เหรียญจุลมงกุฏพระพุทธบาทสระบุรี (เหรียญฉลุพระพุทธบาทสระบุรี) ปี 2494-2495

ในบรรดาภิกษุชั้นสมเด็จซึ่งโปรดการสร้างพระ(วัตถุมงคล)

สมเด็จพุฒาจารย์(นวม) วัดอนงคาราม ยืนอยู่หัวแถว

พระ(วัตถุมงคล)ที่สมเด็จนวมจัดสร้างจนตลอดชีวิตขององค์ท่านมีมากมายหลายรุ่นหลายแบบ

โดยมากนิยมทำเป็นเหรียญขนาดค่อนข้างเล็ก

ผู้หญิงแขวนได้ ผู้ชายแขวนดี

พระหลายๆรุ่นที่สมเด็จนวมจัดสร้าง แม้ว่าส่วนใหญ่ไม่ปรากฏบันทึกประวัติการสร้างการเสก แต่พระของสมเด็จนวมล้วนแต่มีครูบาอาจารย์ร่วมสมัยชั้นแนวหน้าในยุคนั้นเสกให้ทั้งสิ้น

อนุมาน : สมเด็จนวมมีปฏิสัมพันธ์ใกล้ชิดสนิทเชื้อกับ หลวงปู่ศุข วัดมะขามเฒ่า ในฐานะศิษย์กับอาจารย์ พระที่สมเด็จนวมจัดสร้างจึงมี หลวงปู่ศุข ผู้เป็นพระอาจารย์ปลุกเสกให้แทบทุกรุ่น

นั่นหมายถึงว่าไม่เพียงแต่พระปรกใบมะขาม วัดอนงค์เท่านั้นที่หลวงปู่ศุขเสกให้ พระอื่นๆหลวงปู่ศุขก็เสกให้เช่นกัน

อย่าว่าแต่หลวงปู่ศุขเลย หลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ อีกรูปหนึ่งยังเป็นหลักในการเสกพระให้สมเด็จนวมอีกด้วย

เรื่องนี้จะว่าไปแล้ว..จัดว่าเป็นธรรมชาติของคนสร้างพระทุกๆคน

ครูบาอาจารย์รูปใดที่คนสร้างพระใกล้ชิดสนิมสนม
ครูบาอาจารย์นั้นๆจะเป็นองค์หลักในการปลุกเสกให้คนสร้างพระคนนั้น

อุปมา : พระ(วัตถุมงคล)ที่”อำพล เจน”จัดสร้างขึ้นในระหว่างปี ๒๕๓๕ -๒๕๔๕ ถ้าไม่ได้สร้างให้เป็นรูปเหมือนหลวงพ่อหลวงปู่รูปใดเป็นการเฉพาะ จะได้รับเมตตาจาก”หลวงปู่คำพันธ์ โฆษปัญโญ”เสกให้แทบทุกรุ่น

รวมทั้ง”หลวงปู่พรหมา เขมจาโร”เสกให้แทบทุกรุ่นในระหว่างปี ๒๕๓๓- ๒๕๓๘ เช่นเดียวกัน

หลายรุ่นได้รับเมตตาจาก”หลวงพ่ออุตตมะ” เสกให้

บางรุ่นเสกร่วมกันทั้ง ๓ หลวงพ่อหลวงปู่อีกด้วย

ยังไม่นับครูบาอาจารย์รูปอื่นๆในยุคเดียวกันอีกมากมายหลายรูปล้วนเมตตาเสกให้

อุปไมย : ครูบาอาจารย์ที่เป็นองค์หลักในการปลุกเสกพระให้สมเด็จนวม นอกจาก”หลวงปู่ศุข วัดมะขามเฒ่า” ยังมี”หลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ”อีกรูปหนึ่งด้วย

เรียกว่าถ้าเป็นพระที่สมเด็จนวมจัดสร้างยุคต้น คือระหว่างประมาณก่อนปี ๒๔๖๓ จนถึงปี ๒๔๖๖ หลวงปู่ศุขเสกให้แทบทุกรุ่น

ส่วนยุคหลังระหว่างปี ๒๔๘๔ -๒๔๙๙ มีหลวงพ่อรุ่งปลุกเสกให้แทบทุกรุ่น

พระที่สมเด็จนวมสร้างขึ้นแล้วปรากฏว่ามีบันทึกการสร้างการเสกอย่างแน่ชัดนั้น เท่าที่รู้จักกันทั่วไปเป็นอย่างดีคือพระปรกใบมะขาม วัดอนงค์ ที่วงการพระรับรองว่า”หลวงปู่ศุข”เป็นองค์เสก จึงกลายเป็นพระใบมะขามที่มีราคาซื้อขายมูลค่าสูงที่สุด

สูงจนกระทั่งคนเป็นอันมากได้แต่แหงนคอตั้งบ่ามองตาละห้อย

พระอีกรุ่นหนึ่งซึ่งสมเด็จนวมจัดสร้างขึ้นและมีบันทึกการสร้างการเสกปรากฏชัดเจนคือ “เหรียญจุลมงกุฏพระพุทธบาทสระบุรี (เหรียญฉลุ)ปี 2494 – 2495”

เหรียญรุ่นนี้สมเด็จนวมรับเป็นธุระดำเนินการจัดสร้างและเป็นเจ้าพิธีจัดงานพุทธาภิเษกขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ โดยมีสมเด็จพระสังฆราชองค์ปัจจุบันในขณะนั้น(สมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงวชิรญาณวงศ์ วัดบวรนิเวศวิหาร)เสด็จเป็นองค์ประธาน และยัง สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์(อยู่) ซึ่งต่อมา ในปี ๒๕๐๖ ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช มีราชทินนามว่า สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ หรือที่นิยมเรียกกันทั่วไปว่า สมเด็จพระสังฆราชอยู่ วัดสระเกศ ทรงเข้าร่วมพิธีนี้ด้วย

ในส่วนของครูบาอาจารย์ทรงคุณทางขลังนั้นมี หลวงพ่อรุ่งวัด ท่ากระบือ, หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก และ หลวงพ่อกราน วัดโคกโพธิ์ เป็นองค์หลัก ตลอดจนครูบาอาจารย์ผู้เปรื่องปราดศาสตร์วิชาวิปัสสนากรรมฐานและไสยเวทวิทยาคมแห่งยุคนั้นรับอาราธนาเข้าร่วมพิธีพุทธาภิเษกที่ไม่ถูกกล่าวนามอีกมากมายหลายรูป

(เครดิตภาพพระปรกใบมะขาม วัดอนงค์ เนื้อเงิน : ป๋อง สุพรรณ)

***
เหรียญจุลมงกุฏพระพุทธบาทสระบุรี หรือที่นิยมเรียกว่า เหรียญฉลุพระพุทธบาทสระบุรี ได้มีการจัดสร้างขึ้น ๒ ครั้ง ในปี ๒๔๙๔ กับ ปี ๒๔๙๕ มี ๒ พิมพ์ คือพิมพ์เล็กกับพิมพ์ใหญ่ เป็นเหรียญที่มีขนาดกระทัดรัดตามเอกลักษณ์สมเด็จนวม

อาจกล่าวได้ว่า ท่านใดที่ปรารถนาจะหาพระซึ่ง “หลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ” ได้ปลุกเสกไว้ โดยที่ยังเป็นพระราคาจับต้องได้  ไม่แพงเกินไป  เหรียญฉลุพระพุทธบาทสระบุรี ปี ๒๔๙๔-๒๔๙๕ คือทางเลือกที่ดี

หมายเหตุ : เฉพาะเหรียญฉลุพระพุทธบาทสระบุรีรุ่นปี ๒๔๙๔ เท่านั้นที่ หลวงพ่อกราน วัดโคกโพธิ์ ได้ร่วมเสก
ส่วนเหรียญฉลุรุ่นปี ๒๔๙๕ หลวงพ่อกราน ไม่ได้ร่วมเสก เพราะเหตุว่าองค์ท่านได้ถึงกาลมรณภาพไปก่อน

****
หลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ : https://siamrath.co.th/n/99903
หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก : https://siamrath.co.th/n/153371
หลวงพ่อกราน วัดโคกโพธิ์ :
https://www.facebook.com/pongsuphanguarantee/posts/pfbid0c9xYJax8uPRbf7G3DkWAPL74RdAWbdAmeD95TfNjrxAFPS3kRbrMTahAM5LgVXyol

 

แชร์ :