ปะปวนดอม

ยุคของหมอตำแย ตัดรกด้วยผิวไม้ไผ่ก่อนสมัยมีดผ่าตัดของสูติแพทย์ ทารกเพิ่งเกิดมาร้องแว้แรก หากเป็นชายจะมีผู้จัดสมุดดินสอมาวางไว้ข้าง ๆ และ หากเป็นหญิงก็จะวางด้าย กับเข็มไว้ข้างกาย

สมุดดินสอ ให้ความหมายในการศึกษาวิชาความรู้เพื่อไปสู่การเป็นเจ้าคนนายคน
ด้ายกับเข็มบอก อนาคตอันหลีกเลี่ยงได้ยากของงานบ้านงานเรือน

คนจีนสนับสนุนบุตรชายให้เล่าเรียนเขียนอ่านหรือไม่ก็ให้เป็นทายาทสืบทอดอาชีพ ส่วนบุตรี ให้อยู่ในครัวปรุงอาหารและทำงานบ้าน

บุตรชายสืบสกุลให้ตนเอง แต่บุตรีสืบสกุลให้ผู้อื่น

คนอีสานจูงมือบุตรชายไปสู่ท้องนา ออกไปหาอาชีพเลี้ยงตน แล้วก็เลี้ยงครอบครัวของตนในวันหน้า

ส่วนอีนางผู้หญิงก็คอยที่เรือนและเรียนงานปรุงอาหารและปั่นฝ้ายทอหูก

คนไทยภาคกลางก็ส่งลูกชายเข้าวัดเรียนวิชา และกักลูกสาวไว้เรียนการเป็นแม่เรือน ทั้งเย็บปักถักร้อยประดิดประดอยของกิน

ภาพพจน์ของผู้ชาย จึงสูงกว่าผู้หญิงตลอดมา

เป็นอย่างนี้อย่างเปิดเผยมาแต่โบราณ แม้เดี๋ยวนี้ก็ยังเป็นแต่อาจแฝงอยู่อย่างเงียบ ๆ

ในซาอุดีอาระเบียยังเชื่อมโยงยุคสมัยเดิมกับปัจจุบันไว้ด้วยผู้ชายที่มีเมียมากอย่างไม่จำกัด
ผู้หญิงจะถูกเก็บไว้ในบ้านเป็นสมบัติประการหนึ่งของผู้ชายผู้มั่งคั่ง
แต่หากเป็นชายคนยาก เขาอาจไม่มีผู้หญิงเลยตลอดชีวิต

นอกจากลาหรือแพะกลางทะเลทราย

ในอดีตอันยาวนานของประเทศไทยผู้ชายก็เคยสามารถมีเมียมากได้อย่างเปิดเผยและ ถูกกฎหมาย แล้วเชื่อมโยงอดีตนั้นมาสู่ปัจจุบัน ด้วยการมีเมียเก็บไว้ตรงโน้น ตรงนี้ ตามแต่ความสามารถในวิชาซุกซ่อน

เป็นความจริงมาตั้งนานแล้วว่าโครงสร้างของสังคมโดยเฉพาะของไทย ไม่ว่าจะเป็นการเมือง เศรษฐกิจ ประเพณีความเชื่อและความศรัทธา ตลอดจนกฎหมายตั้งเดิม ได้อำนวยให้ผู้ชายมีสถานะเหนือผู้หญิงทุก ๆ ด้าน

และส่งผลไปถึงการสามารถที่จะมีเมียมากได้อย่างไม่ขัดหูขวางตา

ยุคสมัยพ่อปกครองลูกถึงจะอยู่กันอย่างครอบครัว ผู้ชายก็คงเป็นผู้นำที่มีอำนาจมากกว่าผู้หญิงอยู่ดี

สังคมสุโขทัยตำหนิผู้ชายที่เป็นชู้กับเมียผู้อื่น แต่ไม่ห้ามการมีเมียหลายคน

ส่วนผู้หญิงที่มีผัวแล้วจะยุ่งเกี่ยวกับผู้ชายอื่นไม่ได้เด็ดขาด

แม้จะยังไม่มีกฎหมายตราออกมา แต่ไตรภูมิพระร่วงก็ขู่ผู้หญิงไว้อย่างน่ากลัวด้วยการบรรยายภาพนรกภูมิ อันผู้หญิงนอกใจผัวจะต้องตกไปสังเวยบาปในนั้น

ครั้นถึงสมัยอยุธยา ระบบพ่อปกครองลูกก็ตกไป

โครงสร้างของสังคมระบบใหม่ ถูกกำหนดขึ้นมาและตราไว้เป็นกฎหมายในปี พ.ศ. ๑๙๙๑
กฎหมายนั้นเรียกว่า “พระอัยการตำแหน่งนายพลเรือน และพระอัยการตำแหน่งนายทหารหัวเมือง” แบ่งฐานะ ศักดินายศถาบรรดาศักดิ์ และตำแหน่งไว้ ๔ ระดับ คือ
๑. พระมหากษัตริย์ และเชื้อพระวงศ์
๒. ขุนนาง
๓. ไพร่
๔. ทาส

พูดง่าย ๆ ก็คือชนชั้นนายกับชนชั้นไพร่
ชนชั้นนาย คือ พระมหากษัตริย์และเชื้อพระวงศ์กับขุนนาง
ชนชั้นไพร่ ก็คือไพร่และทาส

ชนชั้นนาย โดยเฉพาะพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์กลางของอำนาจทั้งปวง แล้วกระจายอำนาจนั้นไปสู่ขุนนางและมูลระดับต่าง ๆ จึงมีอภิสิทธิ์เหนือไพร่และทาสทุก ๆ ด้าน

กล่าวได้ว่าชนชั้นนาย เป็นผู้กำหนดความเป็นไปในสังคมโดยสิ้นเชิง ชนชั้นนายเหล่านี้ ก็จะเป็นผู้ชายเสียทั้งหมด และได้กุมอำนาจทาง การเมือง ตลอดจนการบ้านเอาไว้ด้วย

จะเห็นได้ว่าผู้หญิงไม่มีบทบาทสำคัญอะไรเลย

โดยทั่ว ๆ ไปแล้ว ชีวิตในวัยเยาว์ของผู้หญิงก็ขึ้นอยู่กับพ่อ พอสมรสแล้วก็ขึ้นอยู่กับผัว เป็นระบบที่สังคมสร้างเอาไว้อย่างนี้ ไม่ว่าจะเป็นสังคมไทย, แขกหรือจีน หรือขะแมร์เขมร

ดังนั้นจึงไม่แปลกอะไรที่วันหนึ่งก็มีกฎหมายรองรับฐานะ และสิทธิ์ของผู้ชาย ในอันที่จะมีอำนาจเหนือผู้หญิงออกมา

กฎหมายนั้นเอื้อให้ผู้ชายมีเมียได้หลายคนอย่างถูกต้อง และชอบธรรม เรียกว่ากฎหมาย “พระอัยการลักษณะผัวเมีย” แบ่งเมียไว้ ๓ ประเภท

๑. เมียกลางเมือง ก็คือเมียที่พ่อหรือแม่หาให้ แต่ไม่จำเป็นว่าจะได้เป็นเมียหลวงเสมอไป ขึ้นอยู่ที่ฝ่ายผัวจะยกย่องให้เป็นเมียระดับใดก็ได้ตามใจ เพราะว่าพ่อหรือแม่สามารถจะหาเมียมาให้ได้มากกว่า ๑ คน
๒. เมียกลางนอกคือ เมียน้อย
๓. เมียกลางทาสี หรือทาสภรรยา ก็คือเมียที่ได้จากการซื้อหรือไถ่ตัวมาเลี้ยงดู และอาจรวมไปถึงเมียที่ฉุดคร่าเอามาเป็น ทาสรับใช้

เมียทั้ง ๓ ประเภทนี้ ผู้ชายจะมีกี่คนก็ได้ไม่ผิดกฎหมาย

ผู้ชายก็ชอบจะมีมาก ๆ อีกด้วยเพราะเป็นการแสดงฐานะอันมั่นคง ทางเศษฐกิจ และอำนาจทางการเมือง

ซึ่งอย่างหลังนี้มักจะเป็นเหตุผลหนึ่ง ที่ทำให้ชนชั้นนาย เช่น พระมหากษัตริย์และเจ้านายชั้นสูงในสมัยอยุธยาถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีมเหสี มีเมียหลายคน

คือเอาบุตรีของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่มาเป็นเจ้าจอมหลาย ๆ คน เพื่อประดับบารมีและป้องกันการคิดกบฎของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เหล่านั้น

บางครั้งการมีเจ้าจอม มีเมียหลายคนก็อาจไม่ใช่เพราะความพอพระทัยหรือพอใจประการเดียว

แต่ความจำเป็นทางการเมืองทำให้จำต้องมีเอาไว้

เรียกว่าเป็นยันต์กันกบฎนั่นเอง

จดหมายเหตุของลาลแบร์ ราชทูตฝรั่งเศส ที่เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีใจความว่า
“คนไทย อาจมีภรรยาได้หลายคน เฉพาะคนมั่งมีเท่านั้นที่มีภรรยามากกว่าหนึ่งคน ทั้งนี้เพื่อแสดงว่ามีบุญบารมี มิใช่แสดงว่ามักมากทางกามารมณ์เสมอไป”

สังคมของเขมรก็ไม่แตกต่างไปสักเท่าไหร แม้ในขณะนี้ที่บ้านเมืองกำลังปริออกเป็นสองฝักสามฝ่าย ผู้ชายที่มีอำนาจมีเงินก็สามารถมีเมียได้หลายคน

อย่างเช่นนายพล เตี๊ยบแบน ที่กำลังบัญชาการรบกับญวนวุ่นวายในขณะนี้ก็มีเมียหลายคน เป็นเครื่องแสดงถึงบุญบารมีและอำนาจเหมือนกัน

บรรดาเมีย ๆ ทั้งหลายจะถูกเรียกว่า “โกนเจา” ซึ่งก็คือ “หลาน” และเมีย ๆ ทั้งหลายก็จะเรียกผัวของเธอว่า “หลูกตา” ซึ่งก็คือ “คุณตา”

โกนเจา ทั้งหลายนี้ก็อยู่ในชั้นเมียน้อย ซึ่งหลูกตายกย่องเลี้ยงดูแล้ว ต่อเมื่อพออกพอใจโกนเจาคนไหน เป็นที่สุดแล้วก็จะยกฐานะให้เป็น “ปะปวนดอม” คือเป็น “เมียหลวง” แล้วปะปวนดอมก็จะได้เรียกหลูกตาเสียใหม่ว่า “ปะไดย” ซึ่งก็คือ “สามี” นั่นเอง

ปะปวนดอม หรือเมียหลวงก็ใช่จะมีเพียงคนเดียว

ผู้ผัวสามารถจะยกโกนเจาให้ขึ้นเป็นปะปวนดอมได้เรื่อย ๆ

เฉพาะปะปวนดอม กับโกนเจาของท่านนายพลก็มีมากถึง ๑๗ คน นี่ยังไม่นับอีหนูทั้งหลาย ที่กำลังรอขึ้นชั้นเป็นโกนเจาอีกไม่รู้เท่าไหร่กัน

บรรดาไพร่พลทหาร และประชาชนฝ่ายท่านนายพลก็ไม่เห็นการมีเมียมากของท่านนายพลเป็นเรื่องขัดหูขัดตาอะไรเลย

นิยมยินดีชื่นชมว่านายพลของพวกเขามีบุญบารมีเหลือประมาณ

ท่านนายพลก็คงจะทยอย สร้างบุญบารมีนี้ต่อไปอีกเรื่อย ๆ

จะเห็นได้ว่า โครงสร้างของสังคมทั้งเศรษฐกิจ และการเมือง หรือความเชื่อถือ ศรัทธา นี่เองที่เป็นตัวกำหนดให้ผู้ชายมีสถานะเหนือผู้หญิง

จึงสามารถมีเมียมากได้โดยชอบธรรม

เรื่องนี้ยังไม่จบครับ
(ข้อเขียนนี้เกิด จาก แรงบันดาล ใจที่ได้อ่านบทความเรื่องระบบ ผัวเดียว หลายเมีย ซึ่งคุณดารารัตน์ เมตตาระกานนท์ อาจารย์ประจำภาควิชามนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ค้นคว้า และเรียบเรียงขึ้น บางข้อมูลของท่านจึงถูกผมลักมาเขียนใหม่ที่นี่)

———————————————————————–
งานเขียนของคุณอาอำพล เจน  … จากหนังสือแปลก ฉบับที่ 513
วันที่ 24  ธันวาคม 2528
————————————————————————
แชร์ :

ความคิดเห็น

** โปรดแสดงความคิดเห็นอย่างมีวิจารณญาน