สิทธัตโถ 2521


พูดถึงพิธีพุทธาภิเษกที่พอจะเรียกได้ว่าเป็นมหาพิธีนั้นมีอยู่ไม่มาก

มหาพิธีนั้นไม่อาจถือเอาพิธีใหญ่โตเป็นสำคัญอย่างเดียว ต้องดูตัวครูบาอาจารย์ที่ได้รับนิมนต์เข้าร่วมพิธีเป็นหลัก

บางพิธีใหญ่จริง ๆ แต่ขาดคุณภาพ

พิธีเล็ก ๆ แต่คุณภาพมหาศาลยังดีกว่า

ครูบาอาจารย์เก่ง ๆ เดี๋ยวนี้เหลือน้อยแล้ว ส่วนใหญ่ล้มหายตายจากไปเยอะแยะ ถึงกับมีความระทดท้อแก่นักสร้างพระมืออาชีพหลายคนว่า ถ้าทำพระแล้วคุณภาพสู้สมัยก่อนไม่ได้อย่างทำดีกว่า

การสร้างพระทุกวันนี้จะหาที่มีเจตนาสร้างอย่างบริสุทธิ์เหมือนคนรุ่นเก่ายาก มาก เงินเป็นตัวนำ เจตนาในการสร้างพระทุกวันนี้เป็นส่วนใหญ่

พูดง่าย ๆ คือผลประโยชน์

พระทุกวันนี้แทบไม่ใช่พระก็มีเกลื่อนกลาด ใหญ่ด้วยยศศักดิ์และมากด้วยอายุพรรษา แต่อ่อนในธรรมะเป็นอย่างยิ่ง

บวชเป็นพระมานี้ก็เพื่อสละออก แต่หลายรูปสะสมเข้า

วิ่งเต้นหายศศักดิ์ไม่ต่างจากชาวโลก และถึงกับเป็นเครื่องมือนักการเมืองก็มี

จะก้มลงกราบพระบางองค์ในวันนี้ มือแข็งหลังตึง ก้มกราบไม่ลง

เกจิอาจารย์บางรูปผมเคยไปสัมผัสท่าน ได้กลิ่นเหล้าหึ่งและเดินโงนเงน แต่แทบทุกพิธีพุทธาภิเษก เห็นนิมนต์ท่านมานั่งอยู่เสมอ

เป็นกาฝากพิธี

เหมือนหลวงพี่วัดบรมนิวาส เคยกล่าวว่า นั่ง ๆ ให้มันครบจำนวน หรือให้มันมาก ๆ เข้าไว้เท่านั้น

บางวัดยอมเป็นเครื่องมือนักขายพระมืออาชีพ รับสินบน 5 แสน แล้วยอมให้พวกพญามารใช้วัดเป็นสถานที่ปลุกเสกพิธี และใช้ชื่อวัดเป็นเจ้าของวัตถุมงคลรุ่นนั้น โดยไม่แยแสคณะสงฆ์ทั้งหลายซึ่งพูดอะไรไม่ออก เพราะท่านเป็นเจ้าอาวาส

พญามารยิ้มกริ่มเย้ยหยันพระเถระผู้มากด้วยความโลภ

มองดูแล้วจะหามหาพิธีที่บริสุทธิ์สะอาดอย่างคนรุ่นก่อนหรือพิธีรุ่นเก่าได้ยากมาก

ทุกคนทุกวันนี้ล้วนฉลาดปราดเปรื่องด้วยความรู้กันทั้งสิ้น จะดีเลว บริสุทธิ์สกปรกอย่างไรพิจารณากันเอาเอง

 

มาดูมหาพิธีสิทธัตโถ ปี 2512 ดีกว่า

สิทธัตโถเป็นชื่อของพระกริ่งที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ปัจจุบันอยู่ถ้ำปากเพียงเมืองเชียงใหม่

ใครอยากได้ทอง ให้บอกรายการตามไปดูได้เลย

เริ่มที่มูลเหตุเดิม ๆ อันก่อให้เกิดพระกริ่งสิทธัตโถ

ตอนนั้นสมเด็จพระสังฆราชญาโณทัย วัดสระเกศ ทรงประชวรหนักใกล้สิ้นพระชนม์ พระองค์ทรงปรารภกับพระครูสังฆบริรักษ์ (วีรญาโณ มโนรมย์) วัดบรมนิวาส ว่า ในชีวิตของพระองค์ทรงเคยตั้งพระทัยไว้ประการหนึ่งว่า อยากจะทรงสร้างพระกริ่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย แต่ต้องมาประชวรลงเสียก่อน ทรงปรารภลอย ๆ ไม่ได้หวังอะไร

พระครูสังฆรักษ์ได้นำเรื่องนี้มาปรึกษากับคุณมนตรี เหล่าวิสุทธิชัย บอกว่าอยากจะสนองพระราชปรารภขององค์พระสังฆราช แต่ไม่มีทุน คุณมนตรีบอกว่า ไม่ยาก รับปากพระองค์ท่านไปเลย ทุนสร้างจะหาให้เอง

ความเป็นจริงของพระกริ่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทยได้มีอันหวังได้ว่าจะมีเกิดขึ้นทันที เหมือนเค้าฝนที่ตั้งทมึนพร้อมจะตก

คุณมนตรีซึ่งในชีวิตดูเหมือนจะไม่เคยสร้างพระทำนองนี้มาก่อนก็โดดลงมาเต็ม ตัว ลงมาสู่สถานภาพแห่งประธานหาทุน และได้จอมพลถนอม กิตติขจร เป็นประธานอุปถัมภ์ ฝนนี้จึงเป็นฝนใหญ่เค้าใหญ่ในเวลานั้นทันควัน

ขนาดและสัดส่วนขององค์พระกริ่งถูกำหนดขึ้นปฏิมากรลงมือปั้น ให้หุ่นสำเร็จเป็นองค์จริงสูง 2 เมตร 30 เซนติเมตร หน้าตักกว้าง 1 เมตร 85 เซนติเมตร สร้างเสร็จแล้วอาราธนาพระกริ่งใหญ่องค์นี้ไปประดิษฐานที่ถ้ำปากเพียง เมืองเชียงใหม่

ถ้ำปากเพียงอยู่ใกล้ ๆ ถ้ำเชียงดาว ซึ่งหลวงปู่สิม พุทธาจาโร พำนักอยู่ประจำจนวันมรณภาพ ดังนั้น มหาพิธีมังคลาภิเษกพระกริ่งสิทธัตโถองค์ใหญ่จึงได้หลวงปู่สิมเป็นเจ้าพิธี

มหาพิธีทำขึ้นในวันที่ 7 ธันวาคม 2512 ที่วัดบรมนิวาส กรุงเทพฯ พร้อมพิธีนี้คณะกรรมการได้จัดสร้างเหรียญขึ้นเป็นที่ระลึก 11 พิมพ์ และพระกริ่งขนาดห้อยคออีก 1 พิมพ์ รวมเป็น 12 พิมพ์ ไม่นับพระกริ่งขนาดบูชาหน้าตัก 3 นิ้ว 5 นิ้ว และ 12 นิ้ว ตามลำดับ และพระบูชาประจำวันอีก 1 ชุด

คณาจารย์ที่รับอาราธนาเข้าร่วมพิธีมหาพุทธภิเษกพระกริ่งสิทธัตโถและเหรียญ ที่ระลึกทั้งหมดนั้น อาจบันทึกได้ไม่ครบถ้วนทุกรูป แต่สามารถบอกได้ดังนี้
1. หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม
2. หลวงพ่อแพ วัดพิกุลทอง
3. หลวงปู่นาค วัดระฆัง
4. เจ้าคุณวรพรตปัญญาจารย์ (แก้ว) วัดป่าอรัญญิกาวาส ชลบุรี
5. หลวงปู่เคน วัดเขาอีโต้ ปราจีนบุรี
6. หลวงพ่อถิร วัดป่าเลยไลย์ สุพรรณบุรี
7. หลวงพ่ออั้น วัดพระญาติ อยุธยา
8. หลวงพ่อเมือง วัดท่าแหน ลำปาง
9. หลวงพ่อนอ วัดกลางท่าเรือ อยุธยา
10. หลวงพ่อเขียน วัดพิชัยสงคราม สมุทรปราการ
11. หลวงพ่อลมูล วัดเสด็จ ปทุมธานี
12. หลวงพ่อเจริญ วัดอโศการาม (ปัจจุบันอยู่ถ้ำปากเพียง)
13. หลวงพ่อเมตตาหลวง (ขณะนั้นคือเจ้าคุณสุนทรธรรมภาณ วัดป่าชัยวัน ขอนแก่น)
14. พระราชปัญญาโสภณ (สุข) วัดราชนัดดา
15. หลวงพ่อสา วัดราชนัดดา
16. หลวงปู่คำมี วัดถ้ำคูหาสวรรค์ ลพบุรี
17. หลวงพ่อเฉลา วัดคีรีภาวนาราม ระยอง
18. หลวงพ่อแฟ้ม วัดป่าอรัญญิกาวาส ชลบุรี (ขณะนั้นอยู่วัดตรีรัตนาราม ระยอง)
19. หลวงพ่ออำนวย ถาวโร วัดเสาธงกลาง สมุทรปราการ
20. หลวงพ่อสำเนียง อยู่สถาพร วัดเวฬุวนาราม นครปฐม
21. หลวงพ่อคำสิงห์ วัดล่ามช้าง เชียงใหม่
22. หลวงพ่อเจียง วัดป่าสันติธรรม เชียงใหม่
23. หลวงปู่ตื้อ อจลธมโม วัดป่าอรัญญวิเวก นครพนม (ขณะนั้นท่านอยู่เมืองเชียงใหม่)
24. หลวงปู่แว่น วัดถ้ำพระสบาย ลำปาง (ขณะนั้นท่านอยู่วัดป่าสุทธาวาส สกลนคร)
25. หลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี
26. หลวงพ่อทองอยู่ วัดใหม่ หนองพะอง
27 หลวงพ่อบุญมี วัดอ่างแก้ว กทม.
28. หลวงพ่อไพฑูรย์ วัดโพธินิมิต
29. พระธรรมดิลก วัดบรมนิวาส
30. หลวงพ่อหอม วัดท่าอิฐ อ่างทอง
31. หลวงพ่อผ่อง วัดจักรวรรดิ กทม.
32. หลวงปู่สิม พุทธาจาโร วัดถ้ำผาปล่อง เชียงใหม่ (ท่านเป็นเจ้าพิธีนี้ด้วย)

เห็นจะไม่ต้องพรรณนา ความวิเศษของมหาพิธีนี้อีกแล้ว

คงต้องบอกว่าเหรียญที่ระลึกสิทธัตโถ ถูกสร้างขึ้นมาทั้งหมด 3 รุ่น คือรุ่นปี 2512, 2514 และ 2517 รายละเอียดทั้งหมดของหมาพิธีนี้คือของรุ่นปี 2512 รุ่นเดียว

ปัจจุบันพระกริ่งสิทธัตโถค่อนข้างหายาก ไม่ค่อยพบเห็นบ่อยนัก และเหรียญที่ระลึกทุกพิมพ์พอจะเห็นได้บ้างประปรายในที่ต่าง ๆ ผู้สนใจอยากจะได้ไว้ต้องลงมือหาเอาเอง

(ขอขอบพระคุณ คุณมนตรี เหล่าวิสุทธิชัย, พระครูชะลอ วัดบรมนิวาส เอื้อเฟื้อข้อมูล)

 

 

  พระกริ่งสิทธธัตโถ ปี 2517

 

 

……………………………………….

ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารศักดิ์สิทธิ์ ฉบับที่ 252  วันที่ 1 กรกฎาคม 2536

แชร์ :

ความคิดเห็น

** โปรดแสดงความคิดเห็นอย่างมีวิจารณญาน