เหรียญกนกข้าง เจ้าคุณนรฯ วัดเทพศิรินทร์

 

 

 เหรียญแท้เป็นเหรียญปลอม และเหรียญปลอมเป็นเหรียญแท้ไปแล้ว

ผมเคยคุยเรื่องพระเครื่องดีของท่านเจ้าคุณนรฯ มาหลายแบบหลายพิมพ์แต่เดี๋ยวนี้ พระเครื่องของท่านแพงจนคุยถึงไม่ไหว ไม่เหมือนตอนนั้น

แต่เรื่องที่จะต้องคุยกันอีกก็มีอยู่

อย่างเคยแหละครับ

เรื่องชวนกลุ๊มใจ๊กลุ้มใจ

เหรียญกนกข้างของท่านเจ้าคุณนรฯ ทุกวันนี้เริ่มเบลอกันใหญ่
เขาเล่นเหรียญแท้เป็นเหรียญปลอม และเล่นเหรียญปลอมเป็นเหรีญแท้ไปแล้ว

หนังสือพระเครื่องฉบับหนึ่งนั่นแหละตัวดี เป็นตัวชี้นำการเล่นเหรียญกนกข้างผิดเพี้ยนไป ไม่ออกชื่อหนังสือให้เกิดศัตรูแก่ตัวหรอกครับ
เอาเป็นว่าเมื่อลงตีพิมพ์ความรู้เกี่ยวกับเหรียญกนกข้างไปแล้ว คนทั้งหลายก็เชื่อถือว่าเหรียญที่ท่านว่าแท้ก็แท้ ปลอมก็ปลอม

บอกแล้วไงครับว่าแม้ตำราก็เชื่อได้บ้างไม่ได้บ้าง

ตำราเขียนด้วยมือคน

ชื่อว่าคน! เขียนผิดได้เป็นธรรมดา

ส่วนจะเขียนผิดเพื่อประโยชน์อะไรก็เหลือเดา

เอาเป็นว่าที่ผมจะชี้เหรียญกนกข้างของแท้กับของปลอมกลับคืนมาคราวนี้ ผู้อ่านจะเชื่อผมก็ได้ ไม่เชื่อก็ได้

เริ่มที่เหรียญแท้ก่อน เหรียญแท้ที่ขณะนี้เล่นเป็นเหรียญปลอมนั่นแหละครับ

เดิม ตำราชี้ตำหนิเหรียญแท้ก็มีอยู่ เขียนกันนานแล้วตั้งแต่สมัยทีเหรียญเพิ่งออกมาใหม่ ๆ ตำราเหล่านั้นเชื่อถือได้ แต่ว่าตำราก็ต้องมีวันหมอง เพราะกาลเวลาที่ผันผ่านไป ได้ขัดเกลาฝีมือนักปลอมแปลงให้ก้าวข้ามขึ้นมาอีกหลายชั้น ตำหนิทั้งหลายที่ตำราชี้ไว้ เหรียญหลอมก็ทำได้ใกล้เคียง คนที่ไม่เคยรู้จักเหรียญแท้มาก่อนก็ซึมได้เหมือนกัน

ตำหนิที่ตำราเก่าชี้ไว้ว่าดังนี้

ตำหนิด้านหน้า
1. ภายในซอกหูข้างขวาของรูปท่านเจ้าคุณนรฯ (ซ้ายมือของเรา) มีเส้นขนแมวเล็ก ๆ 1 เส้น ถ้าของปลอมจะเส้นใหญ่กว่า

2. ตัว ม. ของคำว่า “ธมฺ” (ธมฺมวิตกฺโก) มีจุดไข่ปลาตรงปลายหางตัว มฺ จุดนี้อยู่ชิดหางตัว มฺ และอยู่ระหว่างหัวตัว มฺ กับหางตัว มฺ นั่นเอง (ม)

3. ตรงขอบแขนข้างซ้ายของท่านเจ้าคุณนรฯ ต่ำจากหัวไหล่ลงมาเล็กน้อย
จะมีเส้นบล็อคแตกหรือจะเรียกว่าเส้นอะไรก็สุดแต่ถนัดวิ่งชนกัน ระหว่างขอบแขนกับขอบลายกนก
ลักษณะของเส้นนี้จะนูน กลมกลึง และหนาใหญ่อีกต่างหาก (เมื่อเทียบกับของปลอมซึ่งไม่กลมกลึงและเล็กกว่า)
เส้นนูนเส้นนี้เป็นตัวชี้บอกว่าบล็อคนิยมหรือบล็อคธรรมดาด้วยนะครับ
ถ้ามีเส้นนี้ก็คือบล็อคนิยม ถ้าไม่มีก็คือบล็อคธรรมดา

4. ทีนี้มาดูตรงขอบลายกนกด้านที่ติดกับขอบเหรียญ ก็กนกตัวเดียวกันกับที่มีเส้นนูนวิ่งชนขอบแขนท่านเจ้าคุณนรฯ นั่นแหละครับ เป็นกนกตัวที่อยู่ด้านซ้ายมือของท่านเจ้าคุณนรฯ คือระหว่างขอบลายกนกด้านที่ติดกับขอบเหรียญจะมีเส้นวิ่งชนกับขอบเหรียญ 1 เส้น ตำแหน่งที่เส้นนี้วิ่งชนขอบเหรียญจะต่ำกว่าเส้นนูนที่วิ่งชนแขนท่านเจ้าคุณ นรฯ

ตำราเก่าชี้ไว้อย่างนี้ ผู้อ่านคงลำบากต่อการทำความเข้าใจอยู่บ้าง
ขอให้หยิบเหรียญกนกข้างที่มีอยู่ในมือมาดูประกอบ ก็จะเข้าใจได้ว่าที่ท่านมีอยู่ขณะนี้เหมือนหรือไม่เหมือน

แค่เหมือนไม่เหมือนเท่านั้น ยังไม่ใช่แท้หรือไม่แท้ ซึ่งจะต้องดูกันต่อไป

มาดูตำหนิด้านหลัง
1. ตัว ว.ของคำว่า “วาง” (ในงานวางศิลาฤกษ์) จะมีเส้นวิ่งจากบนสุดของตัว ว. ไปชนขอบเหรียญด้านบน ตรงบริเวณหูเหรียญ (ว)

2. จะมีเส้นผ่ากลางยาวตลอดเหรียญตั้งแต่ใต้หูเหรียญลงมาจนถึงขอบเหรียญด้านล่าง

3. ใต้ตัว “ฆะ” จะมีจุดไข่ปลา 1 จุด ( )

4. หัวตัว โ ของคำว่า “โรงเรียน” ปลายจะแตกเป็นหางปลา (โ)

นี่เป็นตำหนิเหรียญแท้ ส่วนเหรียญปลอมก็ใช่ว่าจะไม่เป็นอย่างนี้
ฝีมือของนักปลอมแปลงทุกวันนี้ใครก็อย่าได้ดูหมิ่นเด็ดขาด

แต่ชื่อว่าของปลอมก็ต้องปลอมอยู่วันยังค่ำ

ผมจะบอกวิธีดูเหรียญแท้ชนิดที่ไม่เคยมีตำราเล่มไหนชี้นำมาก่อน และผมตรวจสอบอย่างแน่ใจแล้วว่าเหรียญปลอมยังทำได้ไม่เหมือน

วิธีดูเหรียญแท้เหรียญปลอมนี้ คุณทวีพร ทองคำใบ เป็นผู้ชี้นำผมอีกที ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วผมเห็นด้วยทุกประการ

วิธีดูเหรียญ ขอให้ดูตามลำดับดังต่อไปนี้
1. ดูที่หูเหรียญ หูเหรียญแท้จะมีลักษณะแบนมากกว่ากลมกลึง คือหมายความว่าหูเหรียญที่ถูกเจาะเป็นรูที่สำหรับใส่ห่วงเหรียญนั้น ถ้าเราดูด้านหน้าแล้ว จะเห็นว่ามีลักษณะแบน ไม่นูนเป็นสันแบบคันนา และแทบจะกลืนกันเป็นเนื้อเดียวกับขอบเหรียญ แทบจะไม่แยกว่าเป็นหูกับเป็นขอบเหรียญ เว้นแต่เหรียญเงินเท่านั้น จึงจะเห็นว่ามีความนูนเป็นสันแบบคันนาอยู่บ้าง ขอให้ดูภาพประกอบที่ผมพยายามวาดให้เต็มกำลัง

2. พลิกเหรียญมาดูด้านหลัง พิจารณาดูให้ถ่องแท้แล้วจะเห็นว่าเหรียญเท้นั้นยันต์น้ำเต้าจะเอียงเล็กน้อย คือไม่วางอย่างเที่ยงตรง เหมือนเหรียญปลอม ดูรูปประกอบแล้วเทียบเคียงเอาก็จะเห็นได้ชัด

3. วิธีดูเหรียญแท้ อย่างที่ 3 นี้ ผมได้รับความรู้จาก คุณเง็ก บางลำภู เซียนเจ้าคุณนรฯ ของจริง ซึ่งบอกผมว่าดูตรงนี้ก่อนคือดูด้านข้างเหรียญ ดูว่าหูเหรียญเอียงและเอนไปด้านหน้าเหรียญหรือไม่ ถ้าเอียงเอนเป็นอันว่ามีโอกาสแท้ ต่อจากนั้นค่อยดูรายละเอียดอื่นๆประกอบ
ถ้าดูหูเหรียญไม่เอียงเอนแต่ว่าตรงแน่วสวยงามเป็นอันโยนทิ้งได้ ไม่ต้องดูตำหนิอื่น ๆ

 

 

ความรู้ทั้งสองทางนี้ต้องขอขอบคุณทั้งคุณทวีพร ทองคำใบ และคุณเง็ก บางลำภู เป็นพิเศษ เพราะว่ามีประโยชน์แก่ผู้อ่านทั้งหลายโดยตรง

ถ้า จะว่าไปแล้วเหรียญกนกข้างของท่านเจ้าคุณนรฯ นี้ถ้าหากไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญอย่างแท้จริงแล้วออกจะเป็นเรื่องยากมาก เพราะว่ามีการปลอมแปลงซ้ำซ้อนอยู่หลายระดับ ทั้งแบบฝีมือสุดห่วย จนถึงระดับเหยียบเซียน
ถ้าผู้อ่านพลาดบ้างก็อย่างโทษตัวเองเลยครับ แม้ผมเองสักวันก็คงพลาดเหมือนกัน

ไม่มีใครเก่งได้ตลอดกาลหรอก

ที่ เหรียญกนกข้างเย้ายวนแก่ฝีมือนักปลอมแปลง เห็นจะด้วยเพราะเหรียญรุ่นนี้ปัจจุบันเล่นกันแพงมาก ถ้าหากว่าบล็อคนิยมแล้ว ได้ยินว่าราคาพุ่งถึงหมื่นบาทไปแล้ว บล็อคธรรมดาก็ยังไม่เท่าไหร่ แต่ว่าคนจนคงไม่มีสิทธิ์แล้วครับ

พระเครื่องดีก็ต้องอย่างนี้ แพงเข้าไว้เสมอ ไม่รู้จะทำยังไงให้ถูกลงได้
พระเครื่องดีราคาถูกก็ใช่ว่าจะไม่มี แต่ถ้าถูกแล้วคนก็กลับไม่สนใจ

พระ เครื่องของท่านเจ้าคุณนรฯ บางรุ่นก็ยังไม่แพงเกินไปนัก ผู้อ่านที่สนใจอยากจะได้ก็ต้องพยายามกันเอาเอง ทราบว่าขณะนี้ สมเด็จดำ สมเด็จขาว หรือที่เรียกว่าชุดผงวิญญาณซึ่งออกที่วัดศีลขันธ์นั้นตอนนี้ราคาลดลงมาอีก แล้ว ยังอยู่ในระดับหลักร้อย ส่วนร้อยอ่อน ๆ หรือร้อยแก่ ๆ ผมก็ไม่สามารุระบุแน่ชัดลงไปได้ ผู้อ่านต้องทำหน้าที่สอบสวนเอาเอง พิจารณาเอาเองว่าแพงเกินไปสำหรับตัวเองหรือไม่

สรุปแล้วเหรียญกนกข้างนี้ คงต้องอาศัยดูตามวิธีที่ผมได้ถ่ายทอดมาจากคุณทวีพรและคุณเง็ก เป็นหลัก
ต่อไปภายหน้าอาจมีวิธีดูพิสดารกว่านี้ก็ได้

เอาไว้ให้ฝีมือปลอมแปลงพัฒนาขึ้นมามากกว่านี้เสียก่อน และคงจะต้องบอกรายละเอียดเกี่ยวกับเหรียญนี้ทำนองประวัติ

เพื่อเป็นความรู้ในเบื้องสุดท้ายดังนี้

เหรียญ ลายกนก (ข้าง) จัดสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกในงานวางศิลาฤกษ์โรงเรียน น.ว.ม.ราชานุสรณ์ จังหวัดนครนายก โดยสร้างขึ้นเมื่อ วันที่ 17 ก.ค. 2513 จำนวนสร้างทั้งหมดต้องแยกออกเป็นเนื้อ 3 เนื้อ คือ ทองคำ 109 เหรียญ, เงิน 200 เหรียญ, ทองแดง 15,000 เหรียญ แบ่งออกเป็น 2 บล็อคคือบล็อคนิยม และบล็อคธรรมดา 2 บล็อคนี้จะแยกจากกันเฉพาะด้านหน้าเท่านั้น ส่วนด้านหลังเหมือนกันทั้ง 2 บล็อค

ขอให้ผู้อ่านโชคดี ถ้าหากได้เสี่ยงดวงคว้าเหรียญกนกข้างมาก่อนแล้ว

ถ้าโชคดีก็แล้วไปเถิด

ต่อไปไม่ต้องอาศัยโชควัดดวง ใช้ฝีมือล้วน ๆ มันส์กว่าเยอะ

________________

ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารศักดิ์สิทธิ์ ฉบับที่ 224

 

 

แชร์ :

ความคิดเห็น

** โปรดแสดงความคิดเห็นอย่างมีวิจารณญาน