าทันที
น้ำเชี่ยวน่ากลัว
บางคนคุยจ้อๆไม่หยุดพอถึงแก่งหมาบ้าเงียบกริบ จ้อไม่ออก

พ้นแก่งหมาบ้าแม่น้ำโขงจะไหลเข้าช่องแคบ จากแม่น้ำที่เคยกว้างเป็นกิโล เหลือแค่คลองคอขวด
สองข้างเป็นหน้าผา โดยเฉพาะช่วงที่เรียกว่าผาชัน น้ำไหลเชี่ยวที่สุด
ขาไปไม่เท่าไหร่ด้วยว่าเรือล่องตามกระแส แค่อาศัยคนขับชำนาญหางเสือก็บังคับให้มันผ่านไปได้ไม่ยาก
แต่ว่าขากลับทารุณที่สุด ลองหลับตาฟังเสียงเครื่องยนต์จะนึกว่าเรือคงกำลังแล่นเร็วสุดขีด
ลืมตาเห็นคนเดินบนฝั่งเร็วกว่าเรือ

แม่น้ำโขงช่วงนี้กระแสน้ำโหดร้่ายมาก น้องๆหลี่ผีที่เมืองลาว มีคนตายน้ำทุกปี
บางเที่ยวเห็นศพลอยอืดข้างเรือ

ไม่มีใครสนใจ

ปล่อยให้เป็นอาหารของปลา

ตำรวจทหารไม่มี เห็นแค่ทหารลาวนั่งเต๊ะท่ากอดปืนอาก้าบนหน้าผาฝั่งลาว
เสียวสันหลังเหมือนกัน
ด้วยว่าเวลานั้นลาวกับไทยยังไม่ค่อยจะพูดจะจากัน ยังฮึ่มๆพร้อมจะถล่มใส่กันเมื่อไหร่ก็ได้

เขาเคยเล่าให้ฟังว่า สมัยหลวงปู่มาที่นี่ใหม่ๆ เรือโดยสารที่หลวงปู่นั่งไปด้วยโดนทหารลาวยิงใส่ด้วยอาก้า
ชาวบ้านตกใจจะโดดน้ำหนี หลวงปู่ร้องห้ามเอาไว้ บอกทุกคนนั่งเงียบๆเฉยๆไม่ต้องตกใจ
เขาว่ากระสุนไม่ถูกเรือสักนัด
พวกชาวเรือชาวบ้านที่นั่นในเวลานั้นจึงนับถือหลวงปู่กันทั้งหมด

คนขับเรือคนหนึ่งเล่าว่าไม่ใช่โดนยิงแค่ครั้งเดียว
อย่างน้อยๆก็2-3ครั้ง จนต้องมีการแจ้งไปทางค่ายตชด.ที่บ้านสำโรง เปิดเจรจากัน เรื่องลอบยิงเรือโดยสารจึงสงบลง

ผมไปตอนที่เพิ่งสงบใหม่ๆ แต่ชาวบ้านเองบอกว่ายังไว้ใจไม่ได้
ผ่านพวกทหารลาวถือปืนริมผาเมื่อไหร่ก็ต้องระวัง
ห้ามกระพริบตาว่างั้นเถอะ

แม้น้ำโขงช่วงนั้นแคบมาก ผมนึกเชื่อว่าอาจเป็นจุดที่แคบที่สุดของแม่น้ำโขงอีกแห่งหนึ่ง
ประมาณว่าจากฝั่งไทยยันฝั่งลาวสัก30เมตรเท่านั้น

ถ้าเขายิงใส่ก็คือปิดประตูตีแมวนั่นเอง

(ภาพทั้งหมดนี้คือบริเวณท่าเรือบ้านสำโรง จะเห็นเวิ้งน้ำกว้างก่อนเข้าสู่แก่งหมาบ้าแล้วเห็นเรือกำลังผ่านเข้าเขตน้ำเชื่ยวของ
แก่งหมาบ้า)

เมื่อเรือโดยสารเทียบท่าบ้านดงนา
เหลือคนโดยสารขึ้นฝั่งไม่ถึง5คน

ก้าวแรกที่แตะพื้นดินบ้านดงนา ยอมรับว่ามีอาการตื่นๆเหมือนกัน
สถานที่แปลก ไม่คุ้น คนก็แปลก สายตาที่พวกชาวบ้านเขามองผมกับเฮียบัติก็แปลก

ลางทีไอ้สองตัวที่จู่ๆก็โผล่มานี่แหละมันเป็นของแปลกสำหรับพวกเขาต่างหาก

ไม่รู้มันมาทำไม
ไม่เคยมีใครมาตั้งนานแล้ว

ถนนที่ทอดตัวจากตลิ่งโขงไปจนสุดเขตหมู่บ้านไม่น่าจะเกิน300เมตร
มันดูไกลอย่างบอกไม่ถูก สายตาทุกคู่จ้องมาที่เราตลอดสองข้างทางไม่วาง ทำเอาอึดอัดใช่เล่น
นึกระแวงว่าพวกนี้มันกินคนหรือเปล่านะ
ถ้ากิน
สงสัยว่ามื้อเย็นนี้คงเป็นผม มื้อเช้าวันรุ่งขึ้นคงเป็นเฮียบัติ

พ้นจากตรงนั้นก็ขึ้นเขาทันที

ไม่เคยมา ไม่รู้ทาง จะหลงไหมนี่
คนนำทางไม่มี

เห็นแค่หาญเดินดุ่มๆไม่พูดไม่จาล่วงหน้าไป
เอาล่ะวะ ตามคนนี้แหละ ไม่ต้องคิดมาก

สักพักหาญหยุด หันมาถามว่า
“สิไปไสกันล่ะอ้าย”
“หาหลวงพ่อพรหมา”
“เคยมาอยู่บ้อ”
“บ่เคยมา”
“ไปถูกบ่”
“บ่”
“งั้นข้อยพาไป”

ไหมล่ะ

ทางเดินขึ้นวัดที่อยู่บนยอดเขานั้น ไม่ใช่ทางที่เดินง่าย
ทุลักทุเลน่าดู
แถมเหนื่อยแทบขาดใจ

หาญดูออกว่าควรจะหยุดให้พักก็หยุด ทำให้เรานึกนับถือเขาอยู่ในใจ

ประมาณ2ชั่วโมงกว่าก็โผล่ถึงยอดเขา

โอ้..สวรรค์มีจริง

เมื่อขึ้นสุดเหนื่อยเมื่อยล้ากาย
ครั้นถึงสบายหายเหนื่อยเมื่อยล้า

ลมบนเขาเป่าเหงื่อท่วมตัวแห้งไปอย่างรวดเร็ว
จำได้ว่าตอนนั้นเป็นเดือนพฤศจิกายนปี2533 อากาศบนนั้นดีมาก

เห็นกุฎิหลังที่8ก่อน แล้วเดินผ่านหลังที่7ไปเรื่อยๆจนถึงหลังที่1
หลวงปู่นั่งอยู่ตรงชานกุฏิ ยิ้มรับ ทำเอาหายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้ง

คำแรกที่ท่านถามหลังจากกราบ
“เหนื่อยไหมลูก”
“หายแล้วครับ”
“มีกุฎิว่างอยู่ ไปเลือกเอา”

ถึงตรงนี้ผมทบทวนจากภาพถ่ายที่มีแล้วเห็นว่ากุฏิหลังที่4 ที่เป็นกุฏิผีดุนั้นไม่ถูกต้อง ผมจำผิด จริงๆแล้วเป็นกุฏิหลังที่5
ผมกับเฮียบัติเลือกนอนที่กุฏิหลังที่5นี้โดยที่ไม่รู้เบื้องหน้าเบื้องหลัง

ขณะที่เข้าพบหลวงปู่เป็นเวลาประมาณบ่าย4-5โมงเย็น หลวงปู่บอกว่าไปกินข้าวกันก่อน ค่อยมาคุยกัน
ท่านลุกขึ้นเดินนำไปที่ศาลาหลังคามุงแฝก มีลูกศิษย์ที่เป็นชาวบ้านทั้งหญิงชายอยู่2-3คน สั่งการให้หาอาหารให้ผมกับเฮียบัติ

ระหว่างที่นั่งเปิบกันสองคน หลวงปู่คว้าเก้าอี้มานั่งดู แล้วก็ชวนคุย
จำไม่ได้ว่าคุยอะไรบ้าง แต่มันอบอุ่นครับ ช่างเหมือนลูกที่ไม่รู้ว่าใครเป็นพ่อ พอเจอคนๆหนึ่งก็บอกได้ทันทีว่านี่แหละพ่อกู

นึกถึงพุทธรำพึง หรืออาจเป็นพุทธสาวกรำพึง จำไม่ถนัด

“แปลกจริงหนอ บางคนเพียงเห็นหน้าก็รู้สึกเฉยๆ,บางคนเพียงเห็นหน้าก็รู้สึกเลื่อมใส”

นั่นน่ะเป็นความรู้สึกแรกพบหลวงปู่บนวัดนั้น

แชร์ :

ความคิดเห็น

** โปรดแสดงความคิดเห็นอย่างมีวิจารณญาน