วันปีใหม่ของชาวใต้

อาจบอกได้ว่าหลังจากการฉลองส่งปีเก่ารับปี ใหม่ที่ผ่านมา คงจะยังมีผู้ตกค้างอยู่บนความเมามากมายอยู่บ้าง เป็นธรรมดาเหมือนทุกปี

ถ้าพูดถึงงานฉลองปีใหม่ จะเชื่อหรือไม่ว่าเมืองไทยเรามีวันปีใหม่ให้ฉลองตั้งเยอะแยะ

วันขึ้น ๑ ค่ำ เดือนอ้าย หรือ เดือนธันวาคม ก็เป็นวันขึ้นปีใหม่ที่ถูกลืมไปแล้ว

วันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ ก็เคยเป็นวันขึ้นปีใหม่ ภายหลังจากยกเลิกวันขึ้น ๑ ค่ำเดือนอ้ายไปชั่วระยะหนึ่ง

และ ต่อจากนั้นก็มาถึงวันปีใหม่ที่นับเอาวันพระอาทิตย์ย้ายเข้าสู่ราศีเมษ ซึ่งตรงกับวันที่ ๑๓ เมษายนและเรียกวันปีใหม่นี้ได้อีก ชื่อว่า วันตรุษสงกรานต์

แต่แล้วในที่สุด ก็มากำหนดเอาวันที่ ๑ มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่อย่างที่เพิ่งได้ฉลองไปหมาด ๆ นี้เอง

ในภาคใต้ก็มีวันปีใหม่ไปอีกแบบเรียกว่า “วันจบปีจบเดือน” ชาวบ้านชาวใต้ในสมัยนั้น โดยเฉพาะในจังหวัดสุราษฎร์ธานี แทบจะไม่สนใจปีใหม่ มกราคม หรือสงกรานต์เท่าวันจบปีจบเดือน

คุณโกวิทย์ นวลขาว ได้เล่าไว้ในรายการวิทยุสารคดี ๕ นาทีเมื่อหลายปีมาแล้วว่า
วันจบปีจบเดือนนั้น กำหนดเอาวันสิ้นเดือน ๕(เมษายน) ขึ้นเดือน ๖(พฤษภาคม)เป็นสำคัญ
คือเริ่มตั้งแต่ แรม ๑๓ ค่ำเดือน ๕ ไปจนถึง ขึ้น ๑ ค่ำเดือน ๖ เป็นจำนวน ๓ วันพอดี

๓วันนี้ ถือเป็นวันว่าง จะไม่มีการประกอบอาชีพการงานใด ๆ ในระยะนี้
ทุกคนหยุดพักผ่อนเต็มที่เตรียมตัวทำบุญตักบาตร และเที่ยวเล่นสนุกสนาน

เหมือนตรุษจีน ของคนจีนว่างั้นเถิด

ก่อนจะถึงวันจบปีจบเดือน ต้องมีการเตรียมอะไรต่อมิอะไรล่วงหน้ากันอลหม่านพอสมควร หลัก ๆก็มี
๑.ข้าวปลาอาหาร ต้องเก็บกักตุนไว้ให้พอสำหรับรับประทานในครอบครัว และเพื่อต้อนรับเพื่อนฝูงญาติพี่น้องที่อาจมาเยี่ยมเยียน
ถ้าเตรียมไว้ไม่พอหรือไม่เตรียมไว้ ต้องลำบากแน่ ๆ เพราะอย่างที่บอกระยะนี้อะไร ๆ ก็หยุดหมด
ใครแขวนท้องตนเองไว้กับร้านอาหารก็จะต้องแขวนต่องแต่ง

เรียกว่าถึงกับมีประเพณี “แช่ครก แช่สาก” เก็บเครื่องไม้เครื่องมือที่ใช้งานทุกชนิด เพื่อแสดงว่าหยุดกันจริง ๆ ปรากฎอยู่จนทุกวันนี้

๒. เชื้อเพลิง ต้องเตรียมไว้ให้พอใช้สำหรับ ๓ วันนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นไม้ฟืนเพื่อใช้หุงต้ม สมัยนี้แก๊สระบาดแล้ว อาจจะหันมาตุนแก๊สแทนมั่ง

๓.เงิน เตรียมไว้สำหรับทำบุญและเผื่อไว้เล่นการพนัน ตลอดจนถึงการตกรางวัลพวกขี้เมา หรือพวกเพลงบอก ที่อาจจะแวะเวียนมาว่าเพลงบอกให้ฟังถึงบ้าน

ดู ๆไปยิ่งเหมือนตรุษจีนเข้าทุกที

การตระเตรียมของเหล่านี้ทุกบ้านจะถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ไม่มีการฝ่าฝืน
เพราะเชื่อ ถ้าใครฝ่าฝืนแล้วจะมีเหตุให้เป็นไปอย่างลำบากสาหัส
อาจตกต้นไม้ตาย อาจถูกมีดพร้าบาด อาจโดนสัตว์ทำร้าย ออกทะเลเรือก็อาจล่ม ข้ามถนนอาจถูกรถชน เป็นต้น

แม้จะเป็นเรื่องความเชื่อที่โบราณไปหน่อย แต่สมัยนี้ก็ยังยึดถือกันมาอย่างนี้อยู่บ้าง

บรรยากาศ และการวางตนของชาวบ้านในระหว่างจบปีจบเดือนโดยทั่วไปมักจะเป็นในทำนองนี้คือ
วันแรม ๑๓ ค่ำเดือน ๕ แช่ครก แช่สาก เลิกการงานทุกอย่าง ต่างก็มุ่งไปที่การละเล่นอย่างพื้นเมือง ให้เป็นที่สนุกสนานกันไป

วันแรม ๑๔ ค่ำเดือน ๕ ไปวัดฟังเทศน์ ทำบุญ สรงน้ำพระ อาบน้ำผู้ใหญ่

วันขึ้น ๑ ค่ำเดือน ๖ เที่ยวรื่นเริงไปกับงานฉลอง

เรื่อง การละเล่นนั้น ในวันจบปีจบเดือน มักจะมีการเล่นสะบ้า เล่นอีโกร่งหรือโกร่ง, ตีเสาหลัก, ไพ่ตอง, หมากรุกคน, ปอกมะพร้าวด้วยมือเปล่า, ปีนเสาลื่น, ควายชน, เพลงขี้เมาหรือเพลงบอก

ในปัจจุบันการละเล่นดังกล่าวนับวันจะเลือนหายไปตามคนรุ่นเก่า แล้วก็กลับมีมหรสพสมัยใหม่มาแทนที่

เดี๋ยวนี้วันจบปีจบเดือนไม่ค่อยสนุก และมีความหมายเท่าสมัยก่อนเสียแล้ว

คนเฒ่าคนแก่เท่านั้น ที่ยังคงนึกถึงวันอย่างนี้ได้อย่างมีคุณค่าต่อชีวิต

ก็จำขี้ปากเขามาเล่าให้ฟังต่ออย่างนี้แหละครับ บางทีการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจะมันมือบ้าง

………………………………

ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารแปลก ฉบับที่ 620
วันที่ 5 มกราคม 2531

แชร์ :

ความคิดเห็น

** โปรดแสดงความคิดเห็นอย่างมีวิจารณญาน