เหรียญหลักเมือง 2519 อุบลราชธานี

e0b980e0b8abe0b8a3e0b8b5e0b8a2e0b88de0b8abe0b8a5e0b8b1e0b881e0b980e0b8a1e0b8b7e0b8ade0b887e0b8ade0b8b8e0b89ae0b8a5-1-e0b8abe0b899 e0b980e0b8abe0b8a3e0b8b5e0b8a2e0b88de0b8abe0b8a5e0b8b1e0b881e0b980e0b8a1e0b8b7e0b8ade0b887e0b8ade0b8b8e0b89ae0b8a5-1-e0b8abe0b8a5

ภาพจาก : prasaksit.wordpress.com

——————————————–

เหรียญหลักเมือง 2519 อุบลราชธานี

เคยบอกผู้อ่านครั้งหนึ่งว่า เหรียญหลักเมืองอุบลฯ ปี 2519 มีหลวงพ่อชา สภทฺโท เข้าร่วมพิธีพุทธาภิเษกด้วย ให้ถือเป็นพระเครื่องอีกรุ่นหนึ่งที่ถูกบันทึกเข้าทำเนียบพระเครื่องของท่าน

บอกผิดไปแล้วครับ

ข้อเท็จจริงนั้นหลวงพ่อชาไม่ได้ไปร่วมพิธีพุทธาภิเษกเหรียญรุ่นนี้แต่อย่าง ใด แม้ว่าในสูจิบัตรพิธีปลุกเสกเหรียญหลักเมืองอุบลฯ จะมีชื่อของท่านปรากฏอยู่ในรายการนิมนต์ก็ตาม

ทั้งสองพิธีนี้ได้มีหนังสือนิมนต์ท่านเข้าร่วมพิธีปลุกเสกจริง แต่ท่านไม่ไป

รับแต่หนังสือนิมนต์ ไม่รับนิมนต์

ผู้ที่มีเหรียญหลักเมืองอุบลฯ ไว้กับตัวอาจรู้สึกผิดหวัง ถ้าหากท่านมั่นศรัทธาในองค์หลวงพ่อชา แต่ว่าแม้นไม่มีหลวงพ่อชา ก็ยังมีหลวงพ่อคูณเข้ามาอีกองค์

เทพเจ้าด่านขุนทดองค์นั้นแหละครับ

หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ

ท่านเข้ามามีส่วนร่วมในเหรียญหลักเมืองอย่างเงียบเชียบปราศจากผู้คนสนใจ ตั้งแต่สมัยชื่อของท่านยังไม่ก้องไกลเช่นวันนี้

ปี 2519 ชื่อของหลวงพ่อคูณยังเบาไปเมื่อเปรียบกับชื่อที่ก้องจนไม่มีที่กั้นอย่าง เช่นหลวงปู่ขาว อนาลโย หลวงปู่ฝั้น อาจาโร หลวงปู่มุม วัดปราสาทเยอ หลวงพ่อผาง จิตฺตคุตฺโต หลวงปู่ครูบาพรหมจักรสังวร หลวงปู่สิม พุทธาจาโร เป็นต้น

แต่ปี 2536 ก็ประกาศสัจธรรมข้อที่ว่าไม่มีอะไรเที่ยง

พลุอันใดก็ยังไม่เท่าพลุที่ชื่อ คูณ ปริสุทฺโธ

เรื่องของหลวงพ่อคูณมีผู้เล่าอยู่มากในหลายแห่ง แต่ผมจับใจแน่นสนิทในข้อที่หลวงพ่อคูณเป็นผู้ให้อย่างแท้จริง เป็นการแสดงชัดในคำของหลวงปู่คำพันธ์ โฆษปัญโญ ที่เคยปรารภกับผมว่า

“ครูบาอาจารย์มีแต่ให้”

ท่าน CONFIRM คำกล่าวนี้ด้วยการให้และให้ มีเท่าไหร่ให้หมด ไม่มีเลยก็ยังให้ ลมเป่าที่ดูจะมีค่ากว่าอะไรทั้งหมด

ว่ากันว่าท่านไม่เคยมีเงินเหลือเป็นส่วนตัวเกิน 10 บาท อย่างที่คุณสุวิทย์ บก.เขียนไว้

“เขาขอกูมา 25 ล้าน”
“หลวงพ่อให้เขาหรือยัง”
“กูไม่มีเงิน แต่เงินของมึงที่ให้กูนี่กูจะให้โรงพยาบาลทั้งหมด”

ยิ่งให้ยิ่งมี

ท่านให้ตั้งแต่ยังไม่มี

ในที่สุดแล้วท่านก็ย่อมมีให้

นี่เป็นเรื่องแปลกที่สุด

ความเป็นผู้ถ่อมตน ไม่ถือว่าท่านโด่งดังกว่าใครก็เป็นอีกอย่างหนึ่งที่น่ากล่าวถึง ผมจำแม่นในภาพและเสียงที่น่ารักยิ่งครั้งหนึ่ง

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย ไปเป็นประธานพิธีพุทธาภิเษกในงานหนึ่งของหลวงพ่อคูณ เสร็จพิธีพุทธาภิเษกแล้ว หลวงพ่อพุธเมตตาพรมน้ำมนต์ให้ประชาชนที่มาร่วมงานจนทั่วถึง ท่านเดินพรมน้ำมนต์ มาจนถึงหลวงพ่อคูณ

“ผมด้วยครับ” หลวงพ่อคูณลงนั่งยองๆ ขอรดน้ำมนต์
“เอาด้วยเรอะ” หลวงพ่อพุธยิ้ม ๆ
“เอา”
“นี่ ๆ ๆ” หลวงพ่อพุธเอาก้านมะยมตีศีรษะหลวงพ่อคูณเบา ๆ

คนทั้งหลายยิ้มเกลื่อนกันทั้งหมด

น่ารักที่สุด

หรือแม้แต่เรื่องที่ทราบกันดีแล้วทั่วไปในคำที่ท่านพูดฟ้องว่า
“ไอ้พวกนี้ มันไม่ให้กูพูดกับมึง”

วินาทีนี้ หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ คือเทพเจ้าที่น่ารัก น่าเคารพเลื่อมใสที่สุดในด่านขุนทด

มาดูรายละเอียดของเหรียญหลักเมืองอุบลฯ ปี 2519 ว่าดีอย่างไรกันต่อไป

เริ่มที่การจัดหาชนวนในการสร้าง ได้ใช้แผ่นเงิน ทองแดง และทองเหลือง ไปกราบขอครูบาอาจารย์ 108 องค์ ทั่วประเทศลงอักขระเลขยันต์

แผ่นที่ 1 เริ่มที่หลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ำกลองเพล อุดรธานี เรื่อยมาจนถึงแผ่นสุดท้ายคือแผ่นที่ 108 หลวงปู่ฝั้น อาจาโร เป็นผู้ลงอักขระปิดท้ายรายการ

คณาจารย์ที่ลงอักขระแผ่นยันต์และร่วมพิธีพุทธาภิเษกไม่อาจบันทึกได้ครบถ้วน ทั้ง 108 รูป แต่จะแสดงรายพระนามและรายนามเท่าที่จะทำได้ ดังนี้

คณาจารย์ภาคกลาง
1. สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (วาสนา) 2. สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ) 3. สมเด็นพระมหาจีรวงศ์ (พิมพ์) 4. หลวงปู่สี ฉนฺทสิริ วัดเขาถ้ำบุนนาค 5. หลวงปู่เทียม สิริปัญโญ วัดกษัตราธิราช

คณาจารย์ภาคเหนือ
1. ครูบาคำแสน อินทจกฺโก 2. ครูบาคำแสน คุณาลงฺกาโล 3. ครูบาอินถา อินฺทจกฺโก 4. ครูบาคำตัน ขตฺติโย 5. ครูบาชุ่ม โพธิโก 6. ครูบาพรหมจักรสังวร 7. พระครูวินัยธรบุญมี ชยวุฒโท 8. หลวงปู่สิม พุทธาจาโร 9. ครูบาธรรมชัย ธมฺมชโย

คณาจารย์ภาคอีสาน
1. หลวงปู่ขาว อนาลโย 2. หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ 3. พระอาจารย์บุญมา ฐิตเปโม 4. หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี 5. หลวงปู่คำดี ปภาโส 6. หลวงพ่อผาง จิตฺตคุตฺโต 7. หลวงพ่อมา ญาณวโร 8. หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ 9. หลวงปู่มุม อินทปญฺโญ 10. หลวงพ่อชา สุภทฺโท (ลงแผ่นยันต์) 11. หลวงปู่หนู วัดทุ่งศรีวิไล 12. หลวงปู่บัว เตมิโย 13. พระอาจารย์วัน อุตตโม 14. หลวงปู่ฟั่น อาจาโร

เหรียญหลักเมืองเมื่อสร้างสำเร็จแล้วได้นำเข้าพิธีที่วัดบวรนิเวศวิหาร 7 วัน 7 คืน (5-12 ก.ค. 2519) และนำเข้าไว้สวดในพระอุโบสถวัดราชบพิธ 5 วันพระ (9 ต.ค. – 14 พ.ย. 2519) จากนั้นนำเข้าไว้สวดในพระอุโบสถวัดกษัตราธิราช 3 วันพระ (15 พ.ย. – 5 ธ.ค. 2519) นำเหรียญทั้งหมดไปพรมน้ำมนต์หลวงปู่พระชัยมงคล จังหวัดสมุทรปราการ แล้วนำกลับเมืองอุบลฯ เพื่อทำพิธีพุทธาภิเษกใหญ่อีกครั้งหนึ่งในวันที่ 15 ม.ค. 2519 ณ ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองอุบลราชธานี

ทุกวันนี้เหรียญหลักเมืองอุบลฯ รุ่นนี้ยังพอหาได้บ้างในสนามพระเครื่อง และยังมีราคาไม่แพง ถ้าพบในจังหวัดอื่นนอกเมืองอุบลฯ เข้าใจว่าจะราคาถูกลงไปอีก

เมื่อปีที่แล้วผมได้เหรียญหลักเมืองอุบลฯ มาในราคา 80 บาท ปีนี้คงไม่แพงเกินกว่านี้สักเท่าไหร่หรอกครับ

เหรียญหลักเมืองอุบลฯ ไม่มีแหล่งเหรียญตกค้าง ไม่มีสถานที่ให้บูชาได้ทางไปรษณีย์ ดังนั้นผู้อ่านที่มีศรัทธาอยากจะได้ต้องขวนขวายหากันเอาเอง

พูดเหมือนเดิมอีกแหละครับ

เห็นที่ไหนคว้าไว้โลด

———————————————————————————
งานเขียนของคุณอาอำพล เจน ……. หนังสือศักดิ์สิทธิ์ฉบับที่  264
วันที่ 1 มกราคม 2537
——————————————————————————–
แชร์ :

ความคิดเห็น

** โปรดแสดงความคิดเห็นอย่างมีวิจารณญาน