หลวงพ่อพิบูลย์ – ตอนที่ 2 –

    เหรียญหลวงพ่อพิบูลย์เนื้อทองแดง
 

เพียงแค่ข้ามห้วยหลวงมาถึงห้วยมันปลา ฝูงควายที่หายไปก็วิ่งตามมาหาจารย์มีเองจริงๆ ได้ควายคืนราวปาฏิหาริย์

จารย์มีเลยนับถือหลวงพ่อมาแต่นั้น

ถึงบ้านไท หลวงพ่อสอบถามชาวบ้านว่ามีวัดร้างหรือวัดเก่าอยู่แถวนี้บ้างไหม ชาวบ้านตอบว่าไม่มี แต่ว่ามีสถานศักดิ์สิทธิ์อยู่แห่งหนึ่ง เฮี้ยนจัดขนาดชาวบ้านจะปัสสาวะยังไม่กล้าหันหน้าไปทางนั้น

สถานที่แห่งนั้นเกลื่อนกล่นไปด้วยดอกไม้สีแดง มีซากปรักหักพังของโบสถ์วิหาร หลวงพ่อเข้าไปดูในวิหารพบว่า มีแท่นประดิษฐานพระพุทธรูปประธานขนาดใหญ่ แต่ก็มีเพียงแท่นเปล่าๆไม่มีพระพุทธรูป

หลังจากพิจารณาสถานที่พอสมควรแล้ว หลวงพ่อตัดสินใจปักหลักที่นี่ จะปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ให้เป็นวัด และตั้งชื่อว่า “วัดพระแท่น”ตามแท่นพระที่พบ

ประวัติตอนนี้กล่าวว่า
“ชาวบ้านช่วยกันบริจาคหญ้าคาสำหรับมุงหลังคา เมื่อวันอังคารแรม 8 ค่ำ ปีชวด 2443(ตรวจสอบตามปฏิทิน 100 ปี ตรงกับวันที่ 16 ต.ค. 2443)ด้วยไพหญ้า 34 ไพหลังจากนั้นหลวงพ่อได้พาชาวบ้านพัฒนาวัดพระแท่น และวางผังเมืองใหม่ แล้วชักชวนชาวบ้านไทให้มาอยู่ที่แห่งใหม่นี้ โดยตั้งชื่อว่า หมู่บ้านแดง ตามนามต้นไม้แดงใหญ่ และหนองแดง”

เมื่อหลวงพ่อเข้าอยู่ที่นั่น ท่านกลายเป็นศูนย์กลางที่ชาวบ้านใกล้เคียงรวมใจกันไว้และยึดถือท่านเป็นเสมือนผู้นำ

“ใครมีเรื่องเดือดร้อนอะไร หลวงพ่อช่วยเหลือหมด จนกระทั่งชื่อเสียงของหลวงพ่อเลื่องลือไกล มีราษฎรจากหลายจังหวัดอพยพครัวเรือนมาอยู่กับหลวงพ่อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หลวงพ่อจึงได้พาชาวบ้านสร้างศาลาใหญ่ โดยเลือกเอาเฉพาะไม้แดง ไม้ประดู่ ไม้เต็ง สร้างศาลาอยู่กันทั้งวันทั้งคืน โดยกลางวันเป็นผลัดคนแก่ กลางคืนเป็นผลักคนหนุ่ม ให้คนหนุ่มสาวช่วยกันชักลากไม้ โดยหลวงพ่อทำเกวียนหลังใหญ่ให้ลากไม้ได้ทีละ 4 – 5 ท่อน”

ทีนี้ก็มาถึงเรื่องอภินิหาร

“คราวหนึ่ง หลวงพ่อพาชาวบ้านตัดต้นตะเคียนยักษ์ ที่ริมห้วยหลวง ต้นตะเคียนล้มลงในห้วยหลวงน้ำลึก 3 – 4 เมตร ชาวบ้านไม่กล้าลงไปตัด หลวงพ่อจึงดำน้ำลงไปคนเดียวประมาณ 2 ชั่วโมง ได้ไม้ตะเคียนขนาดวัดรอบ 3 วา 3 ท่อน ยาวท่อนละ 12 ศอก โดยที่ผ้าสบงจีวรไม่เปียกน้ำ”

เรื่องนี้นับว่าแปลกประหลาดที่สุด แต่ก็ได้ยินว่าครูบาอาจารย์สมัยรุ่นเก่าสมัยใกล้เคียงกันนี้ทำได้หลายองค์ คือจุดเทียนดำน้ำลงไปคราวละหลายชั่วโมง โดยที่เทียนไม่ดับ และสบงจีวนไม่เปียก

ที่ขึ้นชื่อเห็นจะเป็น หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า

สำเร็จลุน ก็อีกองค์หนึ่ง

แต่ว่าสำเร็จลุน ทุกวันนี้ปรากฏอภินิหารมากมายเกินไป จนหลายๆคนเริ่มหมดความสนใจ

ดูๆไปแล้วเคล็ดวิชาอะไรก็ตาม มักจะแพร่หลายเฟื่องฟูเป็นยุคๆ ขึ้นอยู่กับว่าช่วงนั้นจะมีวิชาอะไรโดดเด่น ก็จะมีลักษณะโดดเด่นเหมือนกันหมด

ยุคจุดเทียนดำน้ำ ก็จุดเทียนดำน้ำเป็นว่าเล่น

ยุคยิงไม่ออก ก็ยิงไม่ออกกันทุกวัด

ยุคสำเร็จอรหันต์กระดูกเป็นพระธาตุก็เป็นกันไปหมด ไม่ว่าพระหนุ่มพระแก่ ลุกลามถึงขนาดกลายเป็นเพชรเป็นพลอยเต็มโลงทั้งที่ยังไม่เผา

ทั้งของจริงและไม่จริง เฟื่องจนแยกไม่ออก

อย่างไรก็ตามศาสตร์วิชาที่เป็นของแท้แน่นอนของแต่ละยุคควรจะมีอยู่จริง

พอสิ้นยุคก็สิ้นสูญ

คล้ายๆกับว่า ไร้ทายาทสืบทอด

เช่นเดียวกับสมัยยุคของแม่ทัพธรรม พระอาจารย์มั่น สายวิชาหลุดพ้นของพระป่าก็รุ่งโรจน์อยู่ช่วงหนึ่ง เดี๋ยวนี้ดูเหมือนย่อหย่อนลงไปมาก ภายหน้าจะยิ่งอ่อนล้าลงไป เพราะว่าจะเหลือแต่กรรมมัฏฐานนกแก้วนกขุนทองเท่านั้น

ใครจำขี้ปากครูบาอาจารย์ได้แม่น และถ่ายทอดขี้ปากนั้นได้น่าฟัง ก็จะมีลูกศิษย์มาก

ความรู้ที่เอามาสอนคนนั้น มาจากการท่องจำไม่ได้มาจากความรู้ที่รู้เองเห็นเอง

เรียกว่าเป็นพระนกแก้วนกขุนทอง

แต่นกแก้วนกขุนทองถ้าสอนพูดได้เก่งแล้ว ตัวไหนตัวนั้นคนจะชอบเป็นอันมาก แล้วก็ลืมว่ามันเป็นแค่นกแก้วนกขุนทอง ในที่สุดก็นึกว่ามันเป้นพระอรหันต์ไปจริงๆ

สิ้นครูบาอาจารย์แต่ละรุ่น จะหาใครมาเทียบเคียงหรือแทนที่ได้ยากเย็นแสนเข็ญแท้ๆ

สิ้นปู่มั่น, ปู่แหวน, ปู่ขาว, ปู่ดูลย์, ปู่ฝั้น, ปู่ชา ฯลฯก็ยังหาใครมาแทนไม่ได้

ปฏิบัติแบบเอาชีวิตเข้าแลกก็หมดสมัย

เดี๋ยวนี้ติดสบายกันเป็นแถว

เรียกว่าเป็นรุ่นเสวยสุข

คือรุ่นที่ลูกมีพ่อแม่สร้างไว้ให้เยอะแยะ แล้วก็ใช้ทรัพย์สมบัติที่พ่อแม่ทิ้งไว้ให้อย่างสุขสบาย

ลูกที่รู้จักความก็ยังพอจะรักษาทรัพย์ที่พ่อแม่หาไว้ให้ได้ตลอดไป

ลูกหลานล้างผลาญก็จะเสวยสุขได้ไม่นาน

ตัวอย่างมีเยอะแยะ

อย่าถึงกับต้องยกตัวอย่างเลยครับ

——————————————-~@~——————————————-
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารศักดิ์สิทธิ์ฉบับที่ 559  วันที่ 16 เมษายน 2549
——————————————-~@~——————————————-
แชร์ :

ความคิดเห็น

** โปรดแสดงความคิดเห็นอย่างมีวิจารณญาน