ความจริงที่สวนทางกับความเชื่อ ใครว่าพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถร ไม่มีวัตถุมงคล

ภาพจาก http://luangpumun.org

โดยทั่วไปนั้นเชื่อกันว่าพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถร ไม่มีวัตถุมงคล เนื่องจากว่าท่านเป็นพระกรรมฐานที่เน้นการปฏิบัติเอาจิตหลุดพ้นโลกอย่าง เดียว ไม่เสียเวลาให้กับเรื่องที่ไม่เกิดประโยชน์ต่อการหลุดพ้น

หลายคนกล่าวว่า น่าเสียดายที่ท่านไม่ได้ทิ้งมรดกพุทธคุณของท่านไว้บ้าง ถ้าหากว่าท่านมีวัตถุเก็บพุทธคุณสักรุ่นหนึ่ง คงไม่มีใครคาดหมายอนาคตของวัตถุมงคลของท่านได้ว่าจะโลดแล่นไปไกลถึงไหน

คุณวิเศษของพระอาจารย์มั่น มีมากเหลือจะพรรณนา ข้อนี้ศิษย์ที่ได้รับการฟูมฟักเอาใจใส่จากท่านล้วนซาบซึ้งตรึงใจทุกคน ไม่มีใครเลยจะกล่าวถึงท่านในเชิงตำหนิ

ความเป็นผู้มีจิตรวดเร็วว่องไวปรากฏอยู่ตลอดเวลาที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ความรู้ที่เท่าทันความคิดของศิษย์เป็นบทบาทมหัศจรรย์ที่ศิษย์ทุกคนสัมผัสจน เกิดความกลัวเกรงยิ่งกว่าหนูกลัวแมว

ตัวอย่างเช่น ครั้งหนึ่งท่านอาจารย์มหาปิ่น ปัญญาพโล ซึ่งเพิ่งเข้ามาปฏิบัติร่วมสำนักเดียวกับท่าน ได้เกิดความสงสัย ในคืนหนึ่งขณะนั่งภาวนาในกุฏิกลางเขามืด ท่านอาจารย์มหาปิ่นรำพึงว่า ตัวท่านเองร่ำเรียนมามากมายจนได้เปรียญมหา ทำไมจะต้องมาเชื่อฟังท่านอาจารย์มั่นซึ่งไม่ได้มีความรู้ทัดเทียมตน

คำรำพึงยังไม่จางไปจากใจ เสียงพระอาจารย์มั่นเอาไม้เท้ากระทุ้งกุฏิจากใต้ถุนก็ดังโครมคราม พร้อมกับสีหนาทปานฟ้าผ่า

ทำไมท่านจึงคิดประมาทกับเราอย่างนี้

ท่านอาจารย์มหาปิ่นลุกขึ้นลงมากราบพระอาจารย์มั่น ขอขมาในความเขลาของตน และหลังจากนั้น ท่านอาจารย์มหาปิ่นได้เป็นผู้ที่มีความสำรวมระวังในความคิดของตนอย่างที่สุด

ศิษย์ผู้หนึ่งเล่าว่า ตอนนั้นกำลังนวดเฟ้นถวายพระอาจารย์มั่นอยู่บนกุฏิ อยู่ๆ ท่านก็ลุกพรวดพราดคว้าไม้เท้าเดินออกไป

ครั้งหนึ่งของพระอาจารย์ฝั้น ระหว่างเดินทางตัดป่าข้ามเขาไปกราบนมัสการพระอาจารย์มั่น พระอาจารย์ฝั้น ได้เผชิญหน้ากับเสือและผีจนเกิดปัญญาในธรรมประการหนึ่ง (ความละเอียดมีในหนังสือประวัติพระอาจารย์ฝั้น) พอมาถึงเบื้องหน้าพระอาจารย์มั่น ท่านทักคำแรกอย่างอารมณ์ดี

ท่านฝั้นเดินทางมานี้ดีหลาย ได้ผีกับเสือเป็นอาจารย์

แม้แต่หลวงปู่ขาวก็โดนด้วย ท่านเดินทางจากเชียงใหม่กลับมาอีสาน จะมากราบพระอาจารย์มั่น ระหว่างเดินทางได้เกิดความหวั่นไหวระแวงว่า ป่านนี้ท่านอาจารย์มั่นคงจะมองทะลุถึงตับไตไส้พุงของเราแล้ว เครื่องในของเราคงไม่มีอะไรเหลือ

เมื่อพบหน้าพระอาจารย์มั่น ท่านลงมือเทศน์กัณฑ์ใหญ่ทันที

กลัวแต่คนอื่นจะเห็นตับไตไส้พุงของตัวเอง แต่ตัวเองกลับไม่ได้ดูตับไตไส้พุงของตัวเอง

นี่เป็นเพียงน้อยหนึ่งในความมหัศจรรย์แห่งจิตรู้ของพระอาจารย์มั่น

จิตอย่างนี้ถ้าได้อธิษฐานและปลุกเสกวัตถุมงคลไว้จะเป็นมงคลแก่ผู้ได้ไว้กราบไหว้บูชา

แค่ไหน

แม้ความอยากได้จะมีมากมายล้นฟ้า แต่จะปรารถนาได้อย่างไรในเมื่อทุกคนเชื่อว่าท่านไม่มี เดิมผมคิดคนเดียว และนึกขัดแย้งความเชื่อของใครต่อใครในข้อที่ว่าพระอาจารย์มั่นไม่เคยมีหรือ เคยปลุกเสกวัตถุมงคลไว้ นอกจากให้มรดกพระธรรมแก่ชาวพุทธในครึ่งศตวรรษหลัง ผมเชื่อของผมว่า พระอาจารย์มั่นต้องมีวัตถุมงคลอยู่บ้าง เนื่องจากว่าท่านผู้มีคุณวิเศษล้นพ้นอย่างนั้น จะเว้นเรื่องนี้เด็ดขาดเห็นจะเป็นไปได้ยาก คงมีปัญหาแต่เพียงว่า ไม่ทราบว่าวัตถุมงคลของท่านที่มีอยู่นั้นมีอย่างไรแบบไหนเท่านั้น

ไม่ใช่เรื่องที่ผมจะต้องทุกข์ใจอะไรสำหรับ มีหรือ ไม่มีของพระอาจารย์มั่น แต่เป็นปมที่ถูกผูกขึ้นมาเพื่อรอวันแก้ไปอย่างเลื่อนลอย

บางทีคนแก่คนเฒ่าที่ทันได้เห็นพระอาจารย์มั่นจะบอกได้ ผมก็ไปหา

คำตอบคือไม่รู้

ไม่ค้านด้วยว่ามีหรือไม่มี บอกแค่ไม่รู้คำเดียว

ไม่รู้ก็ยังคงเป็นปมต่อไปเพราะมันไม่ได้แปลว่าไม่มีหรือมี

เดือนปีที่มีทั้งเลื่อนทั้งลอยผ่านไปโดยที่ปมไม่เคยถูกคลี่ และผมก็ลืมไปแล้วว่าเนินนานแค่ไหน จนกระทั่งวันหนึ่ง คุณชัยสิทธิ เตชะศิริธนะกุล ผู้มีบทบาทสำคัญในการสร้างพระเครื่องหลวงพ่อชา สุภทฺโท วัดหนองป่าพง ได้เอะอะกับผมว่า

“รู้จักเหรียญรูปห้าเหลี่ยมที่ด้านหน้าเป็นรูปพระพุทธและด้านหลังมีตัวหนังสือว่า ป.พิบูลสงคราม ไหม

ทำไมผมซัก

เขาว่าหลวงปู่มั่นปลุกเสก

ใครว่า

สรรพสามิตประสูติ ปัญญาสังข์ ยืนยันว่าได้อยู่ในเหตุการณ์ตอนที่หลวงปู่มั่นเสกพระรุ่นนี้ที่วัดบรมนิวาส คือ เห็นเขาหอบกล่องกระดาษเข้ามาถวายท่านปลุกเสก ในโอกาสที่พำนักอยู่วัดบรมนิวาสพอดี

spd_20130904121551_b

ภาพ  :  TARADPlaza.com

จริงๆ แล้วเหรียญ ป.พิบูลสงคราม นี้ ผมไม่ทราบรายละเอียดถี่ถ้วนนัก ไม่รู้ชัดว่าสร้าง พ.ศ. อะไร ถ้าหากว่า พ.ศ.ที่สร้างทันอายุพระอาจารย์มั่น คือ หมายถึงต้องทันในระหว่างที่พระอาจารย์มั่นยังสามารถเดินทางไปวัดบรมนิวาสได้ ก็ยังอาจพอทำใจเชื่อถือคำยืนยันนี้ แต่เท่าที่ได้สอบถามหลายๆคนก็ยังไม่ได้ตัวผู้รู้อย่างแท้จริง

ผมก็ไม่กระตือรือร้นที่จะเอาความจริงแห่งประวัติการสร้างเหรียญรุ่นนี้ จึงทำให้สรุปลงยาก และมีบางท่านบอกว่าจำได้รางๆว่าเหรียญรุ่นนี้สร้างประมาณ พ.ศ. 2497 ถ้าเป็นเช่นนี้ก็เป็นอันว่าไม่ทันพระอาจารย์มั่นแน่ เพราะว่าท่านมรณภาพปี 2492

อย่างไรก็ตาม มูลเหตุในการสร้างเหรียญ ป.พิบูลสงคราม ทราบจากคุณสุธันธ์ สุนทรเสวี ว่า เนื่องจากจอมพล ป. ถูกจับตัวไว้บนเรือรบหลวงศรีอยุธยา คราวขบถแมนฮัตตัน ท่านจอมพลได้อธิษฐานขอให้พระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่บนเรือนั้นช่วยให้รอด ปลอดภัยด้วย เมื่อท่านจอมพลรอดพ้นการจับกุมมาได้ก็เกิดศรัทธาสร้างเหรียญรุ่นนี้ขึ้นเป็น ที่ระลึก โดยเอารูปพระพุทธรูปบนเรือรบหลวงศรีอยุธยามาจำลองลงในเหรียญ ซึ่งจะว่าไปแล้วเหรียญรุ่นนี้เป็นอันไม่ทันพระอาจารย์มั่นแน่นอน เพราะว่าขบถแมนฮัตตันเกิดขึ้นในปี 2494 หลังพระอาจารย์มั่นมรณภาพ 2 ปี

คงต้องทิ้งเรื่องนี้ไว้ให้ผู้ทราบประวัติการสร้างเหรียญรุ่นนี้สอบทานต่อไป บางทีเหตุการณ์ตอนที่พระอาจารย์มั่นเสกวัตถุมงคลที่ท่านสรรพสามิตประสูติได้ เห็นในสมัยนั้นอาจเป็นวัตถุมงคลรุ่นอื่น แต่กาลเวลาเนิ่นนานเกินไปทำให้ความจำคลาดเคลื่อนก็ได้ ถึงงั้นคำยืนยันของท่านสรรพสามิตประสูติก็ใช่จะไร้ประโยชน์ อย่างน้อยก็ทำให้แน่ใจได้ ในข้อที่ว่าพระอาจารย์มั่นมีวัตถุมงคล เพราะการเสกของท่านในวัดบรมนิวาสครั้งนั้นคงไม่ใช่ครั้งแรกและครั้งเดียว

แต่กับท่านมหาเชย จันสุตะ ผู้หลักผู้ใหญ่ในเมืองอุบลฯ ผู้เชี่ยวชาญทางพุทธพิธีและพราหมณ์พิธี กลับบอกว่าตัวท่านเองเป็นสามเณรในวัดบรมนิวาส เคยล้างกระโถนถวายพระอาจารย์มั่นเวลาท่านมาพักที่นี่ ไม่เคยเห็นพระอาจารย์มั่นทำอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้เลย แม้แต่ทำน้ำมนต์ก็ไม่มี เคยเห็นแต่ท่านให้ธรรมะแก่ผู้ศรัทธาเลื่อมใสเท่านั้น

ท่านมหาเชย เล่าเหตุการณ์ที่ท่านประทับใจไม่ลืมถึงการให้ธรรมะแก่ผู้สนใจรายหนึ่ง ผมเห็นว่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้สนใจชีวประวัติพระอาจารย์มั่น จึงขอบันทึกไว้ตรงนี้

มี ดร.หญิงท่านหนึ่งลาบวชชี ได้เดินทางมากราบนมัสการพระอาจารย์มั่นที่วัดบรมฯ โดยกราบเรียนท่านว่าอยากจะหาโอกาสมากราบท่าน และเรียนถามปัญหาท่านข้อหนึ่ง เพิ่งมีโอกาสดีวันนี้ ท่านอาจารย์มั่นได้บอกว่ากำลังตั้งใจฟังอยู่ ปัญหานั้นคืออะไร

“1 ใน 4 และ 1 ใน 8 คืออะไรมีชีดอกเตอร์ถาม

พระอาจารย์มั่นนิ่งอยู่ครู่หนึ่งจึงกล่าวว่า

ที่ถามนี้ผู้ถามได้ถามด้วยสัญญา (ความจำได้หมายรู้) ไม่ได้ถามเพราะรู้หรือเพราะปฏิบัติไปถึงตรงนั้น ถึงบอกให้ก็ไม่รู้จักไม่เข้าใจ เหมือนเด็กร้องไห้จะเอาดาวบนท้องฟ้า เป็นทุกข์เปล่าๆ ไหนๆก็มาและเจตนาที่ถามก็ดีอยู่ก็จะบอกให้ 4 คือธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม มีใจคือ 1 ครอบครองอยู่ ส่วน 8 คือมรรค มีใจ 1 ดำเนินอยู่

ท่านมหาเชยบอกว่าแม่ชีท่านนั้นหน้าแดงด้วยความอับอาย เพราะถูกท่านอาจารย์มั่นตำหนิ ซึ่งโดยมากครูบาอาจารย์ก็มักพบแต่คนช่างถามที่ถามโดยตนเองไม่ได้ปฏิบัติ ถามเพราะได้อ่านตำรามา เหมือนที่หลวงพ่อชาได้เคยย้อนถามผู้ถามประเภทนี้รายหนึ่งว่า

ที่ถามนี้ผู้ถามไปถึงตรงนั้นหรือยัง

ยัง

ถ้ายังบอกให้ก็ไม่รู้จัก

นกแก้วนกขุนทองอย่างนี้ผมเห็นว่ามีอยู่มาก เป็นพวกแก่ตำรา

แต่ครูบาอาจารย์บอกว่าเอาตัวไม่รอด

เข้าทำนองความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด

บางคนอวดดี อธิบายสภาวะของอรหันต์และพระนิพพานคล่องปากโดยที่ตนเองไม่เคยรู้จัก

เป็นปลาที่อธิบายเรื่องท้องฟ้าของนกหน้าตาเฉย

อย่างไรก็ตาม แม้ท่านมหาเชยไม่เคยเห็นพระอาจารย์มั่นปลุกเสกวัตถุมงคล หรือพระเครื่อง ก็ไม่ได้แปลว่าไม่มี เช่นเดียวกับลูกศิษย์หลวงพ่อชาบางท่านบอกว่ามาอยู่วัดหนองป่าพงกับหลวงพ่อชา ตั้ง 15 วัน ไม่เห็นท่านแจกพระอะไรเลย

นี่ก็ให้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการไม่เห็นครูบาอาจารย์ให้วัตถุ แต่เห็นการให้ธรรมะอาหารใจ

มีจดหมายจากคุณทวีทรัพย์ ไชยธวัช ทำงานอยู่ฝ่ายช่างบริษัทการบินไทย จำกัด ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อเรื่องนี้ ซึ่งจะได้คัดข้อความบางส่วนมาให้ดูกัน จดหมายลงวันที่ 28 ส.ค. 2535 มีความว่า

อันที่จริงผมได้เขียนจดหมายถึงคุณฉบับหนึ่งมาแล้ว แต่เขียนยังไม่ทันจบก็ต้องยกเลิกกลางคัน ก็เพราะครั้งนั้นผมทราบว่าหลวงปู่สิม พุทธาจาโร ท่านมรณภาพเสียแล้ว ยังความเศร้าโศกใจแก่พุทธศาสนิกชนเป็นล้นพ้นแต่ผมมาตรองดู ไม่อยากจะให้เรื่องราวที่รับทราบมาจากหลวงปู่ต้องสูญค่าไป แม้หลวงปู่สิมซึ่งเป็นผู้บอกเล่าที่เชื่อถือได้จะมรณภาพไปแล้วก็ตาม หลวงปู่สิมท่านเล่าให้ฟังเมื่อครั้งที่คณะของผมไปกราบนมัสการท่านที่สำนักสงฆ์ถ้ำผาปล่อง ผมและคณะทุกคนขณะนั้นรับราชการประจำการที่กองบิน 41 เชียงใหม่ เพราะเหตุที่เรียนถามถึงเรื่องวัตถุมงคลที่ท่านแจกเป็นทานแล้ว เลยพาดพิงถามถึงวัตถุมงคลของพระอาจารย์มั่นว่าท่านมีหรือไม่ หลวงปู่สิม ท่านบอกว่า ท่านอาจารย์มั่นทำแจกตอนสงครามโลก หลวงปู่ทำนิ้วชี้ประกอบ…ขนาดนี้ เอาด้ายพันใบลานสีดำๆ ครับ…คุณอำพล หลวงปู่สิมของผมท่านยืนยันว่าพระอาจารย์มั่นสร้างแจกนะครับ สำหรับคณะของผมในครั้งนั้นมีด้วยกันที่จำได้เฉพาะวันนั้น (ประมาณ 16 ก.ย. 2530) มี 7 คนด้วยกัน เป็นนายทหารสัญญาบัตร 1 คน เป็นนายทหารประทวน 4 คน แม่บ้าน 2 คน ครับ ขอสงวนนามไว้ก่อนและก็ยังคุยกับหลวงปู่ที่น่าสนใจหลายเรื่อง เช่นเรื่องเครื่องบินท่านปรารภให้ฟังทั้ง 2 วันนะครับ … เครื่องบินน่ะบินดีๆไม่ตก มันก็ดีนะ ถัดจากนั้นมาไม่กี่วัน ข่าวเรื่องบดท.ดิ่งทะเลก็ดังสนั่นครับ

ถ้าจะพูดถึงเครดิตของผู้บอกวัตถุมงคลของพระอาจารย์มั่นแล้ว หลวงปู่สิมท่านมีอย่างเหลือเฟือ เสียดายจริงๆ ที่ท่านมามรณภาพไปเสียก่อนที่จดหมายของคุณทวีทรัพย์จะมาถึงผม หากท่านยังอยู่คงจะได้รับความกระจ่างมากกว่านี้

ความจริงผมไปกราบและสนทนากับหลวงปู่บ่อยมากก่อนท่านมรณภาพสักสองปี ผมไปแทบทุกเดือน เนื่องจากมีเพื่อนทำธุรกิจขายยา จะต้องเดินทางไปขายยาที่อำเภอฝาง ทำให้มีโอกาสได้กราบท่านบ่อยๆ แหม…พอนึกถึง หลวงปู่สิมแล้ว อดคิดถึงขาหมู เชียงดาวไม่ไหว เพราะว่าเวลาที่ไปถึงเชียงดาวเป็นอันได้เวลากินกลางวันพอดีทุกที กินเสร็จก็เหมารถขึ้นถ้ำผาปล่องกราบท่าน

เสียใจชะมัดที่ไปกราบท่านแล้วทำไมไม่รู้จักถามท่านเรื่องนี้เสียเอง

เฮ้อ…

—-

12803269_964191053688143_2986012913144685384_n 12919694_964191430354772_6342675956407357470_n

ตะกรุดใบลานเก่าดอกนี้มีความเป็นไปได้มาก ว่าน่าจะเป็นของหลวงปู่มั่นจริงๆ 

เจ้าของคือคุณ Bhakavad Waengwan ได้เล่าไว้ดังนี้

สวัสดีครับอาจารย์ และพี่ๆน้าๆทุกท่าน ผมได้อ่านงานเขียนเก่าๆอ.อำพล เจน “ความจริงที่สวนทางกับความเชื่อ ใครว่าพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระไม่มีวัตถุมงคล” ก็เลยนึกขึ้นได้ว่าตัวเองมีตระกรุดใบลานเก่าๆอยู่ดอกหนึ่งที่เหลือจากหนูแทะบนหิ้งพระ เป็นมรดกตกทอดมาจากตา วันนี้ก็เลยตามสืบข้อมูลจากลุงป้าได้ความว่า “เดิมทีครอบครัวตายายเป็นคน อ.เขื่องใน จ.อุบลฯ และได้ย้ามมาอยู่ที่สกลนครช่วงพ.ศ.2495 ตาของผมเป็นทหารม้าเก่าและเป็นหมอธรรมประจำหมู่บ้านด้วย คือหนังเหนียวเลยล่ะ สมัยก่อนทหารมาใช้กระบองตีกันในการรบ ก้อนเลือดเป็นก้อนเเข็งๆตามท้องแกอยู่เลย ตระกรุดดอกนี้ลุงบอกว่าเห็นตาห้อยตั้งแต่แกจำความได้แล้วคือช่วง พ.ศ.2480 ยายเคยเล่าให้ลุงฟังว่า ตาเคยเข้าไปกราบหลวงปู่มั่นบ่อยๆ และแกเป็นคนชอบพระเครื่องรางของขลังด้วย จากข้อมูลนี้สอดคล้องกับงานเขียนอาจารย์มาก ข้อมูลของผมนี้จริงจากปากป้าลุงทุกประการ อาจจะเป็นตระกรุดของหลวงปู่ มั่นก็ได้ใครจะไปรู้ใช่ใหมครับ? อย่างน้อยผมก็ภูมิใจ ที่มีของดีตกทอดมาถึงรุ่นหลานอย่างผม ขอบคุณมากสำหรับคนที่อ่านจนจบร่วมกันศึกษาครับ.

untitled

————-

เรื่องใบลานดำๆ พันด้วยด้ายนั้น จริงๆแล้วมีคำเรียกกันว่า ตะกรุดใบลานครูบาอาจารย์ผู้เฒ่าโบราณมักทำขึ้นแจกจ่ายแก่ลูกศิษย์ ทำออกมาหลายสำนักหลายอาจารย์แทบทุกภาคพื้นประเทศไทยที่มีชื่อเสียงปรากฏชัด คือ ตะกรุดใบลาน ของหลวงพ่อแก้ว วัดพวงมาลัย ส่วนของพระอาจารย์มั่น เพิ่งจะทราบว่ามีเหมือนกันตอนนี้เอง

แต่วัตถุมงคลอย่างนี้ก็ยากที่จะรู้ได้ว่าเป็นของใครไม่เหมือนพระเครื่อง แม้นานนับร้อยปีก็ยังปิดบังตัวครูบาอาจารย์ผู้เสกไว้ไม่มิด ตะกรุดเป็นเรื่องหมดหวังจะรู้ เว้นแต่จะคลี่ออกดูอักขระข้างใน แต่นั่นก็ต้องรู้จักลักษณะลายมือและตัวคาถาแน่ชัดเสียก่อน มิหนำซ้ำตะกรุดก็เป็นของที่ใครๆไม่อยากคลี่ เพราะเหตุว่าโดยมาก ครูบาอาจารย์ทำตะกรุดเสร็จมักกำกับมาด้วยว่าห้ามคลี่ ไม่งั้นของเสื่อม

แม้หมดหวังจะทราบได้ว่าตะกรุดใบลานดอกไหนเป็นของพระอาจารย์มั่นทำแจกตอน สงครามโลกก็ตาม แต่ว่าข้อมูลนี้ก็บ่งชี้ชัดถึงการมีวัตถุมงคลของพระอาจารย์มั่น ซึ่งท่านตั้งใจทำขึ้นโดยไม่มีใครขอร้องหรือบังคับขืนใจ

ครูบาอาจารย์ ระดับนี้ท่านรู้ตัวท่านเองว่าท่านทำอะไรได้ หรือไม่สามารถทำได้ ไม่เหมือนสมัยนี้ ตัวเองไม่มีคุณวิเศษ แต่ทำรูปตัวเองออกแจกก็ได้โดยอาศัยกำลังของคนอื่นเสกให้ ผิดวิสัยเสือต้องไม่ขอเนื้อใครกิน

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดขึ้นและจบสิ้นลงประมาณว่าว่าเป็น พ.ศ. 2482 ถึง 2486 หรือ 2488 นั้น เป็นช่วงเวลาที่เกิดขึ้นก่อนพระอาจารย์มั่นมรณภาพเพียงไม่เกิน 10 ปีตอนที่ท่านทำตะกรุดใบลานแจกจึงเป็นช่วงที่ท่านเข้มขลังอย่างเต็มที่ และท่านได้มีเมตตาสงสารสัตว์ผู้เผชิญกับสงคราม ท่านรู้ว่าท่านช่วยได้ท่านจึงทำของขลังออกมาช่วยคน

ถ้าจะพูดถึงวัตถุมงคลประเภทอื่น นอกเหนือไปจากตะกรุดใบลาน เช่นว่าพระเครื่องหรือเหรียญนั้นก็มีเหรียญอยู่รุ่นหนึ่งที่เฉียดฉิวจะเป็น ของท่านโดยสมบูรณ์เหมือนกัน เรื่องเหรียญที่ท่านพระอาจารย์มั่น อธิษฐานจิตและปลุกเสกไว้นั้นเห็นจะยกไป คุยกันต่อในคราวหน้า ซึ่งยังอาจะได้เล่าเรื่องพระเครื่องของพระอาจารย์เสาร์ก็มีเหมือนกันให้ทราบ เป็นแนวทางด้วย

เป็นอันทราบชัดแล้วว่า พระอาจารย์มั่นได้มีได้สร้างวัตถุมงคลที่เรียกว่า ตะกรุดใบลาน แจกในสมัยสงครามโลก ครั้งที่ 2 แต่ตะกรุดใบลานไม่อาจประกาศตัวผู้สร้างได้ คงเพียงหวังว่าถ้าใคร ได้รับตะกรุดใบลานสืบทอดมาจากผู้เฒ่าโบราณ หรืออดีตผู้เม่าทหารสงครามโลกในภาคอีสาน หรือจะจำกัดพื้นที่ให้แคบลง คือ ในเขตจังหวัดสกลนคร อุบลราชธานี หรือใกล้เคียงก็อาจตีขลุมว่าเป็นของพระอาจารย์มั่นได้ง่ายขึ้น

เรื่องตะกรุดใบลานนี้ ผมได้เล่าให้คุณชัยสิทธิ์ เตชะศิริธนะกุล ฟัง ซึ่งคุณชัยสิทธิ์ได้บอกว่าคุณยายของเขาเคยอุปัฏฐากพระอาจารย์เสาร์ และพระอาจารย์มั่นสมัยท่านทั้งสองยังมีชีวิตอยู่เมืองอุบลฯ เขาจำได้ว่าตอนเด็กๆ คุณยายเอาตะกรุดใบลานมาห้อยคอเขาดอกหนึ่ง ตะกรุดดอกนั้นพิเศษไปจากดอกอื่น คือ เป็นใบลานสานไขว้กัน เขาไม่อาจบอกได้ว่าเป็นตะกรุดของใคร คุณยายก็เสียชีวิตไปนานแล้ว ไม่มีตัวผู้รู้เรื่องตะกรุดดอกนั้นเหลืออยู่

ถ้าจะวิจารณ์เรื่องของตะกรุดใบลาน เห็นจะพอกล่าวได้ว่า สมัยนั้นแผ่นโลหะคงหายาก ดังนั้นวัสดุธรรมชาติอย่างใบลานจึงมีบทบาทสำคัญแทนแผ่นโลหะ ใบลานก็เป็นของมงคล เพราะมีไว้เพื่อจารคัมภีร์ เมื่อถูกนำมามาทำเป็นของขลังจึงไม่เป็นที่ขัดข้องอึดอัดใจแต่อย่างใด

ส่วนด้ายที่ใช้พันใบลานก็ไม่น่าจะเป็นด้ายพิเศษพิสดารอะไร คงพันไว้เพื่อป้องกันไม่ให้ใบลานคลายตัวเท่านั้น ถ้าไม่มีด้ายก็ต้องใช้วิธีสานใบลานเข้าด้วยกัน เพื่อให้คงสภาพตะกรุดอยู่ได้เป็นมั่นคง ผมเคยเห็นตะกรุดใบลานเก่าๆผ่านตามาก่อน บางดอกนอกจากจะพันด้ายด้วยชั้นหนึ่งแล้ว ยังหุ้มด้วยรักอีกชั้นหนึ่ง แม้จะเห็นอย่างนั้นยังหมดหวังจะรู้ได้ว่าใครเป็นผู้สร้างผู้เสก เว้นแต่ท่านที่เชื่อถือเรื่องทางใน ก็ไปหาผู้เชี่ยวชาญทางในดูกันเอาเอง

ตะกรุดใบลานของพระอาจารย์มั่น เห็นจะต้องปล่อยให้มืดต่อไป คงหวังให้ผู้รู้จริงที่ยังเร้นกายอยู่ได้ออกมาทำให้สว่างในภายหน้า ถึงตอนนั้นคงจะเป็นกุศลแก่ผู้สนใจในการเก็บวัตถุพุทธคุณ นอกเหนือไปจากธรรมะที่ออกจากความรู้แจ้งของพระอาจารย์มั่น

weamulet_shop3213

 ภาพ  : we-amulet.com/

บัดนี้จะได้กล่าวถึงพระเครื่อง หรือเหรียญที่พระอาจารย์มั่นได้ปลุกเสก หรืออธิษฐานจิตไว้

ราวๆเดือนมีนาคม ปี 2532 คุณอดุลย์ ว่องพิทูรมานะชัย เจ้าของและผู้จัดการร้านกรุงเทพกลการ จังหวัดนครพนม ได้ปรารภกับผมว่า

คุณอำพลเคยเห็นเหรียญรูปเพระพุทธที่ด้านหลังมีคำว่า ที่ระลึกโรงเรียนแบบ ป.มาลากุล และบอกเลข พ.ศ. ไว้ด้วยว่าสร้างปี 2492 บ้างไหม

ทำไมหรือครับ

เขาว่าหลวงปู่มั่นปลุกเสก

ล้อเล่นน่ะ

คุณพิพัฒน์เป็นคนบอกผมอย่างนี้ คุณพิพัฒน์เคยเอาไปให้หลวงปู่คำพันธ์ดู ท่านบอกว่าใช่ เพราะว่าเป็นพลังของหลวงปู่มั่น

ตอนนั้นผมไม่เคยรู้ หรือเคยเห็นเหรียญที่ว่านี้มาก่อน จึงขอให้คุณอดุลย์สเก็ตช์ภาพให้ดูเป็นแนวทาง แต่ก็แทบไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย เพราะว่าจากนั้นผมยังคงไม่มีโอกาสได้เห็นเหรียญลักษณะนี้ที่ไหนอีก

คุณพิพัฒน์ที่ได้เอ่ยชื่อนี้คือ คุณพิพัฒน์ ไกรกาญจน์ ซึ่งมารดาของเขาเคยอุปัฏฐากหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค และได้ถวายทิ่ดินสำหรับสร้างวัดอโศการามทุกวันนี้ ส่วนหลวงปู่คำพันธ์ก็คือ หลวงปู่คำพันธ์ โฆษปัญโญ วัดธาตุมหาชัย จังหวัดนครพนม ท่านเป็นศิษย์หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล ศิษย์อาจารย์เดียวกันกับพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตมหาเถร

หลายเดือนต่อมา ผมได้มีโอกาสพบคุณพิพัฒน์ ออกจะเลือนๆไปแล้วว่า พบกันที่นครพนมหรือเปล่า เมื่อพบแล้วก็ได้สนทนากันถึงเรื่องเหรียญดังกล่าวนี้ และได้ความถนัดชัดเจนขึ้นว่า เดิมคุณพิพัฒน์ก็ไม่เคยทราบเรื่องนี้มาก่อน แต่ได้ยินจากคุณหมอสุทิน สุขารักษ์ ซึ่งเคยอยู่นครพนม และเคยดูแลรักษาไข้ถวายเจ้าคุณปู่จันทร์ เขมิโย วัดศรีเทพประดิษฐาราม จนถึงกาลมรณภาพ ในปี 2516 คุณหมอสุทินบอกว่าทราบเรื่องนี้จากคนแก่คนหนึ่ง ซึ่งได้ยืนยันว่า ได้รับเหรียญนี้จากมือของพระอาจารย์มั่น ในคราวเปิดโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดสกลนคร

งานเปิดโรงเรียนคราวนั้น ได้มีผู้นิมนต์พระอาจารย์มั่นมาเป็นประธานพิธีสงฆ์ และได้ถวายเหรียญใส่พานให้ท่านแจกแก่ผู้มีเกียรติที่มาร่วมงานจนทั่วถึงกัน

ลักษณะของเหรียญนี้ เมื่อเห็นภาพแล้วจะเข้าใจชัดเจนกว่าอธิบายด้วยตัวหนังสือ เท่าที่เคยเห็นในภายหลังพบว่ามีเนื้อเงิน และทองแดง เนื้ออื่นยังไม่ปรากฏ และที่ด้านหลังเรียบๆ ไม่มีตัวหนังสือ ที่ระลึกในงานฉลอง ร.ร. แบบ ป.มาลากุล สกลนครก็มีให้เห็นเหมือนกัน

ผมได้ฟังคำบอกเล่าเรื่องเหรียญนี้จากคุณพิพัฒน์แล้วยังไม่ปลงใจเชื่อได้สนิทนัก คุณพิพัฒน์ก็คงเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของผม จึงได้เล่าต่อไปว่า เมื่อทราบรายละเอียดและลักษณะเหรียญแล้วก็ได้ลงมือค้นหาจนกระทั่งพบเข้า เหรียญหนึ่ง พบแล้วก็หาได้มั่นอกมั่นใจอะไร จึงตัดสินใจนำเหรียญที่ได้มาไปขอความเมตตาจากหลวงปู่คำพันธ์ดูให้ ซึ่งหลวงปู่คำพันธ์รับไปถือไว้ในมือแล้วบอกว่า

นี่เป็นพลังของหลวงปู่มั่น

ความเชื่อถือก็มีอันแน่นแฟ้นหัวใจยิ่งขึ้น

ต่อมาคุณพิพัฒน์ก็พบเหรียญรุ่นเดียวกันนี้อีกเหรียญหนึ่ง ได้เอาเหรียญที่ได้มาใหม่ไปขอให้หลวงปู่คำพันธ์ดูให้อีก แต่คราวนี้ท่านบอกว่า

อันนี้ไม่ใช่พลังหลวงปู่มั่น

คุณพิพัฒน์ก็งง

แต่ก็ไม่ว่าอะไร คงนำเหรียญนั้นกลับบ้านไป และทำการบันทึกไว้ว่า เหรียญนี้มีพลังหลวงปู่มั่น เหรียญนี้ไม่มี

ปีต่อมาได้นำเหรียญทั้งสองกลับขึ้นมาหาหลวงปู่คำพันธ์อีก

ไม่รู้ว่ามาลองของหรือเปล่า

หลวงปู่รับเหรียญไปถือไว้ในมือ แล้วบอกว่า เหรียญนี้มีพลังหลวงปู่มั่น เหรียญนั้นไม่มีท่านบอกตรงกับที่เคยบอกเมื่อปีที่แล้วไม่มีผิด

จึงทำให้เกิดข้อสงสัยว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

ทางเดียวที่คิดออกคือ เหรียญรุ่นนี้ได้ถูกสร้างขึ้น และทำพิธีปลุกเสกโดยครูบาอาจารย์อื่นมาแล้ว เมื่อมาแจกในงานเปิดโรงเรียนได้นำขึ้นถวายพระอาจารย์มั่นแจกพานหนึ่ง ซึ่งเป็นไปได้มากว่าพระอาจารย์มั่นคงอธิษฐานจิตให้ในทันทีนั้น

เหรียญที่มีพลังของพระอาจารย์มั่นจึงเป็นเฉพาะเหรียญที่ที่อยู่ในพานที่ท่านรับมาแจกให้ผู้มาร่วมงาน

ดังนั้นจึงบอกได้ว่า ถึงใครมีเหรียญรุ่นนี้อยู่กับตัวแล้ว บางทีจะเป็นเหรียญที่มาจากพานใบนั้นก็ได้

ขณะที่เขียนเรื่องนี้อยู่ ผมยังไม่ทราบประวัติการสร้างเหรียญรุ่นนี้ คงยกให้ผู้รู้หรือผู้สามารถสืบค้นได้ลงมือหาประวัติการสร้างต่อไป แต่เท่าที่ผ่านหูผ่านตามาบ้าง หลายๆคนเชื่อว่า เป็นหลวงปู่ฝั้นปลุกเสกไว้ ครั้นถามว่าทำไมจึงเชื่อว่าหลวงปู่ฟั่นปลุกเสก ก็ได้คำตอบว่า เพราะเหรียญนี้ออกที่สกลนคร เมืองสกลฯมีแต่หลวงปู่ฟั่นเท่านั้น ฟังแล้วก็ทำใจยากเต็มที

ถ้าหากว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามความรู้ที่ได้มานี้ เหรียญรุ่นที่ระลึกในงานฉลอง ร.ร.แบบ ป.มาลากุล ก็ฉิวเฉียด จะเป็นเหรียญของพระอาจารย์มั่นเต็มที

ทีนี้มาวิจารณ์กันในข้อเท็จจริงตามหลักฐานที่ปรากฏเหรียญรุ่นนี้ออกจะล่อ แหลมต่อการไม่ใช่ของพระอาจารย์มั่นไม่น้อย เพราะว่าในเหรียญ ระบุว่าเป็น พ.ศ.2492 ซึ่งเป็นปีเดียวกันกับที่พระอาจารย์มั่นมรณภาพ คือ วันที่ 11 พ.ย. 2492 ซึ่งในปลายชีวิตพระอาจารย์มั่นนั้นท่านอาพาธตลอด แต่ความเป็นไปได้ก็มีอยู่มาก เพราะถ้าหากว่าได้มีการแจกเหรียญรุ่นนี้ในตอนต้นปี ซึ่งนับว่าเป็นเวลาอีกหลายเดือนกว่า พระอาจารย์มั่นจะมรณภาพไป ท่านก็น่าจะรับนิมนต์มาร่วมงานฉลองโรงเรียนได้ เพราะว่าขณะนั้นท่านพำนักอยู่บ้านหนองผือ อ.พรรณานิคม (2488-2492)

ผมมีเรื่องเกี่ยวกับเหรียญรุ่นนี้ที่ได้เกิดขึ้นกับตนเองอยู่เหมือนกัน ทีแรกไม่คิดจะเล่า แต่เมื่อเลยเถิดมาจนถึงขนาดนี้ก็จะเล่าไว้เพื่อให้อยู่ในที่เดียวกัน ไม่ต้องกระจัดกระจายไปที่อื่น

 

ฟังเล่นๆไป ไม่ต้องคิดมากราวต้นปี 2534 ผมไปเยี่ยมคุณสันต์ เจ้าของร้านอุบลนิยมศิลป์ ในเมืองอุบลฯ คุณสันต์ได้เอาเหรียญรุ่นนี้มาให้ผมดู โดยถามว่ารู้จักไหม เขาเช่ามาจากสนามพระเครื่องหน้ากองบินอุบลฯ ในราคา 30 บาท เพราะเห็นว่าเป็นเหรียญเก่า สร้างแต่ พ.ศ.2492 ขณะนั้นผมยังไม่ทราบรายละเอียดเรื่องเหรียญนี้ชัดเจน จึงไม่ได้บอกคุณสันต์ว่ารู้จักหรือไม่รู้อย่างไร คุณสันต์ก็ดีใจยกเหรียญนั้นให้ผม

เมื่อได้เหรียญนั้นมาแล้วผมก็หาได้มีความแน่ใจอะไร คงมีแต่ความรู้สึกเชื่อครึ่ง ไม่เชื่อครึ่ง คลุมเครือว่าใช่ไม่ใช่ทำนองนั้น ตกกลางคืนก่อนเข้านอนจึงได้ลองอธิษฐานกับพระอาจารย์มั่นว่า ถ้าหากเหรียญนี้เป็นของพระอาจารย์มั่นอธิษฐานจิตปลุกเสกไว้ ขอให้ผมมีนิมิตดีๆ จะเป็นขณะทำสมาธิก็ได้ และถ้าฝันก็ขอให้ตื่นเช้าแล้วจำได้ด้วย

เพราะว่าผมมักจำความฝันของตัวเองไม่ได้ ทุกเช้าที่เคยตื่นจะนึกถึงฝันของตนเองไม่ออก เป็นอย่างนี้มาหลายปีปรากฏว่ารุ่งขึ้นผมตื่นขึ้นอย่างแจ่มใส จำความฝันได้ละเอียดทุกขั้นตอน

ขอเชิญอ่านต่อ……

ผมฝันว่าคุณสันต์ได้ให้พระธาตุของพระอาจารย์มั่นแก่ผม เป็นพระธาตุที่สวยงามมาก มีแสงสว่างส่องกระจายอยู่ในตัว เหมือนแสงนีออนแต่สว่างงดงามกว่า ในฝันนั้นผมตื่นเต้นเหลือจะพรรณนา และพอตื่นขึ้นตอนเช้ายิ่งตื่นเต้นใหญ่

ผมเล่าเรื่องฝันนี้ให้เพื่อนฟัง เพื่อนก็บอกว่าอย่างนี้ให้อธิษฐานอีก โดยอธิษฐานขอพระธาตุหลวงปู่มั่นเลย

บ้าน่าผมว่า

ไม่บ้าสิ พระธาตุท่านเสด็จได้ ลงฝันอย่างนี้ขอให้ท่านเสด็จ เป็นเสด็จแน่

เพื่อนยุส่ง

หนังอินเดียน่าผมชักคลอนแคลนเหมือนกัน

คืนนั้นผมเอาเหรียญที่ได้มาใส่พาน และ อธิษฐานบอกพระอาจารย์มั่น

หลวงปู่ครับ ขอพระธาตุเสด็จมาดูหน่อยครับ เกิดมาผมไม่เคยเห็น เคยแต่ได้ยินว่าพระธาตุเสด็จที่โน่นที่นี่ ไม่เคยเห็นกับตาตัวเองสักที ถ้าไม่เหลือวิสัยแล้วขอพระธาตุหลวงปู่เสด็จมาด้วยให้เห็นเป็นขวัญตาสักที

ตื่นเช้าผมกระเย้อขึ้นไปดูที่พาน

ไม่มีอะไรเลย ไม่มีพระธาตุหรือสิ่งแปลกปลอมอื่นใดนอกเหนือไปจากเหรียญนั้นวางอยู่

หนังอินเดียจริงๆ

ต่อมาราวสัก 2 สัปดาห์เห็นจะได้ ผมไปคุยกับคุณกมล สินธุเชาวน์ ผู้เป็นหัวแรงในการสร้างเหรียญหลวงพ่อชา รุ่นแรก (ที่ระลึกงานฌาปนกิจศพโยมแม่ชีพิมพ์ ช่วงโชติ) คุณกมลใจดีมอบเหรียญรุ่นแรกของหลวงพ่อชาให้ผมคู่หนึ่ง เป็นเหรียญเงินและทองแดงอย่างละเหรียญผมไม่รู้จะตอบแทนคุณกมลอย่างไร จะหาพระเครื่องของครูบาอาจารย์อื่นมาให้ ก็คิดว่าคุณกมลคงไม่สนใจ เพราะว่าเคารพเลื่อมใสหลวงพ่อชาอยู่องค์เดียว ก็เลยคิดได้ถึงสิ่งของที่จะให้สิ่งหนึ่ง เฮียจะเชื่อผมหรือไม่ก็ตาม แต่ผมอยากจะให้ ผมมีเกศาของสมเด็จพระญาณสังวรและพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถร พร้อมกับเส้นพระเจ้าของพระเจ้าอยู่หัว รวมอยู่ด้วยกันแยกไม่ได้ว่าอะไรเป็นขององค์ หรือพระองค์ใด ถ้าเฮียเชื่อถือผม ผมก็จะแบ่งให้

เราเชื่อคุณกมลบอก

ผมกลับมาที่หิ้งพระในบ้าน ยกพระพุทธรูป ภปร. ปี 2508 องค์ใหญ่ที่ครอบเกศาครูบาอาจารย์ต่างๆ ไว้โดยไม่เคยเปิดหลายปี เพื่อค้นหาเกศาพระเกศาและเส้นพระเจ้านั้น

เมื่อพบแล้วผมก็ตะลึง มีบุษราคัมเม็ดเล็ก ๆ อยู่ในขวดบรรจุเส้นเกศาพระอาจารย์มั่น, สมเด็จพระญาณสังวร และ เส้นพระเจ้าของพระเจ้าอยู่หัว เหลืองใสงดงามมาก ขนาดของเม็ดบุษราคัมนั้นโตประมาณเมล็ดงาหรือเล็กกว่านิดหน่อย มีเส้นเกศาแทงออกจากเม็ดบุษราคัมสองสามเส้น มีอยู่เส้นหนึ่งกำลังเปื่อยผุ

ผมยกขึ้นท่วมหัว

คิดออกอย่างเดียวในขณะนั้นว่า ผมอธิษฐานขอพระธาตุท่านที่นั่นแต่มาเกิดขึ้นที่นี่เองจริง ๆ แล้วจะบอกว่าเป็นการเปลี่ยนสภาพเป็นพระธาตุของเส้นเกศาพระอาจารย์มั่นก็บอก ได้ไม่ถนัดปาก เพราะว่าในนั้นไม่ได้มีของท่านองค์เดียว พระธาตุที่เกิดอาจเป็นของใครก็ได้ เพราะว่ามีอยู่ 3 องค์ แต่ฉันทาคติก็ลำเอียงไปเองว่าต้องเป็นของพระอาจารย์มั่น เพราะว่าท่านมรณภาพไปแล้ว

หลังจากนั้นผมได้มีโอกาสไปกราบหลวงปู่คำพันธ์ ที่วัดธาตุมหาชัย ได้นำเหรียญดังกล่าวขึ้นไปหาท่านด้วย ผมให้ท่านดูให้ แต่ท่านไม่ยอมดู และบอกว่า

หลวงปู่ไม่ดู

ผมลืมไปว่าตอนนั้นมีคนอยู่กันมาก ที่จริงควรรอจังหวะอยู่ตามลำพังจะเหมาะกว่า แต่ผมก็ตื้อท่าน และท่านรับไปถือในมือแล้วตอบยวนๆ ว่า

ถ้าใช่ก็ใช่ ไม่ใช่ก็ไม่ใช่หมายความว่าแล้วแต่ความเห็นของผมเอง ถ้าผมเห็นว่าใช่ก็ใช่ ถ้าผมเห็นว่าไม่ใช่ก็ไม่ใช่

ผมก็ซึมไป

ครู่ต่อมา อาจารย์อนันต์ สวัสดิสวนีย์ ขอนิมนต์ท่านออกมาข้างนอกกุฏิเพื่อถ่ายรูปสำหรับเป็นแบบปั้นรูปเหมือนของท่าน ผมเป็นตากล้องเสียด้วย พอถ่ายเสร็จทุกแง่มุมตามที่อาจารย์อนันต์ต้องการแล้ว ผมได้โอกาสเสียบเข้าไปข้างๆ ตัวท่านกราบเรียนถามอีกครั้ง

ตกลงเหรียญนั้นใช่ปู่มั่นไหมครับปู่

ท่านลุกขึ้น เฉียงหน้ามามองผมนิดเดียวและบอกว่า

ใช่

แล้วเดินหายลับเข้ากุฏิไป ไม่ร่ำไรผมอีกเลย

เรื่องเหรียญของพระอาจารย์มั่นเห็นจะยุติลงได้ ผมหวังให้เรื่องที่คุยกันมาทั้งหมดนี้พอเป็นแนวทางสำหรับท่านผู้รู้หรือผู้ เชี่ยวชาญทางวัตถุมงคล ได้สืบค้นต่อไป ไม่หวังให้ถูกนำไปใช้เป็นข้ออ้างอิง เนื่องจากว่าหลักฐานประการใดๆ ที่ปรากฏอยู่ในบทความนี้ยังอ่อนเต็มที หวังให้ท่านผู้รู้ทั้งหลายได้ค้นคว้าและเปิดเผยกันต่อต่อไปภายหน้า ซึ่งประโยชน์ย่อมจะเกิดมีแก่ผู้สนใจทั่วไปไม่น้อย

ผู้รู้ควรแสดงตัวออกมา ผู้เป็นนักสืบค้นขอให้ลงมือทันที

ในส่วนของผมทำได้แค่นี้แหละครับ

—–

ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารศักดิ์สิทธิ์ ราวพ.ศ.2535

 

แชร์ :

ความคิดเห็น

** โปรดแสดงความคิดเห็นอย่างมีวิจารณญาน