อาบัติปาราชิกคืออะไร ?

อาบัติ แปลว่า การต้อง, การล่วงละเมิด 
หมายถึงโทษที่เกิดจาการล่วงละเมิดสิกขาบท

—-

สิกขาบท หมายถึงข้อศีล ข้อวินัย

ศีลของสามเณรมี ๑๐ ข้อ เรียกว่ามี ๑๐ สิกขาบท

ศีลของพระภิกษุ มี ๒๒๗ ข้อ เรียกว่ามี ๒๒๗ สิกขาบท

—–

อาบัติ มี 7 อย่าง แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ

ครุกาบัติ – หมายถึงอาบัติหนัก มีโทษร้ายแรง มี 2 อย่างคือ อาบัติปาราชิก อาบัติสังฆาทิเสส

ลหุกาบัติ – หมายถึงอาบัติเบา อาบัติที่ไม่มีโทษร้ายแรงเท่าครุกาบัติ มี 5 อย่าง คือ อาบัติถุลลัจจัย อาบัติปาจิตตีย์ อาบัติปาฏิเทสนียะ อาบัติทุกกฎ อาบัติทุพภาสิต

—–

ปาราชิก คือประเภทของโทษที่เกิดจากการล่วงละเมิดสิกขาบทประเภทครุกาบัติ(อาบัติหนัก) ที่เรียกว่า อาบัติปาราชิก

คำศัพท์ว่า ปาราชิกนั้น แปลว่า ยังผู้ต้องพ่าย หมายถึง ผู้ต้องพ่ายแพ้ตัวเองที่ไม่สามารถปฏิบัติในพระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงประทานไว้ให้ได้

ปาราชิก มี 4 ข้อ

ทั้ง 4 ข้อ ก็มีอยู่ใน ศีล 227 นั่นเองได้แก่

๑/เสพเมถุน แม้กับสัตว์เดรัจฉานตัวเมีย (ร่วมสัมพันธ์ทางเพศกับมนุษย์ หรืออมนุษย์ หรือสัตว์ แม้แต่ซากศพก็ไม่ละเว้น)
๒/ถือเอาทรัพย์ที่เจ้าของไม่ได้ให้ มาเป็นของตน จากบ้านก็ดี จากป่าก็ดี (ขโมย) ได้ราคา 5 มาสก (5 มาสกเท่ากับ 1 บาททองคำ)
๓/พรากกายมนุษย์จากชีวิต (ฆ่าคน) แสวงหาและใช้เครื่องมือกระทำเอง หรือจ้างวานฆ่าคน หรือพูดพรรณาคุณแห่งความตายให้คนนั้น ๆ ยินดีที่จะตาย (โดยมีเจตนาหวังให้ตาย) ไม่เว้นแม้แต่การแท้งเด็กในครรภ์
๔/กล่าวอวดอุตริมนุสธรรมที่ไม่จริง อันเป็นความเห็นอย่างประเสริฐ อย่างสามารถ น้อมเข้าในตัวว่า ข้าพเจ้ารู้อย่างนี้ ข้าพเจ้าเห็นอย่างนี้ (ไม่รู้จริง แต่โอ้อวดความสามารถของตัวเอง)ยกเว้นสำคัญตนผิด

อาบัติปาราชิกทั้ง 4 นี้เป็นอาบัติหนักที่เรียกว่า อเตกิจฉา คือไม่สามารถแก้ไขได้

พูดแบบทางโลกคือ – ไม่สามารถอภัยโทษให้ได้

—–

โทษของอาบัติปาราชิก

พระภิกษุต้องอาบัติปาราชิกสี่ข้อใดข้อหนึ่ง แม้จะไม่กล่าวลาสิกขาบท ก็ถือว่าขาดจากความเป็นพระภิกษุทันที

พูดง่ายหมดสิ้นสภาพการเป็นพระทันทีที่กระทำผิด แม้จะไม่ปลดหรือถอดผ้าเหลืองออกก็ตาม

ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า เมื่อความผิดสำเร็จ เมื่อขาดจากความเป็นพระแล้ว ก็ถือว่าไม่ใช่พระภิกษุอีกต่อไป
ไม่สามารถอยู่ร่วมกับภิกษุอื่นหรือคณะหมู่สงฆ์ได้
ต้องลาสิกขาบทออกจากเป็นพระภิกษุทันที
มิฉะนั้นจะกลายเป็นพวกอลัชชี

อลัชชี แปลแบบสุภาพหน่อยก็คือ – ผู้ไม่ละอาย
หรือจะแปลให้เข้าใจง่ายกว่านี้คือแปลว่า – คนหน้าด้าน
เพราะยังดันทุรังจะห่มผ้าเหลืองอยู่อีกต่อไป ไม่ยอมถอด

หลังจากหมดสภาพการเป็นพระเพราะกระทำผิดร้ายแรงระดับปาราชิก จะไม่สามารถกลับเข้ามาบวชใหม่ได้เลยตลอดชีวิต

แม้จะบวชเข้ามาได้ก็ไม่ใช่พระภิกษุที่ถูกต้องตามพระธรรมวินัย และไม่อาจเจริญในพระธรรมวินัย ตลอดชีวิตของชาตินี้จะไม่สามารถบรรลุมรรคผลนิพพานใด ๆ

เพราะเป็นมูลเฉทคือ ตัดรากเหง้า เปรียบเสมือนคนถูกตัดศีรษะ เป็นตาลยอดด้วน ย่อมไม่อาจเจริญงอกงามต่อไปได้อีก

—–

แต่ไม่ห้ามปาราชิกขึ้นสวรรค์ ซึ่งแตกต่างกับอนันตริยกรรม ที่ห้ามทั้งสวรรค์และนิพพาน เพราะอาบัติปาราชิกนั้นเป็นความผิดเฉพาะสำหรับเพศบรรชิตเท่านั้น

ส่วนอนันตริยกรรมนั้นห้ามทั่วถึงกันทั้งคฤหัสน์และบรรพชิต

พูดง่ายๆอนันตริกรรมเป็นความผิดที่ห้ามทั้งพระทั้งโยมทำ ถ้าทำจะได้รับโทษเท่ากัน

—–

ถ้าพระภิกษุผู้ต้องอาบัติปาราชิกนั้นสำนึกผิดและลาสิกขาบทออกจากเป็นพระภิกษุแล้วยังคงการทำบุญกุศล ตายไปก็จะสามารถขึ้นสวรรค์ได้

แต่ถ้ายังดื้อด้านไม่ยอมลาสิกขาบทอยู่ในผ้าเหลืองจนตาย …ตายไปต้องตกนรกที่ลึกที่สุดคือ มหาขุมนรกอเวจี

—–

เมื่อได้ทราบนัยสำคัญแห่งอาบัติปาราชิกแล้ว ..สาธุชนพึงกระทำความเข้าใจต่อคดีความ ที่เกิดขึ้นตามเป็นจริง .

—–

อำพล เจน

๒๒ กค.๒๕๖๐

แชร์ :

ความคิดเห็น

** โปรดแสดงความคิดเห็นอย่างมีวิจารณญาน