สงกรานต์อีสานบ้านเฮา

สงกรานต์บ้านเฮา

ฤดูร้อนไม่ถึงกับจะเลวร้ายจนเกินไปหรอกครับ

ดูให้ดี ๆ จะเห็นดอกไม้บานสะพรั่งอยู่ทั่วไปหมด

ดอกคูนยังบานทั้งช่อเหลืองอร่ามไม่โรยอยู่ในขณะนี้

สงกรานต์ที่กำลังมาถึงก็เป็นวันที่คนจะออกไปเก็บดอกไม้เป็นประเพณี

ท้องนาท้องไร่ชายป่าชายดงล้วนแต่มีดอกไม้นานาชนิดบานไสวอยู่ทั่วไป

ประเพณีการเก็บดอกไม้ของอีสานบ้านเฮาเป็นข้อพิสูจน์ว่าในความแห้งแล้งและ ร้อนเหมือนไฟเผานี้ ยังมีความสวยงามสดชื่นแทรกอยู่ด้วย และความสวยงามสดชื่นดังกล่าวนี้ก็สามารถหยิบฉวยมาได้ไม่ยาก

พระยาอนุมานราชธนเล่าถึงประเพณีเก็บดอกไม้ ของชาวอีสานไว้ได้ชัดเจน เหมือนได้ฟังญาติผู้ใหญ่เล่าฟื้นความหลังตั้งแต่ครั้งเรายังเด็ก

มองเห็นภาพที่มีชีวิต และมีสีสันเหล่านั้นเคลื่อนไหวอยู่ตรงหน้าทีเดียว

“เวลาบ่ายสองโมง เสร็จจากสรงน้ำพระพุทธรูปแล้ว หญิงสาวชายหนุ่มและรวมทั้งพระภิกษุสามเณรด้วยก็พากันออกไปเก็บดอกไม้ตามป่า มีเครื่องสำหรับปักดอกไม้ทำด้วยแฝกมัดเป็นกำได้ ๓ เปลาะ แล้วมัดแฝกนั้นทำเป็น ๓ ขา สำหรับตั้งไม่ให้ล้มเมื่อจะไปเก็บดอกไม้ พระจะแจกแฝกนี้แก่หญิงสาวชายหนุ่มถือไปคนละมัด

ครั้นถึงป่า หรือ โคกที่มีดอกไม้ก็หยุดพักตามร่มไม้ แล้วต่างคนต่างไปหักหรือเด็ดช่อ ดอกไม้มาปักเข้ากับมัดแฝก ประดับประดาสีของดอกไม้ให้เป็นพุ่มพวงดูงามตามประสาของชาวปัจจันตประเทศ

ขณะนั้นเป็นเวลาแดดอ่อน ๆ ตะวันชายแสงลงรอบ ๆ เริ่มจะลับขอบฟ้าอยู่เรื่อย ๆ แลภูมิภาคเหล่านั้นเจริญตาเจริญใจ เหลียวแลไปทางไหนล้วนแต่เห็น พุ่มไม้ใบเขียวไปทั้งโคก บางแห่งมีดอกออกช่อสลับสี มองดูตามพื้นดินก็มีพรรณหญ้าต่าง ๆ เขียวลาดดาดเป็นทางไปตามร่มเงาไม้ดูตระการตา

นับว่าเป็นความรื่นเริงสบายใจตามประสาชนบทบ้านนอก

สภาพแห่งธรรมชาติอย่างนี้มีน้อยครั้งที่ชาวกรุงเทพฯ จะเคยเห็น ใช่แต่เท่านั้นย่อมมีดนตรีของชาวบ้านป่าตามไปประโคมในครั้งนี้ด้วย ดนตรีนั้นมีกลองตบรูปร่างคล้ายกลองเถิดเทิง แต่มีสองหน้า และก็มีฆ้องหมุ่ยกับฉาบ และสิ่งนี้เป็นดนตรีประโคม เมื่อเก็บดอกไม้แล้วพากันแห่กลับวัด เมื่อมาถึงก็นำดอกไม้นั้นไปไว้ที่หอสรง รอบองค์พระพุทธรูป

ถึงตอนกลางคืนรวมทุ่มหนึ่งก็ตีกลองใหญ่ขึ้นสองสามตูม ราษฎรก็พากันไปประชุมที่ลานวัด พวกผู้หญิงมีหน้าที่จัดหมากพลูบุหรี่ถวายแก่พระสงฆ์ ส่วนพวกหนุ่ม ๆ ก็แอ่วบ้าง ขับแคนบ้าง เป็นการสนุกครึกครื้นของชาวบ้าน

การประชุมครั้งนี้อยู่ดึกประมาณ ๔ ทุ่มถึง ๕ ทุ่ม จึงเลิกแล้วกลับไปส่วนเจ้าหนุ่มก็ตามไปส่งหญิงสาว จนถึงเรือนของหญิง พูดเกี้ยวพากันไปตามประเพณีของชาวพื้นนั้น

อนึ่ง การเก็บดอกไม้ตามโคกนี้ ลางทีก็ไปประจวบกันเข้ากับบ้านอื่นหรือวัดอื่น ก็มีการตีกลองตบมือแข่งกัน เพื่ออวดอ้างว่าข้างไหนจะเสียงดังกว่ากัน

ถ้าข้างไหนดังกว่าข้างนั้นก็ชนะ (อันนี้ทางภาคอีสานเรียกว่า เส็งกลอง คือแข่งตีกลองนั่นเอง)

สงกรานต์เป็นเรื่องของการบุญและการสนุกสนาน เป็นเทศกาลสำคัญอย่างยิ่งของชาวอีสาน จะเห็นได้ว่าชาวอีสานให้ความสำคัญแก่สงกรานต์ ด้วยการลางานกลับบ้านแทบเกลี้ยงกรุงเทพฯ บางคนเจ้านายไม่ยอมให้ลากลับ ก็ยอมถึงกับลาออกเลยก็เอา เพื่อจะได้กลับไปร่วมงานบุญงานกุศลนั้นพร้อมหน้าพร้อมตาเพื่อนบ้านและญาติ พี่น้องของตน

วันต้นสงกรานต์ ตอนบ่ายยังมีการละเล่นอย่างหนี่งที่สนุกสนานมากคือ การดึงครกดึงสาก

 

 

ที่จริงก็คือ เล่นชักเย่อนั่นแหละครับ แต่เป็นชักเย่อที่มีครกกับสากตำข้าว แขวนต่องแต่งอยู่ตรงกลางระหว่างคนสองฝ่ายที่ออกแรงดึงกัน

ที่จู่ ๆ ก็ทะลุกลางปล้องเรื่องดึงครกดึงสากขึ้นมายังงี้ก็เพราะนึกได้ว่าไม่ได้เห็น มานานแล้ว ไม่ทราบว่าลดความนิยมลงไป หรือเพราะไม่ได้สังเกตเห็นก็ไม่ทราบ

เรื่องขนบธรรมเนียมเก่า ๆ ทางภาคอีสานก็เช่นกัน เดี๋ยวนี้จะสอบถามใครโดยมากมัก ไม่ค่อยจะรู้เรื่องเพราะว่าความเจริญมักทำให้ของเก่าเสียไปทั้งดีและไม่ดี

อย่างเช่นการปล่อยนกปล่อยปลาก็เป็นปัญหา ว่าทำไมต้องมาปล่อยกันในวันสงกรานต์ ซึ่งเป็นวันหน้าแล้ง อากาศร้อนจัด ตามหนองและแอ่งน้ำทั่วไปงวดแห้ง

ความจริงมีว่าก่อนหน้านี้ เป็นเวลาหน้าน้ำมีน้ำท่วมท้นตลิ่งหรือสองฟากฝั่งแม่น้ำลำคลองไหลบ่าเข้าไปใน ท้องทุ่งนา ฝูงปลาก็ว่ายไปวางไข่ทั่วไป ลูกปลายังไม่ทันจะโตก็ถึงหน้าน้ำลด น้ำขาดตอนเป็นห้วง ๆ คงเหลือที่มีน้ำก็แอ่งและหนองน้ำ

ฝูงปลาที่หนีตามน้ำลดลงมายังแม่น้ำลำคลองไม่ทัน โดยเฉพาะพวกลูกปลาก็ติดค้างอยู่ ในที่สุดปลาก็ตกคลั่ก พวกชาวบ้านจึงพากันไปจับปลาตกคลั่กนั้นมาขังไว้ในตุ่มในไหเพื่อช่วยชีวิตมัน เป็นการเอาบุญ แล้วนำไปปล่อยลงในแม่น้ำลำคลองในวันสงกรานต์
จึงเกิดประเพณีปล่อยปลา และลามมาถึงปล่อยนกอีกด้วย

201603191410333-20021028190330

นี่ก็เพิ่งมานึกได้อีกว่า ลักษณะการช่วยปลาตกคลั่กและนำไปปล่อยอย่างนี้ยังมีให้เห็นอยู่บ้าง ดังเช่นที่คุณเริงศักดิ์ กำธร เขียนถึงชายวัย ๖๐ กว่าคนหนึ่งในคอลัมน์ชีวิตและหนังสือ ในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ฉลับวันที่ ๘ เมษายนว่า

ชายวัยล่วง ๖๐ ปี เนื้อตัวมอมแมมด้วยขี้โคลนเดินแบกจอบหิ้วกระป๋องผ่าเปลวแดดเข้า ไปในทุ่งหญ้ากลางหมู่บ้านจัดสรร หาลุ่มน้ำที่เกือบจะแห้งวิดปลา

เสร็จจากแอ่งนี้แล้วไปต่อแอ่งโน้นเหมือนตัวเองเป็นเจ้าของบ่อปลา

ข้าพเจ้าจอดรถลงไปดู ในกระป๋องเห็นลูกปลากระดี่ ลูกปลาหมอตัวขนาดนิ้วก้อยอยู่เกือบเต็มประป๋องแล้วเดินไปดูในแอ่งน้ำที่แก กำลังวิด เห็นลูกปลาตกคลั่กอยู่ในโคลนที่น้ำเกือบแห้งแล้วเป็นจำนวนมาก

“เอาไปทำอะไรกินล่ะลุง ตัวยังเล็กอยู่เลย” ข้าพเจ้ากระเซ้าเล่น
“เอาไปปล่อยในคลองใหญ่ฝั่งโน้น มันกำลังจะตายอยู่แล้วผมกินไม่ลงหรอก” แกพูดด้วยสีหน้าจริงจัง แล้วเดินหิ้วกระป๋องเอาลูกปลาตกคลั่กจากฝั่งนี้ ไปปล่อยเที่ยวแล้วเที่ยวเล่า

เลยทราบอีกต่อไปว่าลุงคนนี้มีชื่อว่า “เสงี่ยม” นามสกุล “เหมือนบุญ” เพิ่งปลดเกษียณมาจากวิทยาลัยเพาะช่าง

เป็นภาพที่แม้ไม่ได้เห็นด้วยตา แต่รู้สึกดีจริง ๆและก็รู้สึกว่านี่มันเป็นเรื่องของคนอายุ ๖๐ ที่กำลังแสดงธรรมชาติของฤดูแล้งที่เริ่มชอุ่มด้วยน้ำใจอิ่มบุญ

 

———————————————————————–
งานเขียนของคุณอาอำพล เจน  … จากหนังสือแปลก ฉบับที่ 634
วันที่ 19 เมษายน 2531
————————————————————————
แชร์ :

ความคิดเห็น

** โปรดแสดงความคิดเห็นอย่างมีวิจารณญาน