ยวนเพราะยุ่งญวน

ยวนเพราะยุ่งญวน

โคราชคงจะเป็นประตูอีสานจริง ๆ เพราะถ้าใครเข้าไปในแผ่นดินอีสาน โดยเดินทางจากทางใต้ขึ้นไปก็จะต้องผ่านประตูนี้ทุกครั้ง

ถ้าจะนึกเปรียบต่อไปให้โคราชเป็นประตูหน้า เราก็จะเห็นประตูหลังที่น้องลาว แอบบุกเข้ามาตีตอนเผลอ ๆ ในสมัยกระนู้นอยู่เสมอ

เดี๋ยวนี้เราก็ยังกำลังอุดประตูหลังอยู่ที่พิษณุโลกอย่างที่รู้

เมือง โคราชหรือนครราชสีมา เป็นเมืองเก่าเมืองแก่มาตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ว่ากันว่าในสมัยที่สร้างเมืองใหม่ ๆ เป็นเมืองที่สมบูรณ์แบบจริง ๆ คือ มีค่ายคูประตูหอรบพร้อม และว่ากันอีกว่านายช่างฝรั่ง (ชาติไหนไม่ทราบ) ซึ่งรับราชการอยู่ในสมัยนั้น เป็นผู้ออกแบบก่อสร้างและวางผังเมืองนี้

พระ ราชประสงค์ของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช สำหรับการสร้างเมืองนครราชสีมาก็เพื่อจะให้เป็นเมืองหน้าด่าน และก็กลายเป็นเมืองหน้าด่านมาโดยตลอดทุกยุคทุกสมัยจริง ๆ

เค้าของ ผังเมืองเก่า ยังคงจะพอสังเกตเห็นได้จากแนวกำแพงเมืองดั้งเดิม ซึ่งมีลักษณะโอบล้อมเมืองไว้เป็นรูปเหมือนกลองที่เรียกว่าไชยเภรี
มี ความยาวของกำแพงทั้งหมด ๕,๒๑๘ เมตร มีเนื้อที่ภายใน ๑,๐๐๐ ไร่ มีใบเสมารอบกำแพง ๔,๓๐๒ ใบ มีป้อมรายตามกำแพง ๑๕ ป้อม มีประตูเมือง ๔ ประตู

ประตูทิศเหนือเรียกว่าประตูพลแสน แต่ชาวบ้านเรียกกันว่าประตูน้ำ
ประตูทิศใต้เรียกว่า ประตูไชยณรงค์หรือประตูผี
ประตูทิศตะวันออกเรียกว่าประตูพลล้าน หรือประตูตะวันออก
ส่วนประตูทิศตะวันตกเรียกว่าประตูชุมพล

เฉพาะประตูชุมพลนั้น กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแล้ว
จึงคงสภาพอันสมบูรณ์ไว้ให้ลูกหลานรุ่งหลังได้เห็นตลอดมา
ประตูชุมพลอยู่หลังอนุสาวรีย์ของย่าโมนั่นแหละครับ

คนทั่ว ๆไปเชื่อว่า ถ้าเป็นคนต่างบ้านต่างเมืองลงได้เดินลอดประตูชุมพลแล้ว จะต้องได้กลับมาโคราชอีกเป็นครั้งที่สอง
จะจริงจะเท็จอย่างไรไม่ทราบ
แต่สำหรับผมแม้ไม่เคยเดินลอดประตูชุมพลเลยสักครั้ง ก็เทียวไล้เทียวขื่อเมืองโคราช เป็นปกติจนนับครั้งไม่ถ้วน

บริเวณที่ตั้งของประตูชุมพล ซึ่งเป็นที่ตั้งของอนุสาวรีย์ย่าโมพร้อมกันไปด้วยนี้ อยู่เขตเทศบาลเมืองเลยทีเดียว
เป็นย่านชุมชนหนาแน่นชนิดที่พอจะบอกว่า เป็นที่กลางเมืองโคราชในปัจจุบันก็ได้

เวลาจะรวมพลสวนสนาม หรือประกอบพิธีสาบานธงของทหารโคราชก็จะกระทำกันตรงนี้
เห็นจะเป็นเพราะ เป็นที่สำคัญยิ่งในทางประวัติศาสตร์ และยังเป็นที่ซึ่งจะสามารถรำลึกถึงย่าโมได้ทุกขณะจิต

ย่าโมของชาวโคราชนี้แทบจะไม่ต้องกล่าวถึง หรือบังอาจกล่าวถึง
วีรกรรมของท่านนั้นเป็นตัวอย่างไทยรักไทยให้อนุชนรุ่นหลังยึดเป็นแบบอย่าง ในด้านความกล้าหาญ เสียสละเพื่อ ประเทศชาติมาทุกยุคทุกสมัย

แต่เดิมอนุสาวรีย์ของย่าโมไม่ได้อยู่ตรงนี้ และไม่ได้มีลักษณะเป็นรูปเหมือนของท่านอย่างที่เห็น
อนุสาวรีย์ เดิมเป็น “กู่” บรรจุอัฐของย่าโมอยู่ที่มุมวัดนารายณ์มหาราช ริมถนนอัษฎางค์ ตัดกับถนนประจักษ์ ส่วนอนุสาวรีย์ปัจจุบันนี้เพิ่งจะมาสร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๗๗ นี้เอง

เฉพาะ “กู่” บรรจุอัฐของย่าโมนั้น เป็นการออกทุนทรัพย์ส่วนตัวของพระยาประสิทธิศัลการ (สะอาด สิงหเสนี) สร้างขึ้น
ส่วน อนุสาวรีย์ตรงหน้าประตูชุมพลนั้น พระยากำธรพายัพทิศ (ดิศ อินทโสรฬ) ผู้ว่าราชการจังหวัด นครราชสีมา สมัยนั้นกับพันเอกเริงรุกปัจจามิตร (ทอง รักสงบ) เป็นผู้ริเริ่มสร้างขึ้น

ทั้งสองแห่งต่างก็เป็นที่ซึ่งลูกหลานชาวโคราช จะสามารถรำลึกถึงย่าโมของพวกเขาทุกเวลา
แต่ถ้าจะนึกถึงวีรกรรมของท่าน ก็ต้องไปรำลึกที่ทุ่งสัมฤทธิ์
ซึ่งอยู่ในท้องที่อำเภอพิมาย เมืองปราสาทหินพิมายในปัจจุบันนั่นแหละครับ

ทุ่งสัมฤทธิ์เป็นทุ่งกว้างใหญ่ มีเนื้อที่หลายหมื่นไร่อยู่ทางทิศตะวันตกของอำเภอพิมาย ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ ๔๐ กิโลเมตร
เป็น ที่ซึ่งย่าโมรวบรวมชาวเมืองทั้งหญิงชาย เด็กและคนชรา เข้าต่อสู้กับกองทหารของเจ้าอนุวงศ์ ผู้ครองนครเวียงจันทน์ด้วยอาวุธตามมีตามเกิด ทั้งมีด ดาบ จอบ เสียม หลาว แหลน

เรียกว่าหยิบอะไรที่ทำร้ายคนได้ก็เอาเป็นอาวุธหมด เพราะความขัดสนอาวุธนั่นเอง

เวลานี้ทุ่งสัมฤทธิ์เป็นท้องนา เป็นที่ทำมาหากินของราษฎรไปแล้ว

นึกถึงย่าโม นึกถึงเจ้าอนุวงศ์ ก็ต้องนึกถึงไทยกับลาว ซึ่งที่จริงก็คือประเทศพี่ประเทศน้อง พอวันดีคืนดีก็ทะเลาะกันเสียทีหนึ่ง

พี่กับน้องทะเลาะกันเมื่อไหร่มันลำบากใจผู้เป็นพี่เอามาก ๆ

ทำอะไรรุนแรงไปใคร ๆ ก็จะบอกว่าพี่รังแกน้องว่างั้นเถิด

เหตุเกิดที่พิษณุโลกในขณะนี้ก็เช่นกัน พี่ทำอะไรรุนแรงไปก็ไม่สบายใจ มันเหมือนกับจะตีน้องรักคนหนึ่งก็อึดอัดใจไม่อยากทำเช่นนั้น

จริง ๆ แล้วพี่กับน้องมันต้องรวมกันอัดญวนจึงจะถูกต้อง จริงมั้ย

เดี๋ยวนี้น้องก็ช่างกระไรไปคบญวน จนยวนน่าตีสักเผียะจริง ๆ พับผ่า

…………………………………….

ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารแปลก ฉบับที่ 621  วันที่ 19 มกราคม 2531

แชร์ :

ความคิดเห็น

** โปรดแสดงความคิดเห็นอย่างมีวิจารณญาน