อีสานลงใต้

อีสานลงใต้
เขียนโดย ยสธสาร
(นามปากกาของอำพล เจนใช้สำหรับเขียนคอลัมน์”อีสานสนุก”ในนิตยสารแปลกรายสัปดาห์ระหว่างปี2525-2533)

ผมรู้จักเรื่องราวของพระสุธนกับนางมโนราห์ตั้งแต่ยังเป็นเด็กประถม แต่ผมเพิ่งจะมารู้จักมโนราห์ ซึ่งเป็นศิลปะการแสดงหลังจากนั้นยี่สิบกว่าปี และเพิ่งจะได้ชมอย่างใกล้ชิดเมื่อสองสามวันผ่านมานี้เอง

เพื่อนบ้านชาวใต้บอกโปรแกรมแสดงมโนราห์ที่ทางวัดข้างหมู่บ้านกำหนดแก่ผมใน ตอนเย็น พอมืดค่ำก็มาเคาะประตูเรียกให้ไปดูด้วยกันกับเธอ เราเคยสนทนากันมานาน และมากกว่าหนึ่งครั้ง เธอหวังตั้งใจอยากให้ผมได้ดูมโนราห์บ้าง

เธอเชื่อว่ามโนราห์จะตรึงผมไว้จนเลิกเหมือนกับหมอลำหมู่ ลำคู่ ลำเพลินตรึงเธอไว้จนเลิกเหมือนกัน

โอกาสที่ผมเชื่อว่ามีน้อยสำหรับการจะได้ดูมโนราห์ในกรุงเทพฯ ก็เป็นความจริงขึ้นมาอย่างง่าย ๆ โดยไม่ต้องดิ้นรนแสวงหา มโนราห์ยกคณะมาเปิดโรงแสดงอยู่ริมรั้วหมู่บ้านจัดสรรของเรานี่เอง และผมก็ไม่ปล่อยให้โอกาสที่วูบระเรื่อขึ้นมาครั้งนี้ดับหายไป

เหมือนกับที่เคยปล่อยให้โอกาสอันดียิ่งในชีวิตหลายประการดับหายไปหลายครั้ง

เราคลอเคลียไปในหมู่มวลชน ซึ่งเป็นชาวใต้มากกว่าชาวอื่น ๆ ภาษาท้องถิ่นใต้ ที่มวลชนส่วนใหญ่ใช้พูดในคืนวันนั้นทำให้บรรยากาศดีขึ้นมาก ทำให้นึกเชื่อไปอึดใจหนึ่งว่าผมกำลังเดินอยู่ในเมืองใต้ และเบียดไปสู่ความสว่างไสวอันเป็นจุดเดียวที่แลเห็นชัดเจนที่สุด ในท่ามกลางความมืดของลานวัดอันกว้างขวาง

เราได้ที่นั่งหน้าเวทีโดยที่ไม่ได้จงใจเลือกเฟ้น แต่ก็เหมาะไปเสียทุกอย่างสำหรับการจะได้ดูมโนราห์อย่างใกล้ชิดให้สมกับที่ หวังตั้งใจมานาน

และสิ่งที่หวังตั้งใจมาเป็นเวลานานนั้น มันมิได้เป็นศรัทธาที่เกิดขึ้นมาเพื่อจะมาพบกับความผิดหวังเลย ตรงกันข้ามกลับทำให้ผมรู้สึกว่าสิ่งที่เพื่อนชาวใต้เขามุ่งมั่นปรารถนาอยาก ให้ผมได้ดูมโนราห์นั้นมันเป็นศรัทธาอันมากมายด้วยสาระประโยชน์ทั้งสิ้น

เมื่อนางมโนราห์ทั้งเจ็ดพี่น้อง ออกมาร่ายรำสนุกสนานสำราญในสระ และเมื่อพรานบุญแพลมโฉมออกมาจากหลังโรง ผมก็เชื่อในศรัทธานั้นอย่างจริงใจ

เสียงทับ, เสียงกลอง, ฆ้อง, ปี่พาทย์ โหมประโคมให้ลีลาทำนองเสนาะและจังหวะสำหรับท่าร่ายรำซึ่งน้าวใจให้เคลิ้ม คล้อยไป ไม่ต่างอะไรกับเมื่อผมนั่งดูหมอลำหมู่ และเพลินกับเสียงแคนซึง อย่างที่เพื่อนชาวใต้เชื่อจริงๆ

ผมนั่งอยู่ตรงนั้นจนมโนราห์เลิก เหมือนกับที่ผมถูกหมอลำตรึงไว้จนสว่างคาตา นี่แหละคือศิลปะ มันดูดใจดึงอารมณ์และตรึงก้นผู้คนไว้กับที่ อย่างกับมีมนต์ขลังเป่ามาสะกดอย่างวิเศษ

เมื่อเรากลับถึงบ้าน พระจันทร์เพิ่งคล้อยลงไปทางทิศตะวันตก แต่เวลาที่ปรากฏบนข้อมือยังไม่ถึงกับเตือนเราให้รีบเข้านอน สองมือของเราทั้งสองจึงช่วยกันหอบหิ้วเครื่องดื่มออกมาจิบและคุยกันถึง มโนราห์ที่เพิ่งจบไปไม่ถึงชั่วโมง โดยมีแสงจันทร์อาบและโอบบรรยากาศ

ลมดึกรวยรินมาแผ่ว ๆ มันเคลียคลอผ่านผิวกายบางเบา และพาเอากลิ่นดอกสายน้ำผึ้งริมรั้วมาฝาก

ผมบอกเธอว่าผมชอบท่ารำของพวกเขามาก และขอให้เธอพูดถึงมโนราห์ในส่วนที่เธอรู้จักและอยากจะเล่าให้ผมฟังบ้าง

ท่ารำของมโนราห์ที่ผมชอบนั้น เธอบอกว่าเป็นท่ารำของเทวดา และเลยเล่าตำนานที่มาด้วยความทรงจำอันดีเลิศและแคล่วคล่องอย่างผู้ที่คุ้น เคย และเธอก็อาจเคยเล่ามาแล้วหลายรอบหลายครั้ง

ยังมีพระมหากษัตริย์พระองค์หนึ่งนามว่า ท้าวทศวงศ์ครองพระนครศรีอยุธยาแลมีพระมเหสีนามว่า พระนางสุวรรณดารา มีพระราชธิดาร่วมกันนามว่า นางนวนสำลี

ครั้นเมื่อพระราชธิดาจำเริญวัยขึ้น เทวดาพลันจุติลงมาปฏิสนธิในครรภ์ จนในที่สุดครรภ์จำเริญใหญ่ขึ้น พระราชบิดาสงสัยจึงให้โหรทำนาย

โหรบวกลบคุณหารแล้วกราบทูลว่า ในชมพูทวีปนี้ ไม่มีมนุษย์ใดจะสามารถแตะต้องพระราชธิดาได้เลย แต่เวลานี้ชะตาบ้านเมืองกำลังจะบังเกิดนักเลงชาตรี

พระราชบิดาทราบความแล้ว ทรงดำริว่า หากพระราชธิดาอยู่ในเมืองต่อไปเห็นจะต้องเป็นที่อับอายแก่ชาวเมือง จึงบัญชาให้เสนาทำแพลอยนางนวนสำลี ลอยไปจนถึงมหาสมุทร เทวดาจึงบันดาลให้แพลอยไปติดยังเกาะกะชังแล้วเนรมิตที่พำนักพักพิงให้

ครั้งครบถ้วนทศมาส นางนวนสำลีประสูติกุมาร เทพยดาจึงเอาดอกมณฑาสวรรค์มาชุบเป็นนางนมนามว่า ศรีมาลา แล้วชุบเป็นนางพี่เลี้ยงนามว่า แม่เพียน และแม่เภา เพื่อบำรุงรักษาพระกุมาร

อยู่มาวันหนึ่งนางศรีมาลา และนางที่เลี้ยงพากุมารน้อยไปเที่ยวป่า บังเอิญพบสระอโนตัดนที และได้เห็นนางกินรี 500 นางกำลังลงเล่นวารีและร่ายรำ

นางศรีมาลาและกุมารจึงจดจำเอาท่ารำของนางกินรีทั้งหลายมา ครั้นกุมารน้อยอายุได้ 9 ปี เทวดาลงมาประทานนามให้ว่า พระเทพสิงหร แล้วเอาศิลาก้อนหนึ่งเสกให้เป็นพรานบุญ พระกุมารเลยได้พรานบุญเป็นคู่เล่นรำทำเพลงแต่นั้นมา

วันหนึ่งทั้งสองออกไปเที่ยวป่าและได้นอนหลับไหลภายใต้ต้นรัง เทวดาลงมาเข้าฝันบอกท่ารำ พระเทพสิงหรกับพรานบุญก็สลักจำท่ารำได้แม่นยำทั้ง 12 ท่า คือ ท่าแม่ลาย, เขาควาย, กินนรจับระบำ, ลงฉาก, ฉากน้อย, ผาหลา, บัวตูม, บัวบาน, บัวคลี่, บัวแย้มและท่าแมงมุมชักใย ท่ารำทั้งสิบสองท่ากลายเป็นแม่บทแบบฉบับของมโนราห์มาจนทุกวันนี้

ผมเติมน้ำส้มในแก้วของเธอ เมื่อเห็นว่ามันพร่องไป และผมก็เติมโซดาและน้ำแข็งให้กับตัวเอง

เธอยิ้มเล็กน้อยราวกับจะใช้มันแทนคำพูดว่า นี่เป็นเพียงตำนาน แต่ผมก็อยากจะเชื่อว่ามันเป็นความจริง แม้จะรู้เต็มอกในความหมายอย่างที่เธอยิ้มอยู่กลางแสงจันทร์นั้น

เธอเล่าว่าอีกตำนานหนึ่งซึ่งดูจะมีทางเป็นความจริงได้มากกว่าก็คือ มโนราห์กับละครชาตรีเป็นทำนองเดียวกัน เคยนิยมอย่างกว้างขวางในสมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นราชธานี และมูลเหตุที่มโนราห์แพร่ลงไปทางภาคใต้ก็ด้วยเหตุดังนี้

ครูเดิมหรืออีกชื่อหนึ่งคือขุนศรัทธาเป็นชาวกรุงศรีอยุธยา มีชื่อเสียงทางการแสดงละครชาตรี ต่อมามีความผิดต้องราชทัณฑ์ถูกลอยแพไปออกปากน้ำแล้วเลยไปติดยังเกาะสีชัง พวกชาวเรือไปพบเข้าจึงรับไปส่งขึ้นฝั่งที่เมืองนครศรีธรรมราช ขุนศรัทธาได้นำเอาวิชาความรู้ที่ติดตัวมาสอนสั่ง และฝึกหัดชาวเมืองนครฯ จนมีชื่อเสียง และถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าเมืองละคร และเนื้อเรื่องที่มักใช้ในการแสดงนิยมเอา เรื่องนางมโนราห์มาเล่น คนทั่วไปจึงเรียกการเล่นชนิดนี้ว่ามโนราห์ แต่ชาวใต้นั้นพูดกันสั้น ๆ จึงเพี้ยนไปกลายเป็น นราห์

มโนราห์เป็นการละเล่นที่นิยมแพร่หลายในภาคใต้ ไม่เคยปรากฏว่าเป็นที่นิยมเล่นในภาคอื่น ๆ กล่าวได้ว่าเป็นสมบัติของชาวใต้ และยังสามารถอวดสมบัตินี้ได้อย่างเต็มภาคภูมิ

กล่าวเน้นว่า เธอภูมิใจในมโนราห์และเชื่อว่ามีมากเท่า ๆ กับที่ผมภูมิใจในหมอลำหมู่ และมโนราห์เคยเป็นส่วนหนึ่งของคุณสมบัติผู้ชายที่กำลังจะมีเมีย ซึ่งบิดามารดาฝ่ายหญิงบวกเข้าไปรวมอยู่กับการตัดสินใจ

เป็นธรรมเนียมของชาวใต้สมัยโบราณ

ผู้ชายไปขอลูกสาว ฝ่ายบิดามารดาจะตั้งคำถามสองข้อ คือ รำมโนราห์เป็นหรือไม่ กับขโมยควายเป็นหรือไม่

ถ้าหากไม่เป็นทั้งสองอย่างจะไม่ยอมยกลูกสาวให้เด็ดขาด

ผมถามเธอว่า ที่เล่ามาอย่างนี้เป็นความจริงหรือ เธอพยักหน้ายืนยันความจริงและมองผมแน่วแน่

สายลมดึกพัดมาอีกวูบหนึ่ง กลิ่นหอมของสายน้ำผึ้งยังไม่จางหาย ผมมองเวิ้งฟ้าที่มีพระจันทร์กระจ่างเหมือนใจกำลังเลื่อนลอย

แต่ที่จริงผมกำลังคิด

พรุ่งนี้ผมจะเริ่มหัดมโนราห์และขโมยควาย

————————————————————————–
งานเขียนของคุณอาอำพล เจน  จากหนังสือศักดิ์สิทธิ์  …. 2527
————————————————————————–
แชร์ :

ความคิดเห็น

** โปรดแสดงความคิดเห็นอย่างมีวิจารณญาน