2/ นาคาธิบดีสีสัตตนาคบาดาล

 

พญานาคในเชิงชีววิทยาไม่มีตัวตนจริง ดังนั้นความเห็นในเชิงนี้จึงเห็นพญานาคเป็นเพียงจินตนาการ และเป็นแค่สัญลักษณ์ที่มนุษย์คิดค้นแทนสิ่งที่มีอยู่จริงในโลก

ในเชิงสัญลักษณ์เห็นว่า พญานาค คือตัวแทนของน้ำ ดังเช่น สถาปัตยกรรมรูปเขาพระสุเมรุ ซึ่งมีมหาสมุทรล้อมรอบนั้น แทนที่จะทำเป็นรูปน้ำล้อมรอบ ก็ทำเป็นรูปพญานาคขดลำตัวล้อมเขาพระสุเมรุ โดยหมายเอาว่า พญานาค คือ น้ำ นั่นเอง

โดยนัยแห่งความคิดเห็นหรือ ความเชื่อของนักวิชาการสมัยใหม่ เชื่อว่าพญานาคเป็นความเชื่อของคนรุ่นโบราณ ซึ่งความเชื่อเก่าแก่นี้จะมีพื้นฐานมาจากความงมงายไร้สาระ หรือจากอะไรก็ตาม ยังคงเป็นคำถามที่หาคำตอบที่แน่ชัดได้ยาก แต่เมื่อคนโบราณเชื่อเช่นนี้ ก็ส่งผลให้เกิดเป็นวัฒนธรรมประเพณีและเกิดรูปพญานาคในเชิงศิลป์เท่านั้น

เคยสงสัยไหมว่า เหตุใดคนโบราณจึงมีความเชื่อในเรื่องพญานาค โดยที่ความเชื่อนี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่กลุ่มคนกลุ่มเดียวหรือคนเพียงคนเดียว แต่ความเชื่อนี้กลับรุกล้ำเข้าในแทรกตัวอยู่ในลัทธิและศาสนาหลายศาสนา รวมทั้งคนอีกหลายเชื้อชาติหลายวัฒนธรรม

ทำไมพญานาคจึงเกิดเป็นความเชื่อขึ้นมา

คำถามนี้ก็เหมือนอีกหลาย ๆ คำถาม เช่น ทำไมคนจึงเชื่อว่าผีมีจริง ทำไมคนจึงเชื่อเรื่องนรกและสวรรค์ ทำไมคนจึงเชื่อเรื่องเทวดาและนางฟ้า
คำถามเหล่านี้ไม่สามารถตอบในเชิงวิทยาศาสตาร์ เพราะไม่สามารถพิสูจน์ให้เห็นชัดเจนได้

ถ้าจะมองในแง่ของวิทยาศาสตร์ จะเห็นได้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างต้องเป็นรูปธรรมที่จับต้องได้ พิสูจน์ได้ จึงจะเป็นที่ยอมรับเชื่อถือ

เมื่อมองในเชิงนี้ก็จะเห็นทุกคำถามที่เกิดขึ้นนั้นเป็นของไม่มีจริงทันที

ในที่สุดแล้วทั้งผี นรกสวรรรค์ เทวดานางฟ้า และพญานาคก็ป็นแค่ความเชื่องมงายไร้สาระ
ทั้งหมดที่เป็นความงมงายไร้สาระกลับปรากฏอยู่ในพุทธศาสนาและศาสนาอื่น ๆ หลายศาสนา นั่นย่อมหมายความว่าพุทธศาสนาที่กล่าวถึงเรื่องนี้ต้องเป็นศาสนาที่งมงายไร้ สาระด้วย

คงต้องคิดดูว่าจะเลิกนับถือศาสนาเสียที เพราะว่ามีแต่เรื่องงมงายไร้สาระที่พิสูจน์ให้เห็นจริงไม่ได้เลย

มีเรื่องตลกฝรั่งน่าคิดอยู่เรื่องหนึ่ง
ชายคนหนึ่งมีธุระจะไปที่ทำการไปรษณีย์ แต่ไม่ทราบว่าที่ทำการไปรษณีย์อยู่ที่ไหน บังเอิญเห็นนักบวชท่านหนึ่งอยู่แถวนั้นจึงปรี่เข้าไปถาม
“คุณพ่อครับ ที่ทำการไปรษณีย์อยู่ไหน ช่วยชี้ทางให้ผมด้วย”
“พ่อไม่รู้เหมือนกัน” นักบวชตอบ “แต่ถ้าลูกจะไปสวรรค์ พ่อก็พอจะชี้ทางไปสวรรค์ให้ลูกได้”

วิทยาศาสตร์กับความเชื่อ

วิทยาศาสตร์เป็นรูปธรรม ส่วนความเชื่อเป็นนามธรรม แต่นักวิทยาศาสตร์ที่มีความเชื่อในเรื่องนาธรรมคือ ศาสนา ก็มีอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เขากล่าวไว้ว่า “ถ้าศาสนาใดจะเปรียบได้กับวิทยาศาสตร์ ศาสนานั้นคือพุทธศาสนา”

ไอน์สไตน์ เห็นอะไรในพุทธศาสนา

หากเขาไม่ด่วนตายไปเสียก่อน บางทีสิ่งที่เขาเห็นอาจจะกลายเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ในโลกแห่งวิทยาศาสตร์

ถ้าจะพูดถึงพญานาคในแง่ของรูปธรรมกับนามธรรม คนต้องยกตัวอย่างเพื่ออธิบายให้เกิดความเข้าใจว่า ความเชื่อที่ถือที่เป็นนามธรรม เมื่อมาเกิดเป็นรูปธรรมนั้นมีลักษณะอย่างไร

เราเชื่อว่านายจัน หนวดเขี้ยว แห่งบ้านบางระจัน มีตัวตนจริงโดยไม่มีข้อสงสัย แต่เราไม่มีทางรู้ได้ว่านายจัน หนวดเขี้ยว มีหน้าตาอย่างไร เป็นคนสูงต่ำดำขาวแค่ไหน คนที่เคยเห็นนายจัน หนวดเขี้ยว ก็ตายไปหมดแล้ว ไม่มีภาพถ่ายของนายจัน หนวดเขี้ยวให้ดูอีกด้วย
เราผู้เชื่อว่านายจัน หนวดเขี้ยว มีจริง แต่ไม่เคยเห็นหน้าค่าตา จะเห็นนายจัน หนวดเขี้ยว โดยจินตนาการ (นามธรรม)

ครั้นวาดรูปหรือปั้นรูปนายจัน หนวดเขี้ยว (รูปธรรม) ให้ปรากฏขึ้นมาก็อาศัยจินตนาการเป็นหลัก

ช่างวาด 10 คน ช่างปั้น 10 คน จะทำรูปนายจัน หนวดเขี้ยว ไม่เหมือนกัน

แต่ทุกคนดูรูปนายจัน หนวดเขี้ยวจากฝีมือช่างทุกฝีมือก็รู้ และเข้าใจตรงกันว่านี่คือ นายจัน หนวดเขี้ยว โดยยึดลักษณะที่ว่ามีหนวดเฟิ้ม และเรียวโง้งขึ้นไปทั้ง 2 แก้ม ซึ่งลักษณะนี้แม้จะเกิดด้วยจินตนาการ แต่มีพื้นฐานจากข้อเท็จจริงคือ เกิดจากเอกสารและคำบอกเล่า ของผู้ที่เคยเห็นนายจัน หนวดเขี้ยว ได้บอกเล่าหรือจดเอาไว้

รูปพญานาคก็เช่นกัน คือเกิดขึ้นจากจินตนาการ และจินตนาการก็เกิดจากการได้รับฟังลักษณะของพญานาคจากผู้ที่เคยเห็นพญานาค อธิบายไว้

พญานาคทุกฝีมือช่าง ทุกวัฒนธรรม ก็ไม่เหมือนกัน แต่มีลักษณะเด่นที่เหมือนกันคือ มีลำตัวเหมือนงูและมีหงอนบนหัว
ถ้าหากเป็นช่างฝีมือจัดเป็นเลิศ และมีจินตนาการลึกล้ำ
หงอนของพญานาคก็ยิ่งสวยงามจนถึงกับเป็นลวดลายกนก ดังเช่นพญานาคในจินตนาการของช่างศิลป์ไทย

แม้ว่าการเกิดรูปพญานาคกับการเกิดรูปนายจัน หนวดเขี้ยว จะเกิดด้วยจินตนาการเหมือนกัน
แต่ความเชื่อในนายจัน หนวดเขี้ยว เป็นที่ยอมรับทั่วไป
ส่วนความเชื่อในเรื่องพญานาคไม่เป็นเช่นนั้น

เมื่อมีผู้มาบอกว่าเคยเห็นนายจัน หนวดเขี้ยว คนทั้งหลายจะเชื่อว่า ผู้บอกนั้นเห็นนายจัน หนวดเขี้ยวจริง
เพราะเชื่อเต็มหัวใจว่านายจัน หนวดเขี้ยวมีตัวตนจริง
ตรงกันข้ามกับพญานาค
ถ้าหากว่ามีผู้บอกเคยเห็น
จะมีทั้งคนเชื่อและไม่เชื่อ

อย่างไรก็ตามการเกิดรูปของพญานาคและเรื่องราวของพญานาคในพุทธศาสนา ในตำนาน ในนิทาน หรือในคำเล่าลือ ก็ยังคงเป็นสิ่งที่นักวิชาการสมัยใหม่เห็นว่านาคเป็นของไม่มีจริงในโลก ปัจจุบันอยู่ด

ความเชื่อที่ว่าพญานาคไม่มีจริงจึงถูกตีความไปใน เชิงสัญลักษณ์ และเมื่อพญานาคกลายเป็นสัญลักษณ์แล้วก็ถูกตีความต่อไปว่าสัญลักษณ์นั้นหมาย ถึงอะไร

ตัวอย่างที่เป็นความเห็นของนักวิชาการสมัยใหม่ที่เห็นว่านาคไม่มีจริงแต่เป็นเพียงสั
ญลักษณ์

“พุทธประวัติตอนหนึ่งที่มีการกล่าวถึงมูลเหตุของการบวชนาค ดูจะเป็นตัวอย่างที่ดีในการอธิบายถึงแนวความคิดผ่านภาวะ (Transition) เพราะเป็นการเปลี่ยนผ่านสถานะปกติจากบุคคลธรรมดาสามัญ หรือที่เรียกว่าเพศฆราวาส เพื่อเปลี่ยนเข้าสู่สถานะใหม่ ที่มีความศักดิ์สิทธิ์เพิ่มขึ้นเป็นพระสงฆ์ หรือที่เราเรียกว่าเพศบรรพชิต
ภาวะที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว จึงเป็นภาวะที่เกิดขึ้นระหว่างโครงสร้างปกติ (Structure) ทั้งที่เป็นโครงสร้างอันเก่าและโครงสร้างอันใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น
สถานะที่อยู่ในช่วงนี้จึงยังคงกำกวม
ผู้ที่ขอบวชเป็นนาคจึงมีข้อห้ามมากมาย
เพราะการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้เป็นการเปลี่ยนพื้นที่ทางวัฒนธรรม
จากโครงสร้างที่มีระเบียบทางวัฒนธรรมแบบหนึ่ง ไปสู่โครงสร้างที่มีระเบียบทางวัฒนธรรมอันใหม่ที่แตกต่างออกไป

ดังนั้นสถานภาพของผู้จะบวชที่เรียกว่า นาคนั้น จึงต้องถูกจำกัดพื้นที่ทางวัฒนธรรม โดยอาศัยกรอบทางพิธีกรรมกำหนดกฎห้ามเอาไว้

เรื่องราวต่างๆ ของนาคที่ปรากฏเป็นตัวละครสัญลักษณ์ในนิทานทั้งหลายที่พยายามเลื่อนสถานะ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของพุทธศาสนา ทั้งการก้าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง โดยอาศัยพิธีกรรม เช่นเรื่องราวในพุทธประวัติตอนที่พญานาคขอบวชอยู่ใต้ร่มบวรพระพุทธศาสนา หรือการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง โดยอาศัยรูปแบบทางชีวกรรมผ่านสายโลหิตเดียวกับพระพุทธเจ้า
ดังเช่นในนิทานพระอุปคุตที่มีปลา เงือก งู เข้ามากินอสุจิของพระองค์ แล้วให้กำเนิดออกมาเป็นพระอุปคุต
ซึ่งเป็นการเปลี่ยนผ่านทั้งรูปแบบสัญลักษณ์ของท้องถิ่นให้เข้ามาสูกระแสคติ ทางพุทธ เพื่อให้คติทั้งสองอยู่ร่วมกันได้ รวมทั้งเรื่องราวการปฏิบัติธรรมเพื่อสะสมบารมีของพญานาค เพื่อให้บรรลุมรรคผลเช่นเดียวกับพระพุทธเจ้า

นาคที่ปรากฏในเรื่องราวที่ผ่านมาทั้งหมด จึงมีสถานะเป็นผู้ที่อยู่ระหว่าง (betwixt between)
หรือมีฐานะอยู่ในภาวะที่เรียกว่าเปลี่ยนผ่าน (transitional state)
ทั้งหมดนี้ เพื่อก้าวเข้าไปสู่ภาวะชีวิตที่ดีขึ้นแบบพุทธอุดมคติ อันถือเป็นอุดมคติสูงสุดในการดำเนินชีวิตนั่นเอง”

จะเห็นได้ว่าพญานาคในความหมายนี้เป็นเพียงสัญลักษณ์ของสังคมแบบชาวบ้าน ก่อนจะเข้าไปสู่สังคมแบบพระภิกษุ

มูลเหตุที่เห็นนาคเป็นสัญลักษณ์อย่างนี้ ก็มาจากความเชื่อที่ว่านาคไม่มีตัวตน
แต่กับผู้ที่เชื่อว่านาคมีจริง ก็จะเห็นตามพุทธประวัติว่ามีพญานาคมาขอบวชเป็นพระจริง และหลังจากนั้นพญานาคก็ขอถวายนามนาคเป็นที่ระลึกในการบวชของชาวพุทธจนทุก วันนี้

เรื่องความเชื่อที่แตกต่างกันอย่างนี้เป็นเรื่องที่ชี้ขาด ลำบาก ซึ่งคงต้องอาศัยคำพูดของหลวงพ่อชา สุภัทโท วัดหนองป่าพง ที่กล่าวถึงความเชื่อเรื่องผีว่า
“ผู้ที่เคยเห็นผีก็จะเชื่อว่าผีมีจริง ผู้ที่ไม่เคยเห็นผี ก็จะเชื่อว่าผีไม่มีจริง”

ความเห็นในเชิงสัญลักษณ์ของนักวิชาการสมัยใหม่นั้นจะว่าไปแล้วก็น่าจะมีพื้นฐาน
หรืออาศัยแนวความคิดเชิงโครงสร้าง-หน้าที่ (Structural-Functionalism)
ซึ่งพัฒนามาจากทฤษฎีของเดอร์ไคม์ (Emile Durkheim)
และใช้หลักการนี้ตีความทุกสิ่งทุกอย่างเป็นสัญลักษณ์ ในระดับความสัมพันธ์ระหว่างศาสนาและสังคม

ตัวเดอร์ไคม์เองก็แสดงความคิดเห็นไว้ว่า
“สังคมคือระบบของการกระทำที่เกิดจากแรงผลักของกระบวนการทางสัญลักษณ์” และ “สิ่งศักดิ์สิทธิ์
เกิดจากความสัมพันธ์ทางสัญลักษณ์เช่นกัน”

แนวความคิดนี้จะมีพื้นฐานมาจากความเชื่อหรือไม่เชื่อเสียก่อน
เมื่อไม่เชื่อเสียแล้วก็จะตีความทุกสิ่งทุกอย่างเป็นสัญลักษณ์ไปหมด
แต่ถ้าเชื่อก็จะไม่ตีความ หรือตีความไม่ได้

สมมติว่าภายใต้แนวความคิดในทฤษฎีของเดอร์ไคม์ ไม่เชื่อว่านายจัน หนวดเขี้ยวมีจริง นายจันและชาวบ้านบางระจันก็จะถูกตีความเป็นสัญลักษณ์เช่นกัน
อาจเป็นสัญลักษณ์ของความรักชาติ สัญลักษณ์ของการป้องกันประเทศชาติ สัญลักษณ์ของความสามัคคี สัญลักษณ์ของความช่วยเหลือกันและกันในสังคม
รวมทั้งสัญลักษณ์ของศาสนากับการรักชาติ (พระอาจารย์ธรรมโชติ)
ซึ่งสัญลักษณ์อันนี้แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับชาวบ้าน แม้จะอยู่ในสภาวะสงครามก็ยังคงมีความเกี่ยวเนื่องกัน
และหากเห็นว่าพม่าไม่มีจริง
พม่าก็จะกลายเป็นสัญลักษณ์ของภัยจากภายนอกสังคมที่คนในสังคมต้องร่วมกันป้องกันและต่อสู้
แต่นายจัน หนวดเขี้ยว และชาวบ้านบางระจัน ได้ป็นที่ยอมรับว่ามีจริง จึงไม่ถูกตีความในเชิงสัญลักษณ์

อาจกล่าวได้ว่าทั้งหมดนี้ที่ได้อธิบายในเชิงสัญลักษณ์ของแนวความคิดเดอร์ไคม์
มีพื้นฐานมาจากการไม่เชื่อทั้งสิ้น
และผมก็ไม่เชื่อในเดอร์ไคม์
เพราะเดอร์ไคม์ไม่ใช่พ่อของผม
ถึงแม้เดอร์ไคม์จะเกิดเป็นพ่อของผมจริง ๆ
ผมก็มีสิทธิที่จะไม่เชื่อฟังพ่อของผมเหมือนกัน

ดังนั้นผมจึงเห็นว่าฝ่ายที่เชื่อว่าผีมีจริง เพราะว่าเคยถูกผีหลอกมาแล้ว ควรจะมีผมเป็นพวกพ้องด้วยคนหนึ่ง
เผื่อว่าอีก 100 ปีข้างหน้า ชื่อของผมจะกลายเป็นสัญลักษณ์กับเขาบ้าง
แม้จะเป็นสัญลัษณ์ของความงมงายไร้สาระก็เอา

เคยดูหนังเรื่องคนเหล็ก ภาค 3 ไหมครับ
ในเรื่องนี้มีเหตุการณ์น่าขันอยู่ตอนหนึ่ง
ซึ่ง คนเหล็ก (อาร์โนลด์) กับพระเอก และนางเอก ซึ่งอยู่ในฐานะที่ทุกคนเข้าใจว่าเป็นตัวประกัน ได้เข้าไปในสุสานเพื่อเอาอาวุธที่แม่พระเอกฝังซ่อนเอาไว้
ต่อมานางเอกก็หนี หรือถูกตำรวจช่วยออกมาจากสุสานได้
ก็มีนักจิตวิทยาหรืออะไรจำพวกนี้มาช่วยปลอบขวัญตัวประกันตามหน้าที่

“คุณเป็นยังไงบ้าง” นักจิตวิทยาปฏิสันถารก่อน

“เขา…เขา ไม่ใช่มนุษย์” นางเอกยังคงละล่ำละลักกับสิ่งที่ตัวเองประสบ ซึ่งก็คือหุ่นยนต์คนเหล็กที่ตอนนี้ยังถูกล้อมไว้ในสุสาน โดยตำรวจหลายสิบนาย

“อะไรนะ” นักจิตวิทยาถามเหมือนจะหาข้อมูล

“เขาไม่ใช่มนุษย์จริง ๆ” นางเอกยืนยัน

“ผมเข้าใจดี สำหรับภาวะจิตใจของตัวประกัน เพราะว่าผมก็เคยเป็นตัวประกันมาก่อน ความกลัวจะทำให้อะครีนาลีนพลุ่งพล่าน ทำให้เกิดจินตนาการเห็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ สิ่งที่บ้าบอคอแตก สิ่งที่ไม่มีจริงในโลก…”

ครั้นคนเหล็กแหกวงล้อมออกมาจากสุสาน
นักจิตวิทยาท่านนั้นเห็นด้วยตามตนเองเข้าก็เผ่นแน่บไปก่อนใคร แบบพลิกตำราวิชาการที่ร่ำเรียนมาไม่ทัน

คนที่ไม่เชื่อว่าผีมีจริง
วันหนึ่งโดนผีหลอกเข้าบางทีจะช็อคจนเสียสติไปก็ได้
ผิดกับคนที่เชื่อว่าผีมีจริงก็จะเห็นว่าผีเป็นเรื่องธรรมดา
ผีจะหลอกกี่ครั้งก็เฉย ๆ ไม่ตกใจอะไร
เพราะว่ามีความเชื่อและความเข้าใจในความเป็นผีเป็นอย่างดี

ยังมีท่านผู้หนึ่งซึ่งเชื่อว่าพญานาคมีจริง
จนกระทั่งได้กล่าวกับผมว่า

“ถ้ามีใครบอกว่าพญานาคไม่มีจริง ให้มาบอกผม ผมจะไปเถียงกับมัน ผมเห็นพญานาคมากับตาตนเอง 2 ครั้ง ผมขอยืนยันว่า พญานาคมีจริง”

ท่านผู้นี้คือ นายบุญตา หาญวงศ์ ประธานกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดอุบลราชธานี (ประธาน กกต. อุบลฯ)

ท่านได้เห็นพญานาคด้วยตาตนเองที่บ้านเกิด
คือที่บ้านบ่อน้อย อ.เชียงยืน จ.อุดรธานี
โดยได้เขียนเรื่องประสบการณ์ในการพบเห็นพญานาค
ไว้ในหนังสือที่ระลึกในคราวเกษียณราชการในตำแหน่งนายอำเภอเดชอุดม จ.อุบลราชธานี ในวันที่ 21 สิงหาคม 2531

“เมื่อข้าพเจ้ามีอายุประมาณ 5 ขวบ จำความได้ดี บิดาได้ไปช่วยญาติดำนาที่นาทาม (นาในที่ล่ม)
ท่านได้พาข้าพเจ้าไปด้วย ซึ่งเวลานั้นข้าพเจ้ายังเดินไม่คล่องสำหรับพื้นที่นานั้น
ท่านจึงให้ข้าพเจ้าขี่คอ

ทางที่จะไปนาของญาติต้องผ่านหนองใหญ่ประจำบ้าน
เรียกว่า หนองเลิง
มีความกว้างและลึกพอสมควร มีร่องน้ำไหลผ่าน
ชาวบ้านได้สร้างทำนบปิดกั้นร่องน้ำไว้ เพื่อให้ระดับน้ำในหนองสูงขึ้น
ชาวบ้านได้ใช้ทำนบนี้เป็นทางเดินผ่านไปมา

แต่ในตอนนั้นเป็นฤดูฝน น้ำมากจนล้นหนองและท่วมทำนบ ประมาณหัวเข่า
ชาวบ้านก็ยังคงอาศัยทำนบนี้เป็นทางสัญจร แม้จะต้องเดินลุยน้ำก็ตาม
เนื่องจากว่าเส้นทางนี้จะลัดสั้นกว่าทางอื่น

วันที่เห็นพญานาคนั้นเป็นเวลา 5 โมงเย็น
บิดาและข้าพเจ้ากำลังลุยน้ำบนทำนบจะกลับบ้าน
ข้าพเจ้ามองเห็นสัตว์ 2 ตัว คล้ายงูขนาดใหญ่ประมาณเสาหน้า 4”-5” มีสีเขียวทั้งตัว
แต่พื้นท้องเป็นสีแดงสลับขาว ตั้งแต่คางถึงหาง
ตัวหนึ่งมีหงอนคล้ายไก่ตัวผู้ อีกตัวมีหงอนตูม ๆ คล้ายไก่ตัวเมีย ทั้ง 2 ตัวกอดเกี้ยวเล่นน้ำเสียงดังตูมตามอย่างสนุกสนาน ทำให้น้ำเกิดระลอกคลื่นซัดมาไม่ขาดระยะ

ข้าพเจ้ารู้สึกตื่นเต้นระคนดีใจประสาเด็ก
ไม่เกิดความกลัวและถามบิดาว่านั่นอะไร
บิดาข้าพเจ้าเอามือตีขาข้าพเจ้าเบาๆ และกระซิบว่า ไม่ต้องพูด ดูเฉย ๆ แล้วก็ยังคงค่อยๆ พาข้าพเจ้าเดินห่างออกมาเรื่อย ๆ

ส่วนข้าพเจ้าได้แต่เหลียวดูจนสัตว์ 2 ตัวนั้นอยู่สุดสายตาแล้วหายไป

เมื่อกลับถึงบ้านได้เล่าให้มารดาฟัง บิดาก็ห้ามไม่ให้ทั้งมารดาและข้าพเจ้าพูดเรื่องนี้ ซึ่งข้าพเจ้าไม่ทราบว่ามีเหตุผลอะไร”

นี่เป็นการเห็นครั้งแรก

ส่วนครั้งที่ 2 นั้น ท่านประธาน กกต. บุญตา หาญวงศ์ ได้เห็นในขณะอายุประมาณ 15 ปี

“ข้าพเจ้าเข้าไปเรียนหนังสือในตัวจังหวัด ซึ่งอยู่ไกลจากบ้าน 10 กว่ากิโลเมตร
ตอนนั้นโรงเรียนปิดเทอม 15 วัน จึงเดินทางกลับบ้าน ซึ่งเวลานั้นน้ำในห้วยหลวงจวนเจียนจะล้นฝั่งแล้ว เพราะว่าเป็นฤดูฝน

ข้าพเจ้าได้พำนักอยู่ที่บ้านจนถึงเวลาโรงเรียนจะเปิดเทอม บิดาจึงเดินมาส่งข้าพเจ้า
ในช่วงที่จะข้ามห้วยหลวง ขณะที่ข้าพเจ้าและบิดากำลังเดินข้ามห้วยหลวงโดยอยู่บนสะพานไม้ ก็มองเห็นงูขนาดใหญ่ตัวหนึ่งกำลังพันหลักไม้ที่โผล่พ้นน้ำ (หลักต้อน) กลางห้วย
งูใหญ่ตัวนี้มีขนาดใกล้เคียงกับที่ข้าพเจ้าเคยเห็นตอนอายุ 5 ขวบ คือ ประมาณเสาไม้หน้า 4”-5” และเป็นงูที่มีลักษณะคล้ายกับที่เคยเห็นด้วย คือมีหงอนตูมเหมือนไก่ตัวเมีย มีลำตัวเป็นสีน้ำตาล ข้าพเจ้าถามบิดาว่า นั่นงูอะไร บิดาก็ห้ามข้าพเจ้าไม่ให้พูดอะไร ให้อยู่เงียบ ๆ

เมื่อข้ามสะพานพ้น แล้วก็เดินไปจนไกลจากงูตัวนั้นประมาณ 200 เมตร ข้าพเจ้าก็เห็นงูตัวนั้นคลายขนดลำตัวจากการพันหลักไม้ออก แล้วลอยตามข้าพเจ้าและบิดามาจนทัน แล้วจากนั้นก็ลอยด้วยความเร็วเท่ากับการเดินของข้าพเจ้าและบิดา โดยอยู่ห่างกันประมาณ 10 เมตร จนกระทั่งข้าพเจ้าถึงที่หมาย คือบนฝั่งที่พ้นจากน้ำท่วม งูตัวนั้นก็เหหัวลอยจากไป

แปลกที่ลักษณะการลอยตัวของงูใหญ่นั้นเป็นการลอยทื่อๆ ตรงๆ เหมือนท่อนไม้ ไม่คดไปมาเหมือนงูทั่วไป”

นี่เป็นประสบการณ์ที่ท่านประธาน กกต. บอกว่า ทำให้เกิดความเชื่อว่าพญานาคมีจริง

ถ้าพูดถึงงูมีหงอนแล้ว ในเชิงชีววิทยาไม่มี
แต่ก็มีการกล่าวถึงงูมีหงอนในนิทานเรื่อง “พรานงูเหลือม” ซึ่งนักวิจัยเห็นว่า พญานาคนั้นมาจากงูเหลือม

นิทานเรื่องนี้กล่าวว่า งูเหลือมเมื่อมีอายุมากจะมีหงอน 7 หงอน จะอยู่ป่าไม่ได้ ต้องลงไปอยู่ในน้ำและกลายเป็นนาค
ซึ่งข้อเท็จจริงแล้ว งูเหลือมแม้จะแก่เฒ่าแค่ไหนก็จะไม่มีหงอน ดังนั้นการโยงงูเหลือมให้เห็นเป็นรูปธรรมว่า พญานาคเกิดจากงูเหลือมจึงไม่เป็นความจริง และยังขัดแย้งกับกำเนิดพญานาคในพระไตรปิฎกอีกด้วย (ความมีอยู่ในตอนที่ 1)

เรียกว่าไม่เป็นความจริงทั้งแง่ความเชื่อ และในแง่ของชีววิทยา

ถ้าหากมีความเชื่อว่าพญานาคเป็นเทพตระกูลหนึ่งในชั้นภุมมานัง มีสภาวะเป็นทิพย์ มีทิพยอำนาจ สามารถเนรมิตกายได้หลายรูปแบบแล้ว ความพยายามที่โยงพญานาคให้มีตัวตนกับสัตว์ในโลกชีววิทยาจึงไม่สามารถทำได้ เช่นเดียวกับผี ซึ่งไม่อยู่ในภาวะของชีววิทยา แต่เป็นภาวะที่ไม่มีตัวตนในโลก จึงไม่สามารถโยงได้

แต่กระนั้นตำนานหรือนิยายเรื่องแดร๊กคิวล่า หรือแฟรงเก้นสไตน์ ก็เป็นเรื่องที่โยงเอาผีมาเชื่อมกับมนุษย์ได้อยู่บ้าง

ทว่านั่นก็เป็นเรื่องที่แต่งขึ้นจากจินตนาการอย่างแท้จริง
ผิดกับผีและพญานาค
ซึ่งแม้เกิดรูปธรรมด้วยจินตนาการเหมือนกัน
แต่มีพื้นฐานมาจากความเชื่อว่าพญานาคมีจริง

เห็นจะต้องคุยต่อไปในฉบับหน้าแล้วครับ

(โปรดอ่านต่อตอน 3 )

แชร์ :

ความคิดเห็น

** โปรดแสดงความคิดเห็นอย่างมีวิจารณญาน